“สมคิด” การันตี ! มีจ่ายเยียวยาห้าพัน ครบทุกกลุ่ม ลั่นเดินหน้า ฟื้นฟู ศก.ชุมชน

72

“สมคิด”ยันมีงบเพียงพอดูแลผู้ลงทะเบียนรับเงิน 5 พันบาททุกกลุ่มอาชีพ พร้อมทบทวนสิทธิ์ เปิดทางนักเรียน นักศึกษาทำงานหารายได้เสริม ต้องพิสูจน์สถานที่ทำงานจริง ปัดข้อเสนอนักวิชาการ มธ.แจกทุกคนอายุ 18 ปีขึ้นไป เผยถ้าทำขนาดนั้นต้องกู้ยันตาย

วันที่16 เม.ย.63 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ภาคเอกชนรายใหญ่ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโค-19 โดยขณะนี้การดูแลเยียวยาผ่านการลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท ต้องการช่วยเหลือทุกกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน แต่หากใครไม่ได้รับผลกระทบไม่ควรลงทะเบียน เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจริง ยืนยันมีเงินเพียงพอรองรับผู้เดือดร้อน หลัง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เดือนพ.ค.จะมีเงินเยียวยามาเพิ่มเติมให้เพียงพอครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่มีปัญหา เพื่อนำมาเติมจากการใช้งบกลางฉุกเฉิน ซึ่งจ่ายไปแล้วก้อนแรก 45,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง แม้จะกู้เงินเพิ่ม แต่ภาระหนี้ต่อจีดีพีถือว่าไม่สูงมากนัก ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องกู้เงินมาใช้เยียวยาประเทศ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังแนะนำให้ทุกประเทศที่มีปัญหากู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ทุกประเทศมีระดับหนี้สูงขึ้นทั้งปี 2563-2564 แต่ไทยยังมีฐานะแข็งแกร่งน่าพอใจ จึงมองว่าไทยจะผ่านพ้นปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แน่นอน โดยใช้งบประมาณของรัฐที่มีอยู่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อยอดผู้ป่วยลดลง ทุกอย่างนิ่งพอใจ หลังจากดูแลรายย่อยจากเงิน 5,000 บาท การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และดูแลสถาบันการเงิน ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก จากนั้นจะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

“ในการเยียวยา 5 พันบาท รัฐบาลพยายามดูแลทุกกลุ่ม เช่นแม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้ง เมื่อลงทะเบียนไปแล้วไม่ได้มีสิทธิอุทธรณ์ ส่วนคนที่ไม่ควรจะได้ มีรายได้เพียงพอ ดูแลตัวเองได้ ควรให้สิทธิคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ไปก่อน ถ้ามีรายได้ดีแล้วยังจะเอาไปอีก คงไม่มีรัฐบาลไหนดูแลประชาชนได้ครบขนาดนั้น ดังนั้นต้องให้คนที่ด้อยโอกาสก่อน และจะมีการตรวจสอบสถานะรายได้ ซึ่งในการให้เงินเกษตรกร ถ้าครอบครัวถ้าทำงานอย่างอื่นและได้รับการช่วยเหลือไปแล้วต้องตัดทิ้ง”

เมื่อถามถึงกรณีนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์ให้รัฐยกเลิกเงินเยียวยา 5 พันบาท แล้วเปลี่ยนมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเดือนละ 3 พันต่อคน เป็นเวลา 3 เดือนให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งมีกลไกดูแลอยู่ นายสมคิดกล่าวว่า คงต้องกู้ยันตาย

โดยรัฐบาลเตรียมแผนร่วมกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาคเอกชน แบงก์รัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลแรงงาน ซึ่งเดินทางกลับต่างจังหวัดในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้อยู่ในท้องถิ่น โดยมีแบงก์รัฐ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ ร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ช่วยดูแลด้านการตลาด พัฒนาสินค้า ทั้งออนไลน์ กระจายไปทั่วประเทศ เช่น ปตท. มีปั๊มน้ำมันกระจายไปทั่วประเทศ ธ.ก.ส.จึงหารือกับภาคเอกชนวางแผนจะกระจายสินค้าจากท้องถิ่นทั่วประเทศ จึงต้องให้ ธ.ก.ส.เป็นกลไกชี้นำการผลิตและเติมสินเชื่อ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังกล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยากลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ มีอาชีพค้าขาย แม่ค้า แต่ถูกระบุว่าทำอาชีพเกษตรกร รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาทำงานพิเศษ เพื่อหารายได้ หรือผู้มีปัญหาคุณสมบัติ ขอให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.63 เพื่อให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน คลังจังหวัดลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบการประกอบอาชีพจริง เสริมกับการตรวจสอบจากระบบของธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ทุกคนได้รับเงินช่วยเหลือ ยืนยันว่าจะไม่มีกลุ่มใดที่ได้รับผลกระทบถูกละทิ้ง โดยคำนึงถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนจริง

#สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ #อุตตมา สาวนายน #เงินเยียวา #5พันบาท #โควิด-19