BAGUS ธุรกิจเพื่อสังคม เพิ่มความหลากหลายทางอาหารฮาลาลแก่มุสลิมชายแดนใต้

ร้านบากุส ณ หอนาฬิกา จ.ปัตตานี ดูเผินๆ หลายคนอาจคิดว่า นี่คือร้าน KFC แต่ไม่ใช่ นี่คือไก่ทอด บากุส (BAGUS) แห่งปัตตานี เป็นร้านไก่ทอดและอาหารฝรั่งฮาลาล ซึ่งเปิดมากว่า 4 ปีแล้ว เป็นร้านไก่ทอดชื่อดังที่ทำให้คนจากนราธิวาสและยะลา ถึงขั้นมาขับรถมาปัตตานีเพื่อมากินไก่บากุส

ร้านบากุส ดำเนินกิจการโดยสองสามีภรรยา มูฮาหมัด ดูมีแด และ โรฮาณีย์ ปูเต๊ะ ชาวปัตตานี ทั้งสองคนไม่ได้มีภูมิหลังเกี่ยวกับการทำอาหารเลย มูฮาหมัดเป็นอดีตพนักงานธนาคารและเคยทำงานที่กรุงเทพมหานครกว่า 8 ปี ส่วนโรฮาณีย์เป็นอาจารย์สอนภาษามลายู ที่ ม.อ.ปัตตานี และเรียนจบปริญญาโทที่มาเลเซียในช่วงที่มูฮำหมัดทำงานธนาคารเขาใช้เวลาว่างไปเรียนทำไก่ทอดและเปิดร้านขายไก่ทอดแถวหลัง มอ.ปัตตานี ซึ่งเป็นทำเลที่ไม่ค่อยดีจึงเปิดได้ 7–8 เดือนก็ปิด ต่อมาเมื่อทั้งคู่แต่งงานกัน โรฮาณีย์เห็นว่าอุปกรณ์ทอดไก่ยังอยู่ จึงชักชวนสามีเปิดร้านอีกครั้งใกล้ๆ หอนาฬิกาปัตตานี เพราะในสามจังหวัดยังไม่มีร้านไก่ทอดแบบ KFC ที่ฮาลาลทั้งคู่ไม่ได้เปิดร้านไก่ทอดเพื่อผลกำไร แต่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคมมุสลิม

“มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อเราตายไป เราจะโดนพระเจ้าสอบถาม เราจะตอบได้ว่า เราได้ทำเพื่อสังคมแล้ว” มูฮำหมัดกล่าวร้านบากุสไม่ได้มีแต่ไก่ทอดแบบต่างๆ อย่างเดียวแต่ยังมีอาหารฝรั่งหลากหลายอย่าง เช่น สเต๊ก สปาเก๊ตตี้ อีกด้วยต่อมาทั้งคู่ได้เซ้งตึกสามชั้นเปิดเป็นร้านในปัจจุบัน เนื่องจากร้านเดิมมีลูกค้าจำนวนมากจนที่นั่งไม่พอโรฮาณีย์บอกว่า ตอนนี้ร้านขายดีมาก และยิ่งขายดีในช่วงเทศกาล เช่น ก่อนเดือนรอมฎอน ช่วงปีใหม่ และวันเด็ก ทำให้พนักงานกว่า 30 คนต้องทำงานอย่างหนัก เพราะลูกค้าแน่นจนต้องรอคิวมากกว่าสิบคิว และขายไก่ได้ถึงเกือบ 280 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนวันธรรมดาก็ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวันผู้เขียนได้ลองชิมไก่ทอดและไก่ป๊อปสไปซี่ ความกรอบและนุ่ม รวมทั้งรสชาดดีทีเดียว ไม่แปลกใจว่าทำไมร้านจึงได้รับความนิยมมากเช่นนี้

จุดที่ทำให้ร้านบากุสได้รับความนิยม เพราะความไว้วางใจในกระบวนการทำอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด และการปรับความสากลให้เป็นท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

“เราพยายามโชว์ความเป็นท้องถิ่น เขียนชื่อร้านด้วยอักษรยาวีควบคู่กับภาษาอังกฤษ ทำให้ลูกค้าคนมลายูรู้สึกคุ้นเคย รู้สึกเป็นร้านของเขาเอง” โรฮาณีย์กล่าวโรฮาณีย์บอกว่ามีคนมาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ แต่ปฏิเสธ เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างทั่วถึง

“เรายังไม่ขายแฟรนชายส์ไก่บากุส เพราะเรายึดหลักอมานะห์ในศาสนาอิสลาม เพราะถ้าเราขายแฟรนชายส์ไปแล้ว เราก็ต้องดูแลผู้ที่ซื้อแฟรนชายส์อย่างดีที่สุด ถ้าดูแลไม่ดีก็จะผิดหลักการข้อนี้ ก็จะเป็นบาป” อาจารย์ มอ.ปัตตานี วัย 30 ปีกล่าว ส่วน

มูฮาหมัดบอกว่า “ผมมองการทำร้านอาหารเป็นงานศิลปะ เราไม่ขายแฟรนชายส์ เพราะเราไม่ได้คิดแบบนักธุรกิจ” อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทั้งคู่จะไม่ขยายธุรกิจ แต่แทนที่จะเปิดสาขาร้านไก่ทอด ทั้งคู่เลือกทำอะไรที่แปลกแหวกแนวสำหรับวงการอาหารฮาลาลกว่านั้น นั่นคือ การทำซูชิฮาลาล

“การทำร้านอาหารของเรา คือภารกิจในการเพิ่มทางเลือกการกินให้คนมุสลิม เราทำร้านไก่ทอดแล้วก็ไปทำร้านอย่างอื่นที่สังคมมุสลิมยังขาดอยู่” มูฮาหมัดบอกกับผู้เขียนสำหรับร้านซูชิ ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นแต่ฮาลาลของทั้งคู่นั้น ได้เปิดไปแล้วที่ห้างเทสโก้โลตัส อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ใช้ชื่อร้านว่า บากุชิ (Bagushi) ก็ได้รับการตอบรับดีมากเช่นกัน

มูฮาหมัดบอกว่า เขามองหาไอเดียในการทำร้านอาหารเพื่อชาวมุสลิมสามจังหวัดอยู่ตลอดเวลา ทั้งคู่เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อไปดูต้นแบบร้านอาหารยอดนิยมตามห้างสรรพสินค้า เช่น พิซซ่าฮัท สตาร์บัค ชาบูชิ ยาโยอิ ซิสเลอร์ แต่ร้านเหล่านี้ไม่ฮาลาล จึงสั่งเครื่องดื่มเท่านั้น แล้วไปลองหาชิมดูที่มาเลเซีย

“ตลาดอาหารฮาลาลนั้นใหญ่มหาศาล แต่มีร้านอาหารฮาลาลน้อยมาก คนมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ปลายน้ำของตลาด คือ เป็นคนเปิดร้านอาหาร ส่วนต้นน้ำคือวัตถุดิบกลางน้ำคือการทำเครื่องปรุงรสอาหาร” ด้วยเหตุนี้เขาจึงมองหาทางทำแบรนด์วัตถุดิบและเครื่องปรุงรสฮาลาลด้วย เช่นซอสอาหารญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเอาไปทำอาหารฮาลาลได้อย่างสะดวกและสบายใจ

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2558