ส่อมีปัญหา! ชมรมฯ ประกาศยุติโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีตะโละมาเนาะ

572

วันที่ 1 เม.ย.60  ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บริเวณมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือมัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ได้มีประชาชนทั้งใน และต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมมัสยิดโบราณอย่างไม่ขาดสาย จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนมัสยิด 300 ปี ตะโล๊ะมาเนาะ โครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ จึงทำให้ทางชมรมอีหม่าม คอเต็บ บีหลั่น ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้นำเสนอทำเป็นโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนมัสยิดตะโล๊ะมาเนาะ เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ความเป็นมาของมัสยิดโบราณ และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับชุมชนบ้านตะโล๊ะมาเนาะ ต่อคณะผู้แทนขององค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมชมมัสยิดแห่งนี้ เมื่อปี 2555

 

ในระหว่างที่คณะมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง ศอ.บต.จึงได้สนับสนุนงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปให้ชมรมอิหม่าม อ.บาเจาะ เพื่อสำรวจออกแบบในการปรับปรุงมัสยิด 300 ปี ตะโละมาเนาะ ให้สวยงามมั่นคงแข็งแรง เหมาะสมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับประชาชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์สถานที่สำคัญทางศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสนอขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ ศอ.บต. ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ

 

จนกระทั่งได้รับการอนุมุติงบประมาณกลาง จำนวน 200 ล้านบาท ในสมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ในขณะนั้น แต่โครงการล่าช้าเพราะไม่พร้อมในเรื่องรูปแบบของการก่อสร้างนานถึง 2 ปี จนกระทั่งได้ดำเนินการการก่อสร้างตามแบบที่ทาง ศอ.บต.ได้ดำเนินการแทนทางชมรมอีหม่ามในฐานะเจ้าของเรื่องในวงงบประมาณ 149 ล้านบาท ในสมัยของนายภาณุ อุทัยรัตน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. โดยทาง ศอ.บต.ชี้แจงเหตุผลว่า เนื่องจากเป็นงบกลางทางชมรมจะดำเนินการเองไม่ได้ จึงกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างชมรมอีหม่ามในฐานะเจ้าของโครงการกับทาง ศอ.บต.ที่เป็นฝ่ายดำเนินการโครงการ

ล่าสุด ทางชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ได้ประกาศยุติโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีตะโละมาเนาะ ต.ลูโบ๊ะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส อย่างเป็นทางการแล้ว โดยปราศจากเงื่อนไข หลังพบความผิดปกติไม่โปร่งใสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายมูฮำมัดซุลฮัน ลามะทา รองประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ตอนนี้ทางชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ได้ขอยุติโครงการแล้ว เพราะ ศอ.บต.ไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ทำให้ต้องยุติดโครงการ เมื่อคำมั่นสัญญาที่ ศอ.บต.บอกว่า จะให้เราดำเนินการ แต่เขาไม่ให้ก็ยวนๆ วินๆ คือ การขอเป็นคณะกรรมการร่วม แต่การเป็นกรรมการร่วมแถบไม่ได้มีอำนาจอะไรเลยในการตัดสินใจ ก็เลยถอนตัวพอถอนออกมา เพราะยึดมั่นตามเจตนารมณ์เดิมคือ ขอเรียกร้องคำมั่นสัญญาตามที่ ศอ.บต.เคยให้ไว้

เรื่องนี้ชาวบ้านเข้าใจดีเหตุผลที่ทำแบบนี้ เพราะว่า ศอ.บต.ไม่ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ นั้นคือสิ่งที่ชาวบ้านกลัวมาตลอด ทางชมรมต้องใช้เวลาไม่น้อยเพื่อทำความเข้าใจ แต่ก็เกิดขึ้นจนได้ และสิ่งที่จะทำให้ชาวบ้านกลับมายอมรับอีกครั้งก็คงยาก ยกเว้นถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ศอ.บต.คนใหม่ แล้วมาพูดคุยกันใหม่ แล้วก็มีความชัดเจนว่าทำบนพื้นที่ฐานหลักการเดิม โดยให้คณะกรรมการอิสลามจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ตอนนี้ขอยุติโครงการแล้ว แต่ก็รู้สึกงงเมื่อขอยุติโครงการแล้ว แต่โครงการยังเดินต่อ ทั้งๆ ที่เจ้าของคือชมรมอีหม่ามในพื้นที่ยังมีการขยับงานการก่อสร้าง

ทางชมรมมีการรายงาน OIC ตลอดในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่จะรายงานถึงความคืบหน้าของการดำเนินการ มีการรายงานเชิงบวกตลอด อยากให้ OIC เห็นว่า ประเทศไทยเขาดูแลคนมุสลิมใน 3 จังหวัด เรื่องที่เกิดขึ้นถ้าทาง OIC ถามมา ก็ต้องตอบตรงๆ แต่ถ้ายังไม่ถาม ก็คือยังไม่ตอบอะไร ก็ขอดุอาร์ว่าให้โครงการยุติไป และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ให้ประเทศไทย

ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณมัสยิดตะโล๊ะมาเนาะ รายหนึ่ง กล่าวว่า พวกเราเข้าใจชมรมที่ทำแบบนี้ และถูกต้องที่สุด ศอ.บต.ยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน อะไรๆ จึงเปลี่ยนไปหมด ยุคนี้ไม่มีความโปร่งใส ทำงานผิดปกติแบบเห็นๆ ประกาศยุติโครงการดีที่สุด สบายใจทุกฝ่าย เราก็สบายใจ เขาก็สบายใจ

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวผลประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 21 มี.ค. 2560 ว่า “ผมได้ย้ำไปแล้ว ซึ่งไม่ได้เฉพาะกรณีนี้ แต่บริษัทใดก็ตามที่ล้มละลาย ทิ้งงาน หรือบริษัทใดที่มีการเปลี่ยนชื่อผู้บริหาร หรือจดทะเบียนใหม่ จะให้เข้ามารับงานใหม่อีกไม่ได้ และได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางไปหามาตรการมาว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้คนเหล่านี้เข้ามามีที่ยืนในการประกอบธุรกิจอีก”

ต้องมีการตรวจสอบว่า ทำไมบริษัทเหล่านั้นถึงทิ้งงาน หรือล้มละลายแล้ว แต่มารับงานได้อีก ทั้งนี้ เพราะกฎหมายยังมีรอยรั่ว ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ ศอ.บต. และ กอ.รมน.ตรวจสอบโครงการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้มัสยิด 300 ปีด้วยว่า ปล่อยให้บริษัทที่ล้มละลายเข้ามารับงานได้อย่างไร