สัมผัสร้านกาแฟอายุ 100 ปีที่แบกแดด อิรัค แหล่งรวมปัญญาชน

175

แบกแดด – ร้านกาแฟชาบันดาร์ ตั้งอยู่ใจกลางร้านหนังสือในกรุงแบกแดด คอกาแฟขาประจำของร้านนี้ นั่งจิบกาแฟดูความสับสนวุ่นวายในประวัติศาสตร์ของอิรัก ผ่านมาเป็นเวลาถึง 100 ปี

นับตั้งแต่เปิดร้านเมื่อ 100 ปีที่แล้ว สถานที่นี้เป็นที่ชุมนุมของผู้มีสติปัญญาสูง นักกวี และนักการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยมานั่งบนเก้าอี้ไม้ริมข้างฝาที่แขวนรูปภาพเป็นแถวๆ

อับเดล ฟัตตะฮ์ อัล-โนอีมี วัย 77 ปี กล่าวว่า เขามานั่งที่นี่ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึงบ่าย 2 – 3 ซึ่งคนเริ่มจะกลับออกไปกันแล้ว

นับตั้งแต่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ จนได้รับเอกราช ชาบันดาร์ ยืนยงอยู่ผ่านการเกิดใหม่ของประเทศ การโค่นราชวงศ์ หลายสิบปีภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซน และช่วงที่ประเทศต้องหดหู่จากการยึดครองของทหารสหรัฐ ฯ และตามมาด้วยการจลาจลนองเลือด ความผันแปรและโศกนาฏกรรมล้วนทิ้งรอยแผลไว้ในร้านกาแฟแห่งนี้

ในความขัดแย้งต่อสู้ระหว่างความเชื่อ เกิดเหตุคาร์บอมบ์ขึ้นในปี 2007 บนถนนอัล-มุตานับบี ซึ่งร้านกาแฟนี้ตั้งอยู่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 คน ในจำนวนนี้คือ ลูกชาย 4 คนและหลานชาย 1 คน ของ มุฮัมมัด อัล-ฆอชาลี เจ้าของร้านกาแฟชาบันดาร์ แห่งนี้ แต่ร้านก็ยังคงเปิดอยู่ต่อไปท่ามกลางเสียงคนถ้วยชากุ๊งกิ๊ง เสียงฟองน้ำในขวดบาระกู่ผุดพราย และเสียงพูดคุยฮึมฮัมอย่างเช่นที่เคยเป็นมา

สถานที่นี้เริ่มเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟในปี 1917 เดิมอาคารก่ออิฐถือปูนแห่งนี้เคยเป็นสถาบันในท้องถิ่น เป็นที่ตั้งเครื่องพิมพ์ของพ่อค้า ชื่อ อับเดล มาญิด อัล-ชาบันดาร์ ซึ่งชื่อของเขามาจากภาษาตุรกี ที่แปลว่า “นายวาณิชผู้ยิ่งใหญ่”

สถานที่นี้เปลี่ยนมาเป็นของ ฆอชาลี ในปี 1963 และ ตัดสินใจที่จะนิยามร้านนี้ให้ชัดเจน เขาสั่งห้ามเล่นการพนันทุกชนิดรวมทั้งโดมิโน่ ในร้านกาแฟแห่งนี้ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะให้ร้านกาแฟแห่งนี้เป็นที่รวมของผู้คนที่รุ่มรวยวัฒนธรรม ซึ่งความมุ่งมั่นของชายเคราขาวผู้นี้ก็ได้เป็นความจริง

ภาพถ่ายขาว-ดำที่เรียงเป็นแถวบนผนังด้านหนึ่ง ให้ภาพรวมของประวัติศาสตร์ของกรุงแบกแดด และประเทศอิรัก โดยอาศัยภาพของบุคคลชั้นนำ และคนอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาท่ามกลางความสับสน สมุดปกทอง บรรจุลายเซ็นของนักการทูตต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่เคยมาเยือน

ความแตกต่างหลากหลายของใบหน้าในภาพถ่ายสะท้อนถึงสภาพในปัจจุบัน ที่ผู้คนแตกต่างหลากหลายได้เดินทางมาเยือนที่นี่อย่างแน่นขนัดทุกเช้า ชาบันดาร์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะศาสนาใด วัฒนธรรมใด หรือสังคมส่วนใด เพราะทุกๆ คนได้รับการต้อนรับที่นี่ ชาบันดาร์เป็นเจ้าของสำนักคิดของตัวเอง เพราะไม่ว่าสังคมในอิรักจะแตกแยกอย่างไร ทุกคนที่นี่จะเคารพความคิดเห็นของคนอื่นเสมอ

cr.tangnamnews

http://www.middle-east-online.com/english/?id=86098

http://www.middle-east-online.com