รำลึก 42 ปี 6 ตุลา’เหตุวิปโยคคนไทยฆ่ากันเอง’เผยมีนศ.มุสลิม’อิราเฮ็ม ซาตา’ ถูกฆ่าด้วย

601

ธรรมศาสตร์ จัดงานรำลึก 42 ปี 6 ตุลาคม เหตุการณ์ที่มีการปลุกระดมให้คนไทยฆ่ากันเอง จนบาดเจ็บล้มตาย และหลบหนีเข้าไปจำนวนมาก

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2561 มีการจัดกิจกรรม ครอบรอบ 42 ปี 6 ตุลาคม บริเวณสวนประวัติศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยมีรองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หรือที่เรียกกันว่า “วันล้อมปราบประชาชน, วันฆ่านกพิราบ, 6ตุลาคมมหาโหด” เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐและลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มมวลชนที่ถูกปลุกระดม ได้ไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นที่ชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านการกลับเข้าประเทศของ จอมพลถนอม กิตติขจร ในเหตุการณ์นี้ตำรวจตระเวนชายแดนนำโดย ค่ายนเรศวรจากหัวหิน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ และกลุ่มคนที่ตั้งโดยงบ กอ.รมน. คือ กลุ่มนวพล และ กลุ่มกระทิงแดง ได้ใช้กำลังอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก

จอมพลถนอม ได้ออกนอกประเทศ จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจะบวชเณรกลับมา ท่ามกลางการคัดค้านของนักศึกษา โดยจอมพลประภาส จารุเสถียร กลับเข้าประเทศในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2519 และ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 หลังจากที่ทั้งสองได้หลบหนีออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ โดยก่อนหน้านี้ได้ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคชาติไทย ส่วนขบวนการนักศึกษาและประชาธิปไตยก็กำลังเบ่งบานและเข้มข้น โดยมีขบวนการมวลชนฝ่ายขวาใช้ความรุนแรงก่อกวนและสังหารผู้นำนักศึกษาและกรรมกรชาวนา

จวบเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม ซึ่งได้แวะที่สิงคโปร์ เพื่อบวชเป็นสามเณรที่วัดไทยในสิงคโปร์ และได้รับอนุญาตให้เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในประเทศไทย โดยอ้างว่าจะเข้ามาดูใจบิดา (ก่อนหน้านี้จอมพลประภาสเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม แต่ถูกต่อต้านจนต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอีก) นักศึกษาได้รวมตัวกันประท้วงการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม โดยที่รัฐบาลเห็นชอบ ตามคำกล่าวอ้างของม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นที่ว่า “นักศึกษาที่จะทำการชุมนุมก็มีสิทธิทำได้ตามรัฐธรรมนูญ”

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การประท้วงขับไล่จอมพลถนอมเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2519 ขณะนั้นได้มีเหตุการณ์ฆ่าแขวนคอกรรมกรที่ร่วมขับไล่จอมพลถนอมที่นครปฐม และนักศึกษาได้จัดแสดงละครสะท้อนเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม

ช่วงเช้าของวันที่ 5 ตุลาคม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ ดาวสยาม ได้ตีพิมพ์ภาพละครแขวนคอของนักศึกษา โดยระบุว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (เนื่องจากบุคคลผู้ถูกแขวนคอในภาพ มีหน้าละม้ายองค์รัชทายาท) มีการชุมนุมกลุ่มพลังฝ่ายขวาทั่วกรุงเทพฯ และ พ.อ.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แห่งชมรมวิทยุเสรี ได้กระจายเสียงปลุกเร้ากลุ่มพลังและนัดหมายเวลาที่จะเคลื่อนกำลัง

ในเวลาเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กำลังตำรวจและประชาชนในสังกัดกลุ่มพลังฝ่ายขวา อาทิ กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง ปิดล้อมและบุกเข้าสลายม็อบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้วิธีการอันโหดเหี้ยม ภาพข่าวการแขวนคอนักศึกษากับต้นมะขามที่สนามหลวง ตอกอก เผาทั้งเป็น และการระดมยิง นักศึกษาที่ไม่มีอาวุธนอกจากปืนพกของหน่วยรักษาความปลอดภัยไม่กี่กระบอกได้แพร่หลายออกไปทั่วโลก นักศึกษาและผู้นำกรรมกรจำนวนมากหลบหนีการปราบปราม “เข้าป่า” เพื่อรวมตัวกับพรรค คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ผลจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นักศึกษา ๓,๐๘๔ คน ถูกจับกุม ผู้นำนักศึกษา ๑๙ คนถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร รัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ถูกปฏิวัติและแทนที่ด้วยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน แต่งตั้งรัฐบาล “หอย” ที่มี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

ระหว่างนั้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศไทย ถูกคำสั่งคณะปฏิรูป ฯ ห้ามเผยแพร่เป็นระยะเวลา 3 วัน (6 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516), ดร.สรรพสิริ วิริยศิริ ผู้อำนวยการช่อง 9 อสมท.ถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังจากแพร่ภาพเหตุการณ์ออกสู่สาธารณะ, ในปีพ.ศ. 2542 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายทหารพิเศษรักษาพระองค์,

สมาชิกกลุ่มกระทิงแดง นวพล และตำรวจ ที่เข้าปราบปรามทั้งหมดได้รับพระราชทานอภัยโทษ, นายสมัคร สุนทรเวช ผู้จัดรายการปลุกระดมสถานีวิทยุยานเกราะ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร, ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ จนกระทั่งเสียชีวิตในต่างแดน, แกนนำนักศึกษาที่รอดตายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถูกจำคุกเป็นเวลา 3 ปี, ต้องใช้เวลาเกือบ 30 ปีต่อมา จึงจะสามารถต่อรองขอเช่าที่ดินบริเวณใกล้เคียงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อสร้างอนุสาวรีย์เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ได้สำเร็จ

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ได้นำมาสู้ความแตกแยกของคนไทยอย่างรุนแรง การใช้อำนาจไม่เป็นธรรมแผ่นไปทั่วทุกหย่อมหญ้าของประเทศ มีนักศึกษาหลายพันคนต้องหลบหนีเข้าไป เพื่อหนีภัยจากอำนาจรัฐ และจากความขัดแย้ง เพื่อร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

‘ถ้าเราไม่เรียนรู้ จากประวัติศาสตร์ ก็ไม่มีทางที่เรา จะสร้างอนาคตที่ดีได้ ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในพิธี 42 ปี 6 ตุลาคม

นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า ร่วมรำลึก 6 ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ วันประวัติศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาประชาชนผู้รักประชาธิปไตยถูกกวาดล้าง เข่นฆ่า จับกุม โดยกลุ่มอำนาจนิยมสมัยนั้น และหนึ่งในหลายสิบคนที่ถูกเข่นฆ่ามีนายอิราเฮ็ม ซาตา นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสมาชิกนักศึกษากลุ่ม “สลาตัน” เป็นเหยื่อด้วยผู้หนึ่ง