“บิ๊กป้อม” กำชับ หนักแน่น!! รมต.ทุกคนต้องได้เสียงเท่ากัน

61

อีกไม่กี่ชั่วโมงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับ 9 รัฐมนตรี กำลังจะจบ ด้วยการลงมติไว้วางใจ หรือ ไม่ไว้วางใจ

ก่อนถึงวันรุ่งขึ้น ลงมติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เรียกส.ส.ปิดประตูลามโซ่ห้องประชุม โดยมีแกนนำทุกกลุ่มเข้าร่วม ทั้งๆที่มีเสียงท่วม ผ่านศึกนี้สบายๆ

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ ให้การลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีได้คะแนนเท่ากันทุกคน เพราะต้องการรักษาภาพลักษณ์ของพรรค ไม่ให้เกิดความเสียหายว่า ไม่เป็นเอกภาพ เนื่องจากเป็นพรรคแกนนำพรรครัฐบาล

“ใครมีอะไรสงสัยหรือไม่ให้ถามมา คุยกันให้รู้เรื่องไปเลย และให้โหวตไปตามที่คุยกันไว้ ให้สามัคคีกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าวกับบรรดาส.ส.พลังประชารัฐ ในห้องปิดที่ถูกปิดประตูลามโซ่

สาเหตุที่ พล.อ.ประวิตร ต้องเรียกประชุมแกนนำด่วนขึ้น เนื่องจาก ส.ส.บางส่วนจะลงมติไว้วางใจให้กับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน น้อยที่สุด

จน นายสุชาติ ต้องเข้าไปพบ พล.อ.ประวิตร เพื่อสะท้อนปัญหา และขอความช่วยเหลือ

เพื่อ “ปิดช่อง” ไม่ให้นำผลจากมติไปสู่ “การกดดัน” ให้มีปรับตำแหน่งตนเองอย่างที่เคยเกิดขึ้น กับ ร.อ.ธรรมนัส เมื่อครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในการลงมติ เมื่อครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของสภาฯชุดนี้เมื่อปีที่แล้ว แม้ผลจะปรากฏว่า มติสภาฯเสียงส่วนใหญ่ โหวตไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ กับ 5 รัฐมนตรี ในครม.ตู่ 2/1 ทั้งหมด

เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 49 งดออกเสียง 2

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีคะแนนไว้วางใจ 277 ต่อ 50 เสียง งดออกเสียง 2

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีคะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 54 งดออกเสียง 2

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 54 งดออกเสียง 2

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้คะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 55 งดออกเสียง 2

และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คะแนนไว้วางใจ 269 ต่อ 55 งดออกเสียง 7

แน่นอน ร.อ.ธรรมนัส ได้คะแนนไว้น้อยที่สุด เพราะ 5 ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย นายนิยม วิวรรธนดิษกุล นายภาสกร เงินเจริญกุล นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ นายสุภดิศ อากาศฤกษ์ ที่ลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีคนอื่น กลับงดออกเสียงให้กับ ร.อ.ธรรมนัส

เป็นการงดออกเสียงให้กับ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูก 2 อดีตส.ส.สมัยแรก ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ยังไร้สังกัดใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค จากคดีเงินกู้ 191ล้านบาท อภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนัก

โดยเฉพาะคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี จากการ “ต้องโทษจำคุก” คดีความที่ออสเตรเลียและ “วุฒิการศึกษา”

วันนั้น นอกจาก 5 ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ จะตัดสินใจงดออกเสียงแล้ว ยังปรากฏ กลุ่ม 17 ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายเทพไท เสนพงษ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และ นายพนิช วิกิตเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกมาแถลงข่าวจุดยืนของ 17 ส.ส.ที่ติดใจ ประเด็นที่ ร.อ.ธรรมนัส ถูกอภิปรายด้วย

เป็น 17 ต่อ 24 ส.ส.ที่แพ้เสียงโหวต ในการประชุมพรรค ที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฏฐ์ หัวหน้าพรรค ได้เรียก 52 ส.ส.มาถกเถียงกันอย่างหนัก ยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง ในกรณีการลงมติให้ ร.อ.ธรรมนัส จนต้องลงมติ

“จุดยืนของกลุ่ม 17 ส.ส.ครั้งนี้ เพื่อต้องการส่งสัญญาณถึงนายกฯ และครม. ว่า เสียงไม่ไว้วางใจจะนับเฉพาะในสภาไม่ได้ แต่ควรต้องฟังเสียงประชาชนภายนอกสภาฯ ด้วย ซึ่งกระแสความไว้วางใจต่อ ร.อ.ธรรมนัส ยังเป็นที่กังขาอย่างมาก สัญญาณที่ส่งนี้ หวังว่า นายกฯในฐานะผู้นำรัฐบาลจะรับฟัง และนำไปสู่การทบทวน เพราะความมั่นคงของรัฐบาลต้องขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของประชาชนเรากังวลเรื่องนี้ เพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาลจะเกี่ยวข้องกับภาพพจน์ของรัฐมนตรีในครม.ด้วย” นายสาทิตย์ กล่าว

แน่นอน เหตุที่เสียงข้างมาก 24 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันให้โหวตตามมติวิปรัฐบาลนั้น เป็นเพราะกังวลว่า จะถูกคืนโควต้ารัฐมนตรีของพรรคคืน เพราะสัดส่วนส.ส.เดิมที่จะเปลี่ยนไป จากการดูดอดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ

แต่ความเคลื่อนไหวนี้ยังไม่จบ จากนั้นเมื่อมีข่าวว่า คนใกล้ชิด ร.อ.ธรรมนัส เกี่ยวโยงถึงการกักตุนหน้ากากอนามัยส่งขายต่างประเทศในตลาดมืดสูงกว่าราคาควบคุมที่รัฐบาลกำหนดหลายสิบเท่าตัว จนมีความพยายาม จากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วน หยิงเอาเรื่องนี้มาบี้พรรคขอให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับที่เราคงจะต้องตัดสินใจไม่พายเรือให้โจรนั่งแล้วครับ!” นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่งข้อความแสดงความเห็นในกลุ่มไลน์ “อดีตส.ส.ปชป.ปี 62

ถึงขนาดห้ามปราบกันเองในพรรคว่า “ควรรอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตัดสินใจก่อน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีการปรับ ครม.แล้ว โดยที่ ร.อ.ธรรมนัส ยังอยู่ ก็พร้อมจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่พร้อมสนับสนุนให้พรรคนำเรื่องการทบทวนการร่วมรัฐบาลมาหารือเช่นกัน”

แต่แล้วเรื่องนี้ค่อยเงียบหายไป

กระทั่ง เมื่อมีการปรับครม.ประยุทธ์ 2/1 ในช่วงเดือนกรกฎาคม หลังทีม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยกทีมลาออก ร.อ.ธรรมนัส ก็ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งได้

และยัง “ไฮพาวเวอร์” มีส.ส.เพิ่มขึ้น จนเป็น “ก๊กใหญ่” ในพลังประชารัฐเวลานี้

มารอบนี้ น่าสนใจ ข่าวเขย่าเก้าอี้หวังปรับครม. เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนศึกซักฟอกจะเริ่มต้นหลายสัปดาห์

เป็นหลายสัปดาห์ที่เกิดขึ้นจากภายในพลังประชารัฐเอง ไม่ใช่จากบรรดาพรรคร่วม

มิหน่ำซ้ำ ยังเป็นความเคลื่อนไหว จากคนที่ เป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการ” อยากขยับขึ้นเป็น “รัฐมนตรีว่าการ” ด้วย