“พระราชกรณียกิจ” กับมุสลิมในแผ่นดินไทย

836

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พระราชกรณียกิจกับมุสลิมในแผ่นดินไทย” Mtoday ขออนุญาตนํามาเผยแพร่ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

“เมื่อกล่าวมุสลิมในแผ่นดินไทย มีผู้คนจํานวนไม่น้อยที่มักจะนึกถึงพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล มีสัดส่วนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามสูงกว่าประชากรที่นับถือศาสนาอื่นๆ อย่างไรก็ดีโดยข้อเท็จจริงแล้ว ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามนั้นมีอยู่เกือบ 4 ล้านคน โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในบางจังหวัด เช่น พัทลุง กระบี่ พังงา เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือแม้แต่กรุงเทพมหานคร หากจะสํารวจข้อมูลกันจริงๆ แล้ว จะพบว่ามีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นจํานวนมาก มีทั้งชาวไทยมุสลิมเชื้อสายจีน เชื้อสายเขมร เชื้อสายปาทาน เชื้อสายอาหรับ และอื่นๆ ซึ่งอยู่ร่วมกันกับพี่น้องต่างศาสนิก ต่างวัฒนธรรม อย่างปรองดอง สมานฉันท์และสันติสุข โดยมี “จุดร่วม” คือการเป็น “พลเมืองไทย” เช่นเดียวกัน และเท่าเทียมกัน

ศาสนาอิสลาม ได้เผยแผ่มาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย โดยชาวมุสลิมที่มากับเรือสินค้าจนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมุสลิมคือ อิหร่านหรือเปอร์เซีย และยังได้มีการส่งคณะราชทูตไปอีกหลายครั้ง ชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางจึงได้เดินทางมาค้าขายและตั้งบ้านเรือนผสมผสานกับพี่น้องชาวไทยกับพี่น้องชาวไทยทวีจํานวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีชาวมุสลิมหลายท่านมีบทบาทในการบริหารราชการ แผ่นดินมาโดยตลอดทั้งผ่ายพลเรือนและทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการรักษาอธิปไตยของชาติชาวมุสลิมได้ร่วมต่อสู้ป้องกันพระนครให้รอดพ้นจากการรุกรานของข้าศึกศัตรูได้ร่วมสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อประเทศชาติด้วยจิตใจที่รักหวงแหนประเทศชาติบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์และจริงใจ

กล่าวได้ว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศ ไทยพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อรักษาชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับกําหนดว่า พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นองค์ “อัครศาสนูปถัมภ์” โดยนัยแห่งบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญนี้แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันไพศาลของพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชสมัยที่ทรงมีต่อผู้นับถือศาสนาต่างๆ กัน แสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจกว้างขวาง จึงเขียนรัฐธรรมนูญที่เอื้ออํานวยคุณประโยชน์แก่ศาสนาและผู้นับถือศาสนาต่างๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดต่างก็มีความรู้สึกเป็นคนไทยที่อยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีใครรู้สึกแตกต่าง รู้สึกผิดแผก รู้สึกว่าเป็น
ผู้อาศัยแผ่นดินหรือเป็นพสกนิกรชั้นสอง และทุกคนไม่รู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ซึ่งกันและกัน การนับถือศาสนาต่างกันก็ไม่ได้ทําให้ความเป็นไทยลดน้อยลงหรือบกพร่องลงและยังไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า คนไทยจะขัดแย้งทางศาสนาถึงขั้นรุนแรง นอกจากความไม่เข้าใจกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย สิ่งสําคัญที่ควรจะกล่าวไว้ในเบื้องต้น ก็คือ

1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยศาสนาอิสลามและเข้าพระทัยศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง

– รูปแบบแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ของพี่น้องชาวมุสลิมอาจแตกต่างกับพี่น้องคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นอยู่บ้าง เพราะศาสนาอิสลามได้บัญญัติ ไว้อย่างชัดเจนซึ่งมุสลิมจะปฏิบัติผิดไปจากนั้นไม่ได้พระองค์ก็ทรงทราบความข้อนี้เป็นอย่างดีดังนั้น เมื่อพสกนิกรมุสลิมเข้าเฝ้าฯ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ปฏิบัติตนตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้สําหรับพสกนิกรมุสลิม

– พระราชจริยาวัตรเรื่องนี้คงจะได้ถ่ายทอดผ่านมายัง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชโอรส และพระราชธิดาทุกพระองค์

2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรมุสลิมในภาคใต้เป็นพิเศษ

– เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตําหนักทักษิณราชนิเวศน์เป็นประจําทุกปี

– เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรมุสลิมในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล ให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด และทรงสอบถามถึงทุกข์-สุข ของราษฎร

– พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริเพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

– พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการประกอบอาชีพ

– บางรายที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอันสุดวิสัยที่จะช่วยตนเองได้จะทรงรับไว้เป็นคนไข้พระบรมราชานุเคราะห์

– ทรงรับเด็กกําพร้าอนาถาชาวมุสลิมเข้าอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งเด็กเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูมีการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และไม่รู้สึกมีปมด้อย

– อีกทั้งยังเป็นที่มาของเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับ ลุงวาเต็ง ปูเต๊ะ “พระสหาย แห่งสายบุรี” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผูกพันลึกซึ้งระหว่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพสกนิกรของพระองค์ที่เป็นมุสลิมสามัญชนธรรมดา รวมทั้งเป็นจุดกําเนิดของตํานาน “ปลาร้องไห้ที่บ้านปาตาตีมอ” ซึ่งสะท้อนถึงพระเมตตาที่พระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์นี้มีต่อพสกนิกรผู้ยากไร้ของพระองค์อย่างหาที่เปรียบมิได้

– เมื่อเกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียนกว่า 30 แห่งพร้อมกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อกลางปีพ.ศ. 2536 หลายท่านคงนึกถึงภาพแห่งความประทับใจที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเยี่ยมผู้นําศาสนาอิสลามและราษฎรของพระองค์ ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536

– ภายหลังเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประทุรุนแรงขึ้น ในปี 2547 หลายท่านคงนึกถึงแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้รับการน้อมนํามาเป็นยุทธศาสตร์หลักของทางราชการในการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ดังกล่าว มาจนถึงทุกวันนี้

3. พระราชกรณียกิจที่สําคัญ 6 ด้าน

สําหรับพระราชกรณียกิจที่สําคัญ ขอ จําแนกออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านการส่งเสริมการศึกษาหลักคําสอนศาสนาอิสลามพระราชทานพระราชดําริและพระราชทรัพย์ให้มีการแปลความหมายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย โดยมีนายต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ในราวก่อน พ.ศ.2505 ท่านกงสุลแห่งประเทศไทยซาอูดิอาระเบีย ได้เข้าเฝ้าฯ และถวายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับบภาษาอังกฤษ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทอดพระเนตรและทรงศึกษา ก็มีพระราชดําริว่า ควรจะได้มีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาไทย เพื่อชาวมุสลิมจะได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเป็นเกียรติเป็นศักดิ์แก่ประเทศชาติจึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จุฬาตราชมนตรี (นายด่วน สุวรรณศาสน์) แปลความหมายของอัลกุรอาน จากพระมหาคัมภีร์ฉบับภาษาอาหรับโดยตรงในระหว่างที่อดีตจุฬาราชมนตรี ถวายงานด้านภาษาด้วยความอุสาหะวิริยะ โดยใช้เวลาแปลและเรียบเรียงความหมายเป็นเวลานานถึง 2 ปีทุกครั้งที่เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสอบถามถึงความคืบหน้าและอุปสรรค ปัญหา ด้วยความเป็นห่วง ทั้งยังมีพระราชประสงค์ที่จะให้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่อีกด้วย จนกระทั่งใน พ.ศ.2511 จึงได้ จัดพิมพ์อัลกุรอานฉบับความหมายภาษาไทยตอนแรก โดยพิมพ์ถวายตามพระราชดําริซึ่งได้พระราชทานแก่มัสยิดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

จากนั้นในเวลาต่อมา จึงมีการจัดพิมพ์พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทยจนเสร็จสมบูรณ์และพระราชทานไปยังมัสยิดทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร การแปลความหมาย พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาต่างประเทศนั้น มิใช่งานที่จะทําได้ ง่ายๆ ผู้แปล ผู้ให้ความหมายจะต้องมีความเชี่ยวชาญ ทางด้านภาษาและวิชาการประกอบอื่นๆ อีกมากมายพระราชดําริดังกล่าวนับเป็นความสําเร็จประการหนึ่งในวงการวิชาการศาสนาอิสลาม ที่ทุกคนจะต้องจดจําตลอดไป และเป็นประวัติศาสตร์ที่จะต้องจารึกไว้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะ แต่มีพระราช ดําริให้แปลคัมภีร์ของศาสนาอื่น นับเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลกนี้

2. ด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม

– การเสด็จพระราชดําเนินในงานเมาลิดกลาง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราช ดําเนินในงานเมาลิดกลางซึ่งเป็นงานสําคัญของชาวไทยมุสลิมและพระราชทานพระราช ดํารัสอันน่าประทับใจ พสกนิกรชาวไทยมุสลิมต่างชื่นชมและปลื้มปิติเป็นอันมากและทําให้ศาสนิกอื่นตระหนักถึงความสําคัญของศาสนาอิสลาม ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างศาสนา ต่างให้เกียรติซึ่งกันและกันมากขึ้น ภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเป็นองค์ประธานในพิธีเมาลิดกลาง และในระหว่างที่อ่านประวัติพระศาสดาสดุดีพระศาสดามูฮัมหมัดนั้นประทับยืนเพื่อเป็นเกียรติ แด่พระศาสดา ชาวไทยมุสลิมต่างประทับใจยิ่งและไม่อาจลืมเลือนได้กล่าวได้ว่าทรงเป็นตัวอย่างแก่ชนต่างศาสนาและเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เป็นประธานพิธีเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และหลังจากนั้นก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ผู้แทนพระองค์เสด็จฯ ในงานเมาลิดกลางจน ถึงทุกวันนี้

– พระราชทานพระราชดําริให้รัฐบาลจัดสร้างมัสยิดกลางประจําจังหวัดต่างๆ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งได้มีการจัดสร้างอย่างประณีต สวยสง่า เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่ประเทศ เสด็จพระราชดําเนินไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดมัสยิด ด้วยพระองค์เอง

เมื่อปี 2533 พระราชทานที่ดิน 6 ไร่ ในการ สร้างมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน ตําบลสามพระยา อําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาเมื่อปี 2539 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างมัสยิดหลังใหม่ นับว่าเป็นมัสยิดแห่งแรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราช ทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นปฐมและอิหม่าม (นายซบ นาคอนุเคราะห์) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้วเสร็จ เมื่อปี 2542

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536 เสด็จฯ มัสยิดกลางปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง มีพระราชปรารภว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะจุคนได้น้อยเมื่อเทียบกับปริมาณผู้มาประกอบศาสนกิจ น่าจะขอให้รัฐบาล ช่วยขยายต่อเติมให้กว้างขวางขึ้น จึงได้มีการขยายต่อเติมจนเสร็จสมบูรณ์ในอีก 3 ปีต่อมา

3. ด้านการส่งเสริมการศึกษาของชาวไทยมุสลิม

แต่เดิมเยาวชนชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการศึกษาภาคสามัญอย่างสูงเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นภาคบังคับ แล้วเข้าเรียนภาคศาสนา เนื่องด้วยผู้ปกครองเกรงว่าบุตรหลานตนจะไม่รู้ศาสนา ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้นักเรียนจึงต้องไปอยู่กับโต๊ะครูช่วยทําอาชีพและเรียนหนังสืออย่างไม่มีหลักสูตรว่าจะต้องใช้เวลาเรียนกี่ปีด้วยเหตุนี้ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่จึงถนัดแต่ภาษาท้องถิ่น ไม่สามารถเขียนอ่านภาษาไทยและใช้ภาษาไทยในการติดต่อกับราชการได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยเรื่องการศึกษาของชาวไทยมุสลิมเป็นอันมาก จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ หาทางส่งเสริมและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นระบบขึ้น ด้วยการส่งครูเข้าไปสอนในภาคสามัญ ทั้งยังจัดศึกษาดูงานด้านศึกษาในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง โรงเรียนปอเนาะต่างๆ ก็เริ่มมีการปรับปรุงและพัฒนาขึ้นเป็นลําดับ มีการคัดเลือกโรงเรียนที่มีการบริหารการเรียนการสอนดีเด่น เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลเป็นประจําทุกปีนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2512 เป็นต้นมา

ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มุสลิมทุกคนได้รับการส่งเสริม ด้านการศึกษาอย่างแท้จริงโดยมีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีหรือข้าราชการ ระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวง มหาดไทยอยู่เสมอ ถึงผลการดําเนินงาน ด้านการศึกษาของพสกนิกรชาวมุสลิม ทรงทราบว่าในชุมชนมุสลิมนั้น โอกาสทางด้านการศึกษา บางท้องที่ถูกจํากัดด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและความยากไร้กันดารห่างไกล ทรงแนะนําให้รัฐบาล จัดงบประมาณอุดหนุนทางด้านการสอนศาสนาอิสลามและด้านสามัญแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ให้รัฐบาลจัดทุนการศึกษาให้เยาวชนมุสลิมสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแก่นักเรียน ที่จบมัธยมปลายเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน เป็นต้น ปัจจุบันนักเรียนปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นนักเรียนที่มีคุณภาพ มีการศึกษาทั้งภาคสามัญและภาคศาสนาควบคู่กันไป จนสามารถเข้าศึกษาต่อระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยได้เป็นการยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น ทําให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา สัมฤทธิ์ผลตามพระราชประสงค์จึงนับว่าเป็นพระราชกรณียกิจที่มีความสําคัญยิ่งต่อลูกหลาน ชาวไทยมุสลิม

4. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยมุสลิมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทรงส่งเสริมอาชีพที่มีในจังหวัดนั้นๆ ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่โดยชาวไทยมุสลิมต่างได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในด้านการหาเลี้ยงชีพเป็นอันมาก พระราชโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริโครงการส่งเสริมอาชีพ ทรงหาวิธีช่วยแก้ปัญหา ทรงแนะนําและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ทรงสนับสนุนให้มีโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดําริทุกภูมิภาค ศูนย์ที่ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ตําบลสามพระยา อําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรีศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ อําเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ทําให้มีแหล่งอาชีพ และได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นตามลําดับ จนราษฎรชาวไทยมุสลิมสามารถที่จะยกระดับฐานะครอบครัวให้ดีขึ้นและมั่นคงยิ่งขึ้นได้

นอกจากนี้ยังเสด็จฯ ในงานสังคมมุสลิม เช่น เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน การกุศลของสมาคมสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทย และทรงรับมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกําพร้าสตรีไทยมุสลิมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นต้น

5. ด้านการส่งเสริมบริหารกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

– จุฬาราชมนตรี

– คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

โดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลได้ตรากฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามขึ้นใช้เป็นกรณีพิเศษในประเทศไทย คือ กฎหมายว่าด้วยครอบครัวมรดก ประกาศใช้เฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

1. กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม

1.) พระราชกําหนดว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2488 และ พ.ศ.2491

2.) พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490

3.) พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524

4.) การตั้ง “กองทุนสําหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์” พ.ศ.2549

6. ด้านการส่งเสริมยกย่องบุคลากรศาสนาอิสลาม

การแต่งตั้งยกย่องเชิดชูเกียรติผู้นําศาสนาอิสลาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริมสนับสนุนยกย่องผู้นําอิสลาม โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และดาโต๊ะยุติธรรม เพื่อบริหารงานด้านศาสนา การพิจารณาปัญหา ศาสนา โดยเฉพาะคดีครอบครัวและมรดกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทําให้งานดําเนินไปอย่างมีระบบ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเข็มพระปรมาภิไธยให้ประดับตามตําแหน่งที่แต่ละบุคคลมีหน้าที่ สําหรับดาโต๊ะยุติธรรมก็พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายตุลาการ

การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่สตรีชาวมุสลิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และแต่งตั้งสตรีชาวมุสลิมที่ประกอบคุณงามความดีและอุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์

จากปาฐกถาพิเศษของนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมิน ทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อชาวไทยมุสลิมในทุกๆ ด้านทั้งด้านศาสนา การศึกษา ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ และทรงเสด็จพระราชดำเนินให้มุสลิมเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ด้วยมุ่งหวังให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถ ปฏิบัติตนเป็นคนดีตามหลักศาสนาได้อย่างไม่มี อุปสรรค

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มุสลิมไทยน้อมรำลึกมิลืมเลือน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่จะสถิตย์ในหัวใจปวงชนชาวไทยมุสลิมตลอดไป

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2559