กองทุนหมู่บ้าน เตรียมใช้ระบบชารีอะห์

241

มุสลิมเฮ! กองทุนหมู่บ้าน เตรียมนำระบบชารีอะห์ ใช้บริหารกองทุน คาดสิ้นปีจะประกาศใช้ได้ สำนักจุฬาฯ ส่งตัวแทนร่วมพิจารณา
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  เปิดเผยว่า ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เข้าพบนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เพื่อหารือถึงการบริหารกองทุนหมู่บ้าน โดยใช้หลักการอิสลาม หรือชารีอะห์ ในพื้นที่ของมุสลิม โดยจุฬามนตรี ได้มอบให้ตัวแทน คือ นายประสาน ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำตัวจุฬาราชมนตรี มาร่วมพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการให้กองทุนหมู่บ้านใช้หลักชารีอะห์บริหารได้ประมาณสิ้นปี 2558 แต่ถ้าพิจารณาเร็วอาจจะเสร็จก่อนกำหนด

ทั้งนี้ กองทุนหมู่บ้านมีจำนวนกว่า 70,000 กองทุน เป็นกองทุนของมุสลิมประมาณ 1,900 กองทุน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านที่เป็นมุสลิมใช้หลักชารีอะห์ในการบริหารกองทุนอยู่แล้ว โดยอนุโลม ประมาณ 1,500 กองทุน ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้เลือกในการบริหารกองทุน ซึ่งหลังจากมีการพิจารณากำหนดกฎเกณฑ์การบริหารกองทุนแบบชารีอะห์แล้ว กองทุนหมู่บ้านเหล่านี้ก็จะสามารถใช้รูปแบบการบริหารได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในการกำหนดกฎระเบียบกองทุนหมู่บ้านตามหลักชารีอะห์ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะกฎหมายได้เปิดกว้างไว้แล้ว เพียงแต่นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานก็สามารถบังคับใช้ได้เลย”

ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกล่าวและว่าส่วนพื้นที่ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่อยู่ร่วมกันระหว่างไทยพุทธและมุสลิมก็อยู่ที่การพิจารณาของชาวบ้านว่าจะเลือกรูปแบบใดในการบริหาร

นายนทีกล่าวว่า กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ในจำนวน 70,000 กว่าแห่งนี้ มีสถานะเป็นกองทุนที่ดี ระดับ A-B ประมาณ 80% และระดับ C-D ซึ่งจะต้องปรับปรุงประมาณ 20% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งในระดับ C-D ให้กองทุนไปดำเนินการปรับปรุงการบริหารให้มีประสิทธิภาพซึ่งจะเกี่ยวโยงกับการกระจายงบประมาณ 60,000 ล้านบาท ตามนโยบายของรัฐบาลที่อัดฉีดเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้สมาชิกไปกู้ยืมเพื่อการลงทุน  โดยกองทุนในระดับ A-B จะได้รับการจัดสรรก่อน ส่วนระดับ C-D  จะต้องไปปรับปรุงการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพก่อน ซึ่งกองทุนที่อยู่ในระดับ C-D ส่วนใหญ่เป็นกองทุนในเมือง กองทุนในหมู่บ้านไม่มีปัญหาเรื่องการบริหารมากนัก อาจเป็นเพราะกองทุนใช้ระบบการค้ำประกัน คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็รู้จักกัน จึงไม่มีปัญหาการไม่จ่ายคืนหนี้

“งบประมาณ 60,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับหมู่บ้าน มีการพิจารณามาตั้งแต่ต้นปี 2558 แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ในขณะนั้นไม่เห็นชอบให้ใช้รูปแบบปลอดดอกเบี้ย โดยรัฐเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ย เพราะมองว่าเป็นประชานิยม แต่เมื่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาเป็นรองนายกฯ ได้ตัดสินใจอนุมัติโครงการทันที คิดว่าจะช่วยกระจายในระดับหมู่บ้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินหมุนเวียนได้ในระดับหนึ่ง”

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนกันยายน 2558