วัคซีนไม่มีส่วนผสมไม่ฮาลาล ฟัตวาจุฬาฯ ฉีดได้ ป้องกันอันตรายต่อชีวิต

280

ฟัตวาจากสำนักจุฬาราชมนตรีไปก่อนหน้านี้ว่าการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนับเป็นกรณีฎารูเราะฮฺ จำเป็นอย่างยิ่งยวด เป็นที่อนุมัติ จึงให้ยึดถือฟัตวาเดิมเรื่องวัคซีนเป็นหลัก

ตามที่มีกระแสการต่อต้านการฉีดวัคซีนขิงมุสลิม โดยสงสัยว่า ฮาลาลหรือไม่ โดยเฉพาะจากความเห็นในอินโดนีเชียนั้น ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงกรณีวัคซีนโควิด-19

ในประเทศไทย เรื่องวัคซีนโควิด-19 ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกิจการฮาลาลของทั้ง สกอท. และ สกอจ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตาม พรบ.อิสลาม 2540 ม.18(9) และ ม.26(13) เนื่องจากวัคซีนไม่มีการขอการรับรองฮาลาล องค์กรศาสนาอิสลามที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ตาม พรบ.2540 คือสำนักจุฬาราชมนตรี ตาม ม.8(4)

เรื่องนี้ ทางสำนักจุฬาราชมนตรีมิได้นิ่งนอนใจได้ปรึกษาหารือกันแล้ว เลขานุการจุฬาราชมนตรี อ.สุธรรม บุญมาเลิศ แจ้งว่ามีฟัตวาจากสำนักจุฬาราชมนตรีไปก่อนหน้านี้ว่าการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนับเป็นกรณีฎารูเราะฮฺ จำเป็นอย่างยิ่งยวด เป็นที่อนุมัติ จึงให้ยึดถือฟัตวาเดิมเรื่องวัคซีนเป็นหลัก ทั้งนี้ฟัตวาจากจุฬาราชมนตรีสอดคล้องกับฟัตวาของ MUI อินโดนีเซีย UAE และอีกหลายประเทศ สรุปว่าวัคซีนทั้ง Sinovac, AstraZeneca หรือวัคซีนอื่นที่ อย.อนุมัติสำหรับโควิด-19 นั้นมุสลิมสามารถรับการฉีดได้

อนึ่งในเรื่องนี้ ผมและทีมงานจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าพบ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ท่านยืนยันว่าทางบริษัท Sinovac และ AstraZeneca แจ้งกับท่านเอง เมื่อครั้งผู้เชี่ยวชาญเข้าพบกระทรวงสาธารณสุขว่า ไม่มีองค์ประกอบจากสุกรใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง gelatin ที่นิยมใช้ในการทำ stabilizer ของวัคซีน ส่วนกรณีการใช้ trypsin นั้น นพ.ยงมิได้ให้ข้อมูล อาจมิได้ถาม แต่ถึงกระนั้น เงื่อนไขยังเป็นไปตามฟัตวาของสำนักจุฬาราชมนตรีนั่นคืออนุมัติให้มุสลิมใช้ได้

ผมตอบในที่นี้ในฐานะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี