วุ่นไม่จบ!! การประมูลรังนกพัทลุง มติคณะกรรมการชุดใหญ่ เคาะราคาประมูลครั้งที่ 4 วงเงิน 450ล้าน ตัดสัญญาแนบท้าย อ้างเพื่อจูงใจบริษัทนายทุนยื่นซองประมูล ในระหว่างวันที่ 8 – 21 มิ.ย. ศกนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเย็นวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ ห้องประชุมอิรวดี ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง เรียกประชุม เพื่อพิจารณากำหนดราคากลางหลังคณะกรรมการชุดเล็กได้นำมติการกำหนดราคากลางการประมูลรังนกครั้ง 4 นำเสนอ โดยก่อนหน้านี้มีการประกาศประมูลรังนกมา 3 ครั้ง แต่ไม่มีบริษัทมารับซื้อโดยกรรมการชุดเล็กมีมติ กำหนดราคากลางที่ 475 ล้านบาท สามารถจัดเก็บรังนกได้จำนวน 16 ครั้ง โดยตัดสัญญาแนบท้าย หลังจากได้ถกเถียงกันนานร่วม 3 ชั่วโมง เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 6 มิถุนายน 2564 ใน 2 ประเด็นคือ 1. ให้การสัมปทานรังนกฯระยะเวลา 5 ปี ในราคา 450 ล้านบาท และมีแนบท้ายสัญญา คือให้ซื้อตู้ 1 คัน รถยนต์กระบะ 2 คันและเรือหางยาว 1 ลำ เก็บรังนกได้ 15 ครั้ง และ แนวทางที่สอง สัมปทานรังนก ฯ ระยะเวลา 5 ปี ในราคา 475 ล้านบาท เก็บรังนกได้ 16 ครั้ง ตัดสัญญาแนบท้ายออกไป
สุดท้ายในที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ นายเกษมศักดิ์ เส้งสุ้น ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้อภิปรายระบุถึงมติของกรรมการชุดเล็ก ที่ให้สัมปทานราคา 475 ล้านบาท และตัดสัญญาแนบท้าย แต่ยืดการจัดเก็บรังนกของบริษัทสัมปทานออกไปเป็น 16 ครั้ง จะทำให้จังหวัดสูญเสียผลประโยชน์ไปกว่า 5 ล้านบาท ทั้งยังเป็นการเพิ่มราคากลางประมูลจากราคาที่กำหนดในรอบที่ผ่านมา เกรงว่าจะไม่มีบริษัทสนใจ จึงเสนอ ให้ที่ประชุมพิจารณาราคากลางที่ 450 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ตัดสัญญาแนบท้ายออกไป สามารถเก็บรังนกได้เท่าสัญญาเก่า คือ15 ครั้ง ในระยะเวลา 5 ปีท่ามกลางการท้วงติงของคณะกรรมการจากสำนักงานอัยการ ที่ระบุว่าในเมื่อมอบอำนาจให้คณะกรรมการชุดเล็กกำหนดราคามาแล้ว และในการประชุมของคณะกรรมการชุดเล็กก็มีการอภิปรายถึงผลดีผลเสียกันอย่างกว้างขวางแล้ว ก็ควรเคารพมติของคณะกรรมการชุดเล็ก เพราะ ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการชุดใหญ่ลงมติให้กรรมการชุดเล็กกำหนดราคากลางในการประมูลครั้งที่ 4 มาเพียงราคาข้อเสนอเดียว
ทั้งนี้ทำให้ที่ประชุมมีการนำเสนอ 2 ประเด็นและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง สุดท้าย นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง จึงได้ขอมติจากที่ประชุม ปรากฏว่าในที่ประชุมเห็นด้วยกับราคากลางตามข้อเสนอของนายเกษมศักดิ์ เส้งสุ้น 8 เสียง ซึ่งเป็นเสียงข้างมาก นอกนั้นงดออกเสียง และ โดยจากมติดังกล่าว กำหนดเปิดการขายซองประมูลฯ ระหว่างวันที่ 8 – 21 มิถุนายน 2564 และกำหนดการยื่นซองในวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ณ หอประชุมจังหวัดพัทลุง ส่วนรายละเอียดต่างๆตามสัญญาการสัมปทานรังนก ให้ยึดหลักรายละเอียดเดิมที่ได้ประกาศมาแล้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่จะถึงนี้ เป็นวันหมดสัญญาสัมปทานของบริษัทเดิม ทำให้เกิดช่องว่าง เนื่องจาก จังหวัดยังไม่สามารถหาผู้สัมปทานรังนกได้ จึงต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่ เข้ารักษาความปลอดภัย บริเวณเกาะรังนก ในพื้นที่ อำเภอปากพะยูน โดยมีงบประมาณจำกัด 6 แสนกว่าบาทซึ่งเป็นเงินภาษีเกาะรังนก โดยต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่วันละ 67 คน บูรณาการร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำลัง อส. เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จาก อบจ และจนท.ในสังกัดกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อวัน 57,350 บาทเ มื่อคำนวณกับงบประมาณที่มี จะสามารถดำเนินการได้เพียงแค่ ไม่เกิน 12 วัน ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่า จะมีเอกชนรายใดมายื่นซองประมูลหรือไม่
ด้านนายฉัตรชัย อุสาหะ รอง ผวจ.พัทลุง เสนอให้จัดทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นของคนพัทลุง ถึงแนวทางการบริหารจัดการกับเกาะรังนก ว่าควรจะเป็นในรูปแบบไหน โดยจะเชิญผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในจังหวัด ร่วมทั้งผู้แทนจาก สื่อมวลชน มาระดมความคิด ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ในที่ประชุมได้รับไว้เพื่อพิจารณา หากไม่มีบริษัทใดมายื่นประมูลในรอบที่ 4 นอกเหนือจากแนวทางเดิม คือ ให้ประมูลแบบกรณีพิเศษ คือทำหนังสือเชิญบริษัทต่าง เพื่อให้เข้ามารวมประมูล
สำหรับเกาะรังนกหมู่เกาะสี่ เกาะห้า ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นเหล่งที่อาศัยและทำรังว างไข่ของนกอีแอ่น 3 น้ำ ที่มีคุณภาพดีที่สุดในเอเชีย จัดเป็นขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่มีค่าของจังหวัดพัทลุง ในพื้นที่ 7 เกาะ ประกอบด้วย เกาะหน้าเทวดา เกาะรูสิ้ม เกาะท้ายถ้ำดำ เกาะกันตัง เกาะตาใส เกาะยายโส และ เกาะรอกโดย รอบสัมปทานที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง มีมติให้ บริษัท สยามเนสท์ 2559 จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 450 ล้านบาท สัญญาสัมปทาน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2559-14 มิถุนายน 2564 ซึ่งสัมปทาน จะหมดอายุสัญญาในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นี้
ขอบคุณภาพ …..จาก เมืองลุงโพสต์