“คำนูณ”สุดทน! ชี้ ม็อบ มธ.ปราศรัย “แรงสุด”เท่าที่เคยเจอ หวั่นซ้ำรอย 6 ต.ค.

334

“คำนูณ” ชี้ การชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต มีเนื้อหารุนแรงที่สุด เท่าที่เคยเห็นมา ข้อเรียกร้องเลยเถิด กินการขับไล่รัฐบาล แนะบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด เสนอเปิดอภิปรายทั่วไปหารือ หาทางออกการเมือง ห่วงเหตุชุมนุมบานปลาย ย้อนรอย 6 ต.ค. 2519

วันที่ 11 ส.ค.63 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้ใช้สิทธิหารือที่ประชุม ก่อนเข้าระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาเกี่ยวกับประเด็นการชุมนุมทางการเมือง 3 ครั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค., 9 ส.ค. และ 10 ส.ค. 63 โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ท่านประธานที่เคารพ…. ขอกราบเรียนหารือกับท่านประธานด้วยความอึดอัด คับข้อง และเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมากในวันนี้ตกอยู่ในสภาวะไม่ต่างจากผม หลังจากได้รับทราบและติดตามการชุมนุมทางการเมือง 3 ครั้ง

3 สิงหาคม – อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

9 สิงหาคม – ประตูท่าแพ เชียงใหม่

10 สิงหาคม – ลานพญานาค ธรรมศาสตร์

และยิ่งอึดอัดคับข้องหนักยิ่งขึ้นเมื่อทราบเป็นเบื้องต้นว่าได้มีประกาศชุมนุมครั้งที่ 4 ในวันพรุ่งนี้

12 สิงหาคม – สวนลุมพินี

เฉพาะการชุมนุมเมื่อวานนี้ 10 สิงหาฯ เป็นการชุมนุมที่มีเนื้อหารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในชีวิต มีข้อเรียกร้องที่แทบไม่เคยมีคนไทยคนไหนเรียกร้องในการชุมนุมสาธารณะมาก่อน มันเลยเถิดเกินการขับไล่รัฐบาล มันเลยเถิดเกินการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมันชวนให้คิดว่าการไม่ยอมรับเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยขอให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับสถานเดียวนั้นเป้าหมายสูงสุดคืออะไร สรุปคือมันเลยเถิดขอบเขตของการต่อสู้ทางการเมืองปกติไปไกล

นอกจากนั้นยังเป็นการชุมนุมที่มีรูปแบบบางช่วงบางตอนนำประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมายาวนานด้วยความเคารพศรัทธาสูงสุดของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศมาล้อเลียนและยังเป็นการร่วมกระทำการของผู้ต้องหา 2 คนที่เพิ่งได้รับการประกันตัวออกมา อันมีลักษณะที่เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังมีการไลฟ์สดมาจากต่างประเทศของผู้หลบหนีคดีท่านหนึ่งที่เป็นฮีโร่ของเยาวชนจำนวนหนึ่ง ผู้หลบหนีคดีท่านนี้เคยกล่าวไว้ในอดีตทำนองว่า ประเทศนี้ต้องลงเอยด้วยความรุนแรงและสงครามกลางเมือง

เกิดคำถามตามมามากมาย

คำถามหนึ่งที่พี่น้องประชาชนถามผ่านผมมาคือ เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ

ทราบความยากอย่างยิ่งในการบริหารจัดการของรัฐ

บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดก็เข้าทาง พยายามใช้การเมืองนำอย่างเดียวก็เข้าทาง
และเพราะทราบความยากยิ่งในการบริหารจัดการเช่นนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องหารือผ่านท่านประธานไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ขอให้ท่านใช้ ‘ตัวช่วย’ ตามระบบการเมืองที่มีอยู่ดำเนินมาตรการทางการเมือง

ด้วยความรู้ความคิดและกำลังสติปัญญาอันจำกัด ผมเห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินมาตรการทางการเมืองด้วยการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยเร็วที่สุด แม้พวกเราสมาชิกทั้ง 2 สภาจะมีความคิดเห็นที่หลากหลายแตกต่างกัน

กระทั่งอาจตรงกันข้ามกันในบางส่วน

แต่เชื่อว่าพวกเราสมาชิกทั้ง 2 สภามีความเห็นร่วมกันประการหนึ่งว่าการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนเกินขอบเขตที่ควรจะเป็นไปไกลมาก ทำให้ข้อเรียกร้องทางการเมืองตามปกติส่วนใหญ่ต้องเสียไป และสุ่มเสี่ยงจะเป็นการจุดชนวนความรุนแรงอย่างถึงที่สุดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อันจะเป็นการสร้างบาดแผลลึกส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญมหาวิกฤตทางเศรษฐกิจโลกรุนแรงระดับ 100 ปีจะเกิดสักครั้งอยู่ขณะนี้ จะยิ่งซ้ำเติมให้ประเทศจมดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งหายนะ

สรุปคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้นไม่พอ ต้องดำเนินมาตรการทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย

รัฐสภาควรจะเป็นเวทีหาทางออกให้บ้านเมือง

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่า ‘หกตุลาภาคสอง’ ขึ้นมาในเร็วๆ นี้

และหากถึงวันนั้น หากรัฐสภายังคงอยู่ หากรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภาตามมาตรา 165 ก็จะเป็นทางเลือกที่ต้องเกิดขึ้น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นหลังเหตุรุนแรงในปี 2552 และ 2553
แล้วไฉนต้องรอถึงวันนั้น….