เปิดใจ“น้องซัยน่า”นศ.ทุนอินโด ฝันอยากเป็นนักข่าวมุสลิมไทยคนแรกที่สวมฮิญาบ

554

ซัยน่า นศ.ทุนอินโด ผู้ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ และให้โอกาสตัวเองฝันอยากเป็นนักข่าวมุสลิมไทยคนแรกที่ทำงานสื่อสารมวลชนในไทยและสามารถสวมฮิญาบในการปฏิบัติงานได้
“เพราะโลกมีความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปมากมาย มนุษย์เราจะหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความเราต้องทิ้งศาสนาเพื่อไต่เต้าเฉพาะทางโลก ถ้าเราไม่มีคำสอนอิสลามในหัวใจ ชีวิตเราจะไร้ซึ่งหนทางอันเที่ยงตรงและขาดความสมบูรณ์แบบในชีวิต เปรียบเหมือนเรือที่ลอยในแม่น้ำแต่ไม่มีเป้าหมายและทิศทางของเรือที่ชัดเจน” ชีวิตสาวน้อยมุสลีมะห์ “น้องซัยน่า”กล่าว

น.ส.จุฑาวรรณ ผลเจริญ (ซัยน่า/ฮาซานะห์) ทายาท วรรณสิทธิ์ ภูมิดำรงค์ และ ยามีละห์ ผลเจริญ เป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบศาสนาชั้นฟัรฎูอีน ปีที่6 จากโรงเรียนนูรุดดีน สุเหร่าแดง กรุงเทพฯ จบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ บึงกุ่ม กทม. ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปี 4 คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ดรอปการศึกษาที่ไทย เพื่อมาเรียนแลกเปลี่ยนที่อินโดนีเซีย 1 ปี
“ซัยน่า”ตัดสินใจมาเรียนแลกเปลี่ยนที่อินโดนีเซีย เพราะมีความสนใจในวัฒนธรรมและภาษาอินโดนีเซีย โดยเริ่มจากการได้ฟังเพลงอินโดนีเซีย จุดเปลี่ยนชีวิตจากเด็กบ้านๆในสังคมมุสลิมเล็กๆและไม่ค่อยกล้าออกสู่โลกภายนอก

แต่หลังจากเข้าอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาของมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อโครงการว่า “เพชรราชมงคลพระนคร รุ่นที่ 11” ทำให้รู้สึกมั่นใจและมองโลกเป็น จึงตัดสินใจลงสอบและผ่านการสอบคัดเลือกทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์จนได้รับโอกาสไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยอมัสยา เมืองอมัสยา ประเทศตุรกี ในเดือนกรกฎาคม 2558

ซึ่งเป็นการเดินทางเปิดโลกทัศน์ครั้งแรกในต่างประเทศ ในการนำวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ต่างประเทศสู่สายตาชาวต่างชาติ และจากประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสได้รับคัดเลือกอีกครั้งจากทางมหาวิทยาลัยให้ได้อีกโอกาสไปเผยแพร่วัฒนธรรมอีกครั้งที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ในงาน Thai Festival in Cairo ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตไทยประจำกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และจากโอกาสและประสบการณ์จาก 2 ประเทศนี้ ทำให้ได้รับอีกโอกาสในครั้งที่ 3 สำหรับงาน 65 ปี ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาและเนื่องในวโรกาสวันพ่อแห่งชาติ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาในปลายปี 2558

จากการได้รับโอกาสไปยังต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมถึง 3 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้เกิดมีความชื่นชอบและสนใจในวัฒนธรรม ภาษา และการศึกษาในต่างประเทศมากขึ้น จุดเปลี่ยนความคิดและเกิดแรงผลักดันที่อยากมีโอกาสได้รับทุนเพื่อเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากการไปเผยแพร่วัฒนธรรมครั้งที่ 2 ที่กรุงไคโร เพราะมีโอกาสได้เจอพี่ๆนักศึกษาไทยมุสลิม ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และแชร์ประสบการณ์ต่างๆเกี่ยวกับการศึกษา การทำกิจกรรม การใช้ชีวิตจริงในต่างแดนว่าเป็นว่าอย่างไร จึงทำให้มีความคิดอยากลงสนามสอบชิงทุนแลกเปลี่ยนเพื่อมาศึกษาต่อที่ประเทศอินโดนีเซียอีกครั้งในปี 2559

โดยครั้งนี้เป็นการตัดสินใจเลือกสมัครสอบด้วยตัวเอง โดยเลือกมหาวิทยาลัยที่เกาะบาหลี และดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆและติดต่อกับทางสถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยด้วยตัวเองทั้งสิ้น จากประสบการณ์ที่เคยสมัครสอบในปีที่ผ่านมาพอมีทุนเดิมที่พอรู้เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ
อีกทั้งความสนใจในภาษาอินโดนีเซียที่มากขึ้น จึงมีความตั้งใจที่อยากจะสามารถฟัง พดู อ่าน และเขียนภาษาอินโดนีเซียได้อย่างเจ้าของภาษา และเหตุผลสำคัญที่เลือกสมัครทุนนี้ และเลือกมาประเทศอินโดนีเซียด้วยนั้นคือเป็นประเทศมุสลิมที่ใกล้กับประเทศไทย

เกาะบาหลีไม่มีนักศึกษาไทยเลย ส่วนใหญ่อยู่เกาะชวา เพราะบาหลีเต็มไปด้วยคนฮินดู และในปีนี้มีนักศึกษาไทยเรียนที่บาหลีแค่ 2 คน แลเข้าเรียนสาขาวิชาการท่องเที่ยว เรียนด้วยภาษาอินโดนีเซีย สภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนค่อนข้างแตกต่างกับทางไทยพอสมควรอย่างในคลาสเริ่มแรกต้องใช้ภาษาอังกฤษก่อน พอหลังสองสัปดาห์แรก อาจารย์เริ่มบังคับใช้ภาษาอินโดนีเซียมากขึ้น

บรรยากาศการเรียนค่อนข้างเป็นนานาชาติ มีความเปิดกว้างมากขึ้นกว่าตอนอยู่ไทย ทุกคนมีความเป็นของตัวเองสูง กล้าคิดกล้าถามกล้าแสดงออกทางความคิดในการเรียน สามารถพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาได้มากขึ้น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ในมุมของความแตกต่างระหว่างอาจารย์ผู้สอนที่ไทยกับอินโดนีเซีย

คือ ที่บาหลีทุกอย่างชี้แจงบอกกล่าวในครั้งแรกที่พบกันแล้วจบ ไม่มีครั้งสอง ไม่มีเตือนหรือพูดซ้ำ ไม่มีบังคับ ไม่มีการออกคำสั่ง ถือว่าทุกคนโตพอที่จะรับผิดชอบตัวเองและพิจารณาได้ว่าอะไรสมควรหรือไม่
ความฝันที่มีมาแต่เด็กและในปัจจุบันยังเป็นแบบเดิมอยู่คือนักข่าว ผู้ประกาศข่าว หรือผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดยคาดหวังว่าอยากเป็นผู้สื่อข่าว/นักข่าวมุสลิมไทยคนแรกที่ทำงานสื่อสารมวลชนในไทยและสามารถสวมฮิญาบในการปฏิบัติงานได้ และเมื่อออกสู่โลกภายนอกมากขึ้น ความฝันอีกอย่างที่ใหม่และอยากทำคือการเป็นนักการฑูตเพราะเป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติโดยตรง

ที่มา: www.komchadluek.netม