มท.2 นำศบถ.แถลง อุบัติเหตุ7วันอันตราย เจ็บ3,326 เสียชีวิต392ราย เชียงรายแชมป์ตายมากสุด18ศพ

56

“นิพนธ์” แถลงสรุปยอดอุบัติเหตุ 7วันอันตรายปีใหม่64 เกิดเหตุรวม 3,333 ครั้ง บาดเจ็บ 3,326 คน เสียชีวิต 392 ราย สูงกว่าปีก่อน 19 ราย จ.เชียงราย ครองแชมป์ตายสูงสุด 18 ราย สั่งจังหวัดที่เกิดเหตุถอดบทเรียนไม่ให้สูญเสียซ้ำ พร้อมขอบคุณจนท.ทุกฝ่าย เสียสละ ปฏิบัติงาน สร้างความสุขให้คนไทย

วันที่ 5 ม.ค.64 เวลา 10.00 น. ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานแถลงข่าว สรุปผลการดำเนินงานของ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ว่า ศปถ. ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค.64 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 265 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้บาดเจ็บ 271 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (13 คน)

ส่วนภาพรวม อุบัติเหตุทางถนนสะสมช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.63 – 4 ม.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง โดยลดลงจากปี 2563 ที่มีผู้บาดเจ็บ 3,326 คน เสียชีวิต 392 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 7 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นราธิวาส น่าน แม่ฮ่องสอน ระนอง อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 115 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 18 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 117 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ขับรถเร็ว ร้อยละ 33.60 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 33.06 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59.33 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.54 รถปิคอัพ ร้อยละ 6.19 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 65.77 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.80 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.45

นายนิพนธ์ กล่าวย้ำว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 เปรียบเทียบอุบัติเหตุปี 2563 การเกิดอุบัติเหตุ ลดลง 88 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ลดลง 173 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย สาเหตุหลักยังคงเกิดจากการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และดื่มแล้วขับ รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ซึ่ง ศปถ.ได้ให้จังหวัดถอดบทเรียนและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมทั้งค้นหาปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาคประชาชน ขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนและหมู่บ้าน โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง คือ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย “ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทาง ด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน และเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนต่อไป” รมช.มหาดไทย กล่าว