พุทธ-มุสลิมแนวร่วมรุกรบ ถล่มหนักฮาลาลขนมเปียกปูน!

1286

ตราฮาลาลขนมเปียกปูนถูกรุกหนักทั้ง 2 ด้าน ทั้งกลุ่มชาวพุทธและมุสลิม กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับ ส่งผลสะเทือนต่อระบบการออกตรา”ฮาลาล” ของกอท. หรือแค่ก้อนกรวดในรองเท้า

กระแสการต่อต้าน หรือกระบวนการตั้งคำถามต่อการออกตรารับรอง “ฮาลาล” ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เริ่มต้นอย่างเป็นระบบประมาณกลางปี 2559 โดยกลุ่มชาวพุทธกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน นำโดยนายจรูญ วรรณกสิณานนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ออกมาต่อต้านอิสลามในหลายเรื่อง อาทิ การคัดค้านกฎหมายกิจการฮัจย์ และมาต่อด้วยเรื่อง “ฮาลาล”

กลุ่มนี้ ซึ่งมีไม่ถึง 10 คน และมีพระภิกษุร่วมด้วย ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยกเลิกกองทุนฮาลาล ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจและชี้มูลว่า กองทุนฮาลาลไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นจริงตามกฎหมาย จึงไม่รับพิจารณา แต่ต่อมากลับมีการนำไปขยายผลว่า กองทุนฮาลาลไม่ถูกกฎหมาย ให้มีการยกเลิกการตรวจรับรองฮาลาล อ้าง อย. อ้าง กอ.รมน. ส่งไปตามไลน์ เพื่อปลุกระดมชวนเชื่อ ซึ่งไม่แน่ชัดว่า เป็นกลุ่มไหนทำ

เมื่อดูว่า การต่อต้านกองทุนฮาลาลจะแป๊ก กลุ่มนี้ได้เคลื่อนไหวตนำเรื่อง “ฮาลาลไม่จ่ายภาษี”มาโจมตี และตั้งยังตั้งคำถามหลายข้อเกี่ยวกับฮาลาล กลายเป็นคำถามที่ดร.วินัย ดะห์ลัน รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ต้องออกมาชี้แจงถึง 2 ครั้ง 2 ครา กระแสก็เงียบลงไป

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการเคลื่อนไหวส่งข้อมูลโจมตีใส่ร้าย “ฮาลาล” ไปตามสื่อโซเชียล วิทยุชุมชน และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม อย่าง DDTV ที่มีพระเข้ามาเป็นตัวนำในการขยายผล

กระแสต่อต้านฮาลาล ยังมีกลุ่ม ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ประธานสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย ที่ให้ข้อมูลถูกบ้างผิดบ้าง ตามสื่อโซเชียล วิทยุชุมชนและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

มีการสร้างข้อมูลบิดเบือนถึงระดับว่า “ฮาลาลไทย” มีรายได้เป็นแสนล้าน มีเป้าหมายเพื่อยดครองประเทศ

ในข้อเท็จจริงระบบ “ฮาลาล” เป็นการอำนวยความสะดวกในการบริโภคอาหารที่ถูกหลักศาสนาของพี่น้องมุสลิม ต่อมาได้ขยายไปสู่การรับรองเพื่อการนำสินค้าฮาลาลไปขายในประเทศมุสลิม 57 ประเทศ มีจำนวนมุสลิมในโลก 1.8 พันล้านคน ตลาดรวมมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ระบบการตรวจรับรอง”ฮาลาล” เริ่มตั้งแต่ปี 2492 โดยเอกชนรายหนึ่งต้องการส่งไก่ไปประเทศคูเวต จึงให้จุฬาราชมนตรี สมัยนั้น คือ อ.ต่วน สุวรรณศาสน์ ให้การรับรอง ได้พัฒนาการตรวจรับรองจากสำนักจุฬาราชมนตรีตรวจรับรอง มีการแก้ไขกฎหมายการบริหารกิจการอิสลามแห่งประเทศไทย ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้ตรวจรับรอง ต่อมาได้มีการออกระเบียบให้ฝ่ายกิจการฮาลาลกอท. และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยฝ่ายกิจการฮาลาล เป็นผู้ตรวจรับรอง ในการตวจสอบโรงงาน มีค่าใช้่จ่ายประมาณ 10,000-30,000 บาท ตามขนาดโรงงาน มีการอบรมผู้เกี่ยวข้อง และมีที่ปรึกษาประจำโรงงานซึ่งเอกชนจะต้องออกค่าใช้จ่าย

ในจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งมีจำนวน 39 จังหวัด เป็นผู้ตรวจรับรอง ส่วนจงหวัดที่ไม่มี กอจ. เป็นอำนาจของฝ่ายฮาลาล กอท.

ส่วนการออกตราฮาลาล ออกโดยสำนักจุฬาราชมนตรี มีค่าใช้จ่ายผลิตภัณฑ์ละ 500 บาทต่อปี

ขณะที่กลุ่มชาวพุทธออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านฮาลาล มีมุสลิมบางกลุ่มได้ออกมา “สมทบ” เป็นแนวร่วมรุกเข้าใส่กระบวนการตรวจสอบฮาลาลเช่นเดียวกัน ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวพุทธแอดมินกลุ่มชมรมมุสลิมรักสันติไม่นิยมความรุนแรง ได้โพสต์ข้อความตั้งคำถามไปยังฝ่ายฮาลาล กรณีการออกฮาลาลให้กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องรับรองฮาลาล อาทิ นำ ข้าวสาร มีการใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรง ที่เพจชาวพุทธหลายกลุ่มนำไปขยายผลต่อ

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องฮาลาลต่อเนื่อง คือ กลุ่มผู้ที่ใช้ชื่อเฟสว่า Somchai Kerdyoo และปฤษฎางค์ อัยยูบ ศิลปวงษา เป็นต้น ที่มีการขยายผลในเรื่องฮาลาลในกลายกรณี โดยเฉพาะกรณีการแอบอ้างติดตราฮาลาล ที่รุกหนัก คือ กรณีคือค่าปรับจากการจับผู้แอบอ้างฮาลาล มีเท่าไหร่ นำไปใช้อะไร รวมทั้ง เงินจากการตรวจรับรองฮาลาล นำไปใช้จ่ายอะไร เท่าไหร่ โดยเรียกร้องให้มีการนำข้อมูลค่าใช้จ่ายมาให้สาธารณชนรับทราบ

การเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิม แม้จะไม่เจตนาที่เหมือนหนึ่งเป็นแนวร่วมของาวพุทธรุมถล่มฝ่ายฮาลาลอย่างหนักหน่วง

พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ระบุว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวพุทธ ต้องการสร้างความแตกแยกในสังคมไทย มีต่างชาติ อย่างอเมริกาหนุนหลัง เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ส่วนกลุ่มมุสลิมที่เคลื่อนไหวเรื่องฮาลาล เป็นกลุ่มที่เคยทำงานในฝ่ายฮาลาล เมื่อออกไปแล้วก็กลับมาโจมตี

“ตอนที่พวกผมไม่เข้ามารับตำแหน่ง เห็นว่า มีการปลอมแปลงตราฮาลาลกันมาก ไม่มีการดำเนินการอะไร เมื่อเข้ามาจึงได้ตั้งฝ่ายตรวจสอบ ดำเนินการจับกุม ไกล่เกลี่ย มีการปรับ เพราะการปลอมแปลงผิดทั้งแพ่งและอาญา ปัญหาก็ลดลงไปมาก เงินจากค่าปรับก็มีการจ่ายไปตามสัดส่วน เพราะมีตำรวจเข้ามาร่วมด้วย เจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ เป็นต้น” เลขาธิการกอท. กล่าว

เงินที่ได้จากการตรวจรับรองฮาลาล เป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ ค่าใช้จ่ายในสำนักงานกอท. และใช้จ่ายเพื่อสังคม เช่น การนำไปสร้างศูนย์ที่ศรีบอยา ที่กระบี่ เพื่อบำบัดยาเสพติด ซึ่งเปลี่ยนเป็นศูนย์การศึกษา มูลค่า 20 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจดการสอบชิงทุนไปอียิปต์ กอท. ประมาณ 500,000 บาท การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น

พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการกอท.และคณะแถลงกับสื่อ

แม้จะถูกรุกหนักจากกลุ่มชาวพุทธและมุสลิมบางส่วน แต่ฮาลาลไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีผู้ประกอบการเข้าขอฮาลาลมากว่า 3,000 แห่ง มีผลิตภัณฑ์ได้รับรับรองเพิ่มขึ้นมากกว่า 120,000 รายการ มียอดการส่งออกมากกว่า 400,000 ล้านบาท สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมหาศาล