คาดเซฟตี้โซนชายแดนใต้ ใช้เวลาเตรียมการร่วมครึ่งปี

92

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เดินหน้าจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) ชายแดนใต้ 5 อำเภอ เพื่อทดสอบความไว้วางใจกับผู้เห็นต่าง แต่ยอมรับไม่สามารถรับรองความปลอดภัย 100% ได้ ชี้ต้องใช้เวลาเตรียมการร่วมครึ่งปี

พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข พร้อมผู้เกี่ยวข้องจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกันแถลงข่าวที่กองทัพบก วันนี้ (16 มี.ค. 2560) เพื่อชี้แจงถึงความคืบหน้าการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย หรือ เซฟตี้โซน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากสามารถตกลงกรอบแนวคิดกับผู้เห็นต่างจากรัฐได้แล้ว ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งชุดประเมินพื้นที่ หรือ Assessment Team หรือ AT ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐไทย กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเตรียมการเรื่องอื่นๆ น่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นชุดประเมินพื้นที่จะลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน

“เบื้องต้นจะมีการกำหนดเซฟตี้โซนระดับอำเภอ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมห้าจุด แต่คงไม่สามารถเปิดเผยว่าเป็นสถานที่ใดบ้าง เพราะหากเปิดไปจะทำให้เกิดการท้าทายขึ้น” พล.ต.สิทธิกล่าว

พล.ต.สิทธิ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีการจัดตั้งเซฟตี้โซนก็เพื่อทดสอบความไว้วางใจจากทั้งสองฝ่ายในคณะพูดคุยสันติภาพ ฝ่ายรัฐไทยอยากดูว่าจะลดเหตุรุนแรงได้จริงหรือไม่ ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างต้องการเห็นความจริงใจของฝ่ายรัฐ ซึ่งหากเซฟตี้โซนประสบความสำเร็จ สามารถให้ความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่ได้ ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาขั้นต่อไป คือการพัฒนาและการคืนความเป็นธรรม

“แต่นิยามเซฟตี้โซนของเราจะต่างจากของต่างประเทศ คือไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นเซฟตี้โซนแล้วจะไม่มีเหตุเลย 100% เพียงแต่เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องพิสูจน์ทราบให้ได้โดยเร็วว่า เกิดจากสาเหตุอะไร หรือเป็นฝีมือใคร โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ถ้าเกิดจากเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงเกินกว่าสามครั้ง ก็จะยกเลิกเซฟตี้โซนในพื้นที่นั้นทันที” เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ระบุ

ทหารในภาคใต้Image copyrightAFP

ด้านนายธวัชชัย ฤทธากรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) กล่าวว่า ยืนยันได้ว่าตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วมในคณะกรรมการพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นตัวจริงทั้งหมด ทั้งพูโล บีอาร์เอ็น หรือกลุ่มอื่นๆ เพราะต่างมีรายชื่ออยู่ในบัญชีของฝ่ายความมั่นคงมานานแล้ว ทว่าแต่ละกลุ่มแบ่งออกเป็นสายต่างๆ และบางสายยังไม่ได้เข้าร่วม จึงทำให้ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ ทั้งนี้ หากดูสถิติการก่อเหตุจะเห็นว่าเหตุรุนแรงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อมีการเจรจาสันติสุข

“ความขัดแย้งใดๆ ในโลกนี้ ส่วนใหญ่จบด้วยการเจรจาทั้งนั้น” นายธวัชชัยกล่าว

เซฟตี้โซน, จังหวัดชายแดนใต้, กอ.รมน., สถานการณ์ฉุกเฉิน, มาราปาตานีImage copyrightMOHD RASFAN/AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

ด้านนายฉัตรชัย บางชวด ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงภายในประเทศ สมช. กล่าวว่า การพูดคุยสันติสุขถือเป็นวาระแห่งชาติ และอยู่ในแผนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับนโยบายอยู่แล้ว ซึ่งทุกครั้งก่อนที่จะไปเจรจาอะไร สมช. ก็จะรายงานให้กับนายกรัฐมนตรีทราบ

วันเดียวกัน พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค 60 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ยกเว้น อ.แม่ลาน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของรัฐและของบุคคล โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.60 เป็นต้นไป

Cr.bbc