จากภาวะฝนแล้งอย่างหนัก ส่งผลให้ไม้ผลจำนวนมากได้รับความเสียหาย ชาวบ้านไม้เสียบ กว่า 100 ครัวเรือนได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาแหล่งน้ำ จนมีความอุดมสมบูรณ์ ผลไม้กลับมามีผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น อาชีพต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการเลี้ยงผึ้ง
เฟซบุ๊ค Decharut Sukkumnoed หรือเดชรัตน์ สุขกําเนิด อดีตอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้โพสต์ระบุว่า
วิทยานิพนธ์ที่น่าชื่นใจ
วันก่อน มีสิ่งของส่งมาที่บ้าน ผมออกไปรับเห็นว่าเป็น “น้ำผึ้ง” พอเดินเข้ามาแม่ทิพย์ถามว่าคืออะไร? ผมเลยตอบว่า “วิทยานิพนธ์” แต่เปิดออกเป็นน้ำผึ้ง ผมเลยเฉลยให้แม่ทิพย์ฟัง
น้ำผึ้ง 10 ขวดนี้ เป็นผลผลิตส่วนหนึ่งของเรื่องราวในวิทยานิพนธ์ของจ่าโกเมศร์ ทองบุญชู ที่ทำการศึกษาเรื่อง “การจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านไม้เสียบ ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช” ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน
ปัญหามันเริ่มต้นจากในช่วงปี พ.ศ.2557-2558 เกิดฝนทิ้งช่วงยาวนาน เกิดภาวะภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่ออาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะไม้ผล และพืชไร่เสียหายจำนวนมาก น้ำในลำคลองแห้งเกือบหมด จนระบบประปาหมู่บ้านหยุดผลิตน้ำ
จากวิกฤตดังกล่าว พบว่าไม้ผลประเภทมังคุด เงาะ ทุเรียน ตายจากภาวะภัยแล้งจำนวน 4,786 ต้น และไม้ผลมีสภาพเสื่อมโทรมเกือบเต็มพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก
ผู้นำชุมชนบ้านไม้เสียบจึงร่วมตัวกันจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ในรูปแบบการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยการจัดทำแผนที่น้ำในชุมชน พบว่า พื้นที่ทางการเกษตรทั้ง 1,920 ไร่ และส่วนใหญ่เป็นส่วนผลไม้ จะต้องใช้ปริมาณน้ำตลอดทั้งปี ประมาณ 3,152,720 ลูกบาศก์เมตร
แต่น้ำต้นทุนที่มี คือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 1,970 มิลลิเมตรต่อปี มีพื้นที่หน้าตักรับน้ำจำนวน 1,920 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำฝนประมาณ 6,051,840 ลูกบาศก์เมตร แต่ในพื้นที่สามารถกักเก็บได้ 2,299,700 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 38 ของปริมาณน้ำที่กักเก็บได้
ดังนั้นถ้าจะเก็บน้ำให้เพียงพอต้องเพิ่มปริมาณน้ำอีก 854,020 ลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากลำคลองทั้ง 6 สาย ส่วนใหญ่มีลักษณะตื้นเขิน มีการรุกล้ำแนวเขตลำคลองและมีวัชพืช ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอ
ดังนั้นที่ประชุม จึงมีมติให้จัดทำแผนการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร โดยฟื้นฟูคลองสำหรับกักเก็บน้ำ 6 สายคลอง คือ 1) คลองห้วยกรวด 2) คลองไม้เสียบ 3) คลองในบ้าน 4) คลองห้วยยาง 5) คลองห้วยไฟ 6) คลองห้วยหลุด โดยการลอกคลอง ทำฝาย โดยใช้กองทุนพัฒนาหมู่บ้านไปหมู่บ้าน 50,000บาท
นอกจากนี้ ยังจัดทำแก้มลิงจัดเก็บน้ำ 1 ตัว ด้วยสภาพแอ่งน้ำบริเวณหน้าสถานีอนามัยบ้านไม้เสียบ โดยมีการขุดลอกกว้าง 25 เมตร ยาว 800 เมตร ลึกประมาณ 4 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้จำนวน80,000ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งหมดแล้ว บ้านไม้เสียบสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ปริมาณ 447,402 ลูกบาศก์เมตร
การมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรชุมชนบ้านไม้เสียบส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจครัวเรือน และชุมชนบ้านไม้เสียบสูงขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 135,700 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2558 ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 92,400 บาท คิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้น 43,300 บาทต่อครัวเรือน
พอจัดการน้ำได้ น้ำสมบูรณ์แล้วไม้ผลก็ออกสมบูรณ์ผึ้งก็มาอยู่เยอะ เพราะผึ้งจะมากินน้ำหวานจากดอกไม้ ขณะเดียวกัน ผึ้งก็ทำให้ผลไม้ติดลูกเพิ่มขึ้นเพราะเป็นตัวผสมเกษรให้ต้นไม้ ที่สำคัญเมื่อชาวบ้านเลี้ยงผึ้งก็จะไม่ใช้สารเคมีในสวนเพราะผึ้งไวต่อสารเคมี ดังนั้นผลไม้ที่ออกมาก็เป็นผลไม้ปลอดภัยครับ
จ่าโกเมศร์เล่าว่า ปัจจุบัน มีสมาชิกในชุมชน 127 ครัวเรือนที่เลี้ยงผึ้งมีรังผึ้ง 1,172 รัง ปีนี้ทั้งตำบลได้น้ำผึ้ง 4,000-5,000 กก.ครับ ราคากิโลกรัมละ 450บาท มูลค่ารวมกันกว่า 2 ล้านบาท/ปี ครับ ส่วนมูลค่าผลไม้ทั้งปีภาพรวมของตำบลเกาะขันธ์ 720-750 ล้าน (ในพื้นที่ 16,625ไร่) ครับ
นอกจากไม้ผล และน้ำผึ้ง ชุมชนจึงร่วมกันพัฒนาสร้างการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (ถนนผลไม้ ทุเรียน 200 ปี) เป็นการสร้างงานเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน นอกจากนี้ชุมชนยังมีการจัดทำวังปลาทั้ง 7 แห่ง มีปลานานาพันธุ์น้ำหนักรวมกว่า 5,400 กิโลกรัม
ส่วนน้ำผึ้งของชุมชนไม้เสียบ อร่อยมากครับ ไม่หวานแหลม หอมกำลังดี นำมาชงกาแฟอร่อยมากครับ
ขอบพระคุณจ่าโกเมศร์และชาวไม้เสียบมากๆ ครับ นับเป็นหนึ่งในวิทยานิพนธ์ที่น่าชื่นใจจริงๆ ครับ