ปาตานีที่รัก : เมื่อหญิงสาวแปลกหน้า ไปใช้ชีวิตใน 3 จังหวัด สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ…

 

อยากไปปัตตานีมานานแล้ว แต่ความกลัวมันเบรคไว้ เดินๆอยู่จะระเบิดไหม ? นั่งๆกินข้าวอยู่ ต้องหมอบหลบลูกกระสุนที่พุ่งมาแบบไม่ตั้งตัวไหม ?

บ้าแล้ว สงสัยดูหนังมาก

เพราะนั่งฟังข่าวด้านเดียวกับข่าวความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกตอกย้ำมาเป็นเวลานานๆ ทำให้จิตฉันสร้างความคิดในแง่ลบไปต่างๆนาๆ แต่ความขัดแย้งในตัวเองก็ถามแทรกขึ้นเช่นกันว่า ‘ถ้ามันจะอันตรายได้ขนาดนั้น คนพื้นที่เขาคงอพยพออกไปเกลี้ยงเมืองแล้วละ’ จนวันหนึ่ง ฉันได้ยินเรื่องของ ‘น่าน’ นักเรียนนอกหน้าตาดี ตระกูลดี การศึกษาดี พูดจาดี นิสัยดี เรียกว่าเพอร์เฟ็กต์ไปเสียทุกอย่างเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะพึงมี แต่กลับเลือกจะฝังตัวใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนของสามจังหวัดปลายด้ามขวานสยามไทยที่คนในพื้นที่เรียกกันว่า ‘ปาตานี’ เพื่อทำงานวิจัย แล้วไม่ได้อยู่แค่แป๊บๆ นะ  มันคือการเข้าๆออกๆปาตานีในช่วงตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา แต่ละครั้งก็อยู่ยาวเป็นอาทิตย์ บางช่วงก็ใช้ชีวิตที่นั่นเลย โดยปัจจุบัน น่านกำลังทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่ง ณ วันที่บทความนี้ได้ถูกปล่อยออกไป น่านก็จะเพิ่งรู้ตัวเช่นกันว่าที่ฉันเดินทางไปถึงปัตตานีทั้งหมดนั้น ก็เพื่อจะเขียนเรื่องของเธอ

น่านโตมาในบ้านที่มีทั้งพ่อและแม่อยู่ในสายการเมือง ตั้งแต่เล็ก พ่อกับแม่จะตุเลงๆพาน่านไปลงพื้นที่ตามต่างจังหวัดด้วย น่านนั่งเปิบข้าวเหนียวบนเสื่อกับชาวบ้านอุตรดิตถ์ข้างเวทีหาเสียงมาตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก จนโตมาหลังเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหิดล เธอก็ไปเรียนที่อังกฤษ และจบปริญญาโทในคณะ Development Studies, POLIS ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และปัจจุบันกำลังต่อเอกในด้านเดียวกัน

วันที่อาจารย์ให้เลือกหัวข้อวิจัย น่านมีความสนใจในอัตลักษณ์ ความรู้สึกร่วม และพลังของความทรงจำ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และการเสพข่าวจากสื่อเมนสตรีมที่มีอยู่ ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่แท้จริงในเรื่องนี้ได้ มันเลยทำให้น่านยิ่งอยากรู้และหาคำตอบด้วยตัวเอง จนสามปีก่อน น่านเริ่มคลำทางเพื่อทำความรู้จักปัตตานีอย่างลึกซึ้งจากการมีเพื่อนเป็นคนพื้นที่และพูดคุยกับกลุ่มคนในภาคประชาสังคมผ่านอินเตอร์เนท จนวันที่น่านเดินทางเข้ามาในปัตตานีเป็นวันแรก มันเป็นวันของการรวมตัวของกลุ่มคนภาคประชาสังคมจากทุกองค์กร ซึ่งเป็นโอกาสดี (บวกด้วยดวง) ที่ทำให้น่านได้สร้างเครือข่ายจากจุดเริ่มต้นที่แทบไม่รู้จักใครเลย ซึ่งต้องบอกก่อนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนในพื้นที่จะเปิดใจรับคนแปลกหน้าที่เดินดุ่มๆเข้ามาตั้งแต่แรกพบ แต่ก็คงมีความพิเศษบางอย่างในตัวเธอที่ทำน่านได้รับโอกาสนั้น จนพออยู่ไปอยู่ไป น่านมีโอกาสได้ลงพื้นที่จนชำนาญ  มันทำให้หัวใจหลักในงานวิจัยของน่านค่อยๆเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จนวันนี้ สามปีแล้ว ถ้าคุณเห็นเธอเดินอยู่กลางถนนในปัตตานี คุณจะแยกไม่ออกเลยว่าผู้หญิงคนนี้คือคนกรุงเทพจริงๆเหรอ ทั้งไม่ว่าจะภาษาหรือกริยาท่าทางของเธอ มันเหมือนว่าเธอจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกชุมชนในปาตานีไปแล้วจริงๆ

ในวันที่งานวิจัยของน่านเริ่มชัดเจนขึ้น เธอจะมาปาตานีให้น้อยลงก็ได้ แต่คนเราถ้ารักในสิ่งที่ทำ ก็ต้องขลุกอยู่กับมัน เป็นเนื้อเดียวกับมัน โดยเฉพาะการทำงานกับชุมชน ชีวิตมันมีเรื่องใหม่ให้เรียนรู้ไม่สิ้นสุด น่านบอกกว่า “จริงๆ น่านจะลงมาปาตานีให้น้อยลงก็ได้ แต่การอยู่กรุเทพที่ทุกอย่างมันคือแสงสี คือการต้องดีลกับคนในเมือง มันช่างแตกต่าง และเหมือนจะเป็นคนละชีวิตกับที่นี่เลย  การใช้ชีวิตที่นี่ มันทำให้น่านได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆทุกวัน การได้ทำอะไรร่วมกับคนในพื้นที่ มันช่วยเติมเต็มความหมายของการมีชีวิตอยู่ให้กับน่านมากขึ้น กว่าการใช้ชีวิตอยู่ในบริบทแบบเมือง”

ขึ้นชื่อว่าพื้นที่ไม่สงบแล้ว ใครเป็นพ่อแม่ก็คงนึกหวั่น ถ้าจะต้องปล่อยลูกสาวให้ไปใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลานานๆ แต่ด้วยงานวิจัยกับหัวข้อที่น่านเลือก พ่อแม่เลยต้องจำยอม โดยทีแรกก็คิดว่าลูกสาวจะไปแวบๆ แต่ทำไปทำมา กลายเป็นว่าน่านขึ้นๆลงๆกรุงเทพ-ปาตานี มาสามปีแล้ว จนตอนหลัง พ่อถึงกับต้องให้โควต้าเป็นครั้งๆไป ขณะที่ในความเป็นผู้หญิงเด็ดเดี่ยวของน่าน ก็มักจะมีคำแม่คอยเตือนเธออยู่ข้างหูเสมอ ‘อย่ารู้สึกไม่กลัว เพราะมันอาจจะเป็นภัย’

“น่านอยู่กับคนพื้นที่ ขึ้นเขาลงห้วยอยู่ในปาตานีมาจะสามปีแล้ว น่านไม่เคยรู้สึกกลัวคนในพื้นที่เลย เพราะสามจังหวัดเป็นที่แรกในประเทศไทยที่น่านได้ออกมาใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวจริงๆ จนน่านผูกพันเหมือนเป็นบ้าน”

น่านบอกฉัน ขณะรถยนต์ส่วนตัวที่น่านขอยืมจากเพื่อนเพื่อมารับฉัน เคลื่อนผ่านด่านตรวจที่มีทหารชายแดนยืนถือปืนและอาวุธครบ  ตั้งแต่นั่งรถจากสนามบินนราธิวาสมาจนมาถึงปัตตานีนี่ ฉันลืมนับไปว่าตกลงมีกี่ด่าน มันเยอะมาก !

‘ความไว้ใจอย่างวางใจ’ เป็นเรื่องสำคัญในความสัมพันธ์มนุษย์ และการที่จะมีผู้หญิงต่างถิ่นสักคนเดินเข้ามาในพื้นที่ไม่สงบ เพื่อมีส่วนร่วมในภาคประชาสังคมของปาตานีนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในช่วงอาทิตย์กว่าๆที่ปาตานี ฉันมีโอกาสไปไหนมาไหนกับน่าน รวมไปถึงขึ้นรถบัสแดงเพื่อไปยะลา ฉันรู้สึกถึงความปลอดภัย ที่นี่ไม่ได้น่ากลัวไปเสียหมดอย่างที่ฉันเห็นในข่าว แต่ขณะเดียวกัน จะปลอดภัยไม่ปลอดภัย ก็ยังขึ้นอยู่กับว่า เราเอาตัวเองไปยืนอยู่ตรงไหนและเมื่อไหร่

“ทำไมคนที่นี่ถึงไว้ใจน่าน ทั้งๆที่น่านเป็นคนต่างถิ่น” ฉันถามน่าน

“ตอนแรก น่านก็ไม่เคยคิดว่าใครจะมาไว้ใจน่านหรอก แค่ในฐานะที่เราเป็นคนนอกเข้ามา เราก็พยายามจะเข้าใจและศึกษาบริบทสังคมเขาให้มากที่สุด ซื่อสัตย์ในงานวิจัยของตัวเอง ตรงไปตรงมา ซึ่งการวิจัยหัวข้อเรื่องการเมืองของวาทกรรมเชิงอัตลักษณ์ของความเป็นคนมลายูปาตานี ในแบบที่น่านทำอยู่ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยไทย อาจารย์หลายๆท่านก็บอกว่าเขาคงไม่ปล่อยให้เราทำแน่ เพราะมันเป็นเรื่องที่ sensitive มาก”

ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้หญิงคนนี้ ฉันเชื่อว่าอนาคต เธอมีทางเลือกในชีวิตได้อีกมากมาย  แต่น่านบอกฉันว่า งานวิจัยเสร็จเมื่อไหร่ เธอก็คงจะวนเวียนกลับมาที่ปาตานีนี่ละ โดยเฉพาะตอนนี้เธอเริ่มเล็งหาที่ดินผืนเล็กๆเพื่อสร้างบ้านในฝันของเธอในทางผ่านระหว่างอำเภอปานาเระกับสายบุรีแล้ว บ้านที่เป็นแค่บ้านไม้ขนาดเล็กที่สุด โอบกอดไว้ด้วยธรรมชาติให้แน่นที่สุด

มนุษย์เรียกบ้านว่าเป็นที่ปลอดภัย ซึ่งหากการที่น่านจะเลือกปาตานีให้เป็นบ้านอีกหลังของเธอ นั่นก็อาจแปลได้ว่าไม่ว่ากระแสข่าวความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกประโคมซ้ำอีกสักกี่ร้อยกี่พันภาพจนคนภายนอกเผลอเชื่อไปเสียหมดในด้านเดียวของเหรียญที่เห็น แต่สำหรับน่าน เธอเชื่อในมิติที่เธอได้เข้ามาสัมผัสจากการใช้ชีวิตอยู่  ความงดงามอ่อนโยนในจิตใจของชาวบ้านพื้นถิ่นที่มีศาสนาอิสลามเป็นหลักในการดำเนินชีวิต มันทำให้เธอรู้สึกศรัทธาและปลอดภัยข้างในใจ

ที่หาดแเฆแฆ เมฆมาแต่ไกลแล้ว จากที่ฉันกับน่านพากันขึ้นปีนป่ายตามโขดหิน  เราเริ่มต้องพาตัวเองถอยกลับ และเดินไปยังรถที่จอดอยู่ไกลนู่นให้เร็วที่สุด  ฝนมาเร็วและเม็ดใหญ่มากกว่าที่คิด น่านวิ่งไปยิ้มไป ฉันเห็นใจที่เป็นอิสระของเธอ

ปาตานีสายัง 

365 love note

: ในอดีตมีความขัดแย้งว่าอะไรคือ ‘ปาตานี’ จนสี่ห้าปีที่ผ่านมา คำว่าปาตานีถูกยอมรับในการใช้เรียกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอสงขลา

: ถามว่าปาตานีน่ากลัวไหม ? สำหรับฉันที่เดินทางคนเดียวกับการไปนั่งร้านชาตอนดึก เดินกินข้าวตลาดเช้า เรียกตุ๊กๆให้พาออกไปดูชาวประมงนอกเมือง เดินเนียนๆเข้าไปขอเขาถ่ายรูปในโรงเรียนสอนศาสนา นอนบ้านคนแปลกหน้าซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นและอยู่กับเขาจนจบทริป เหล่านี้ คงบอกคำตอบอะไรคุณได้บ้าง

ขอบคุณ/ที่มา https://365daysstoryteller.com/2017/01/19/lovepatani/

fatonionline