ศบค. เปิดร่าง ประกาศ “มาตรการฉบับ6” ตรียม เสนอนายกฯลงนาม 4 ม.ค.

61

ศบค. ประกาศ ร่าง มาตรการฉบับ6 เสนอ นายกรัฐมนตรี ลงนามพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ในการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาด เชื้อไวรัส โคโรนา-19 โดยให้เหมาะสม ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละจังหวัดมีที่ความแตกต่างกัน 

วันที่ 3 ม.ค.64 เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ตอนหนึ่งเกี่ยวกับร่างประกาศมาตรการฉบับที่ 6 ของ ศบค. ก่อนที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ลงนามวันพรุ่งนี้ (4 มกราคม 2564) ว่า หลังจาก ศบค.ชุดเล็ก หารือกับกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวานนี้ (2 มกราคม 2564) ก็ได้ทบทวนและปรับแก้ไขในบางมาตรการ เนื่องจากสถานการณ์ในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป

สำหรับร่างประกาศมาตรการฉบับที่ 6 ที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามนั้น มีรายละเอียดทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบด้วย 1.ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการห้ามใช้อาคารและสถานที่ของสถาบันการศึกษาทุกประเภทในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดงทั้งหมด 28 จังหวัด
2.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ “สำหรับการจัดงานแต่งงานนั้น ยอมรับว่าได้เปิดช่องเอาไว้ว่าต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และต้องมีมาตรการตามแนวทางสาธารณสุข โดยได้ปรับเพิ่มรายละเอียด คือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความเหมาะสม”

3.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาสั่งปิดพื้นที่ภายในจังหวัด 4.เรื่องร้านอาหาร ที่ประชุมได้ปรับแก้ร่างใหม่เพื่อให้มีความยืดหยุ่น โดยกำหนดว่า ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดนั้น การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ตามแนวปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น และให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาและกำหนดรูปแบบ รวมถึงการกำกับการดำเนินการตามข้อปฏิบัติ และมาตรการต่างๆเพื่อให้เหมาะสม

“หรือให้เข้าใจง่าย คือ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประกอบกิจการร้านอาหาร เช่น หากมีพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อสูง ก็อาจให้ร้านอาหารในพื้นที่นั้น เป็นลักษณะซื้อกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น โดยที่ยังห้ามการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเช่นเดิม ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ยังเปิดทำการตามเวลาปกติ สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ผอ.ศบค.อีกครั้ง จากนั้นแต่ละพื้นที่จะออกประกาศเฉพาะในแต่ละพื้นที่”

5.มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งปิดหรือเปิดพื้นที่นอกเหนือจากที่กำหนดได้ 6.ไม่ได้ห้ามเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ยังสามารถเดินทางได้ แต่ต้องตรวจคัดกรองถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น แต่ก็ยอมรับว่า มีพบกรณีคนขับรถตู้ติดเชื้อ ทำให้ผู้โดยสารติดเชื้อไปกว่าครึ่งรถ จึงไม่อยากให้เดินทางกันมาก ดังนั้น ต้องนำข้อมูลของแต่ละจังหวัดมาพิจารณา และออกประกาศเป็นรายจังหวัด 7.การทำงาน Work From Home สลับวันเวลา เหลื่อมวันทำงาน และ 8.ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายข้อบังคับการใช้มาตรการป้องกันและยับยั้ง เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่ออนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่บังคับใช้กับสถานที่ต่างได้ตามความเหมาะสม