เช็กไทม์ไลน์! หลัง พ.ร.ป. พรรคการเมือง และ การเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้

198

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ถือว่าการเมืองเดินเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มร้อยแล้ว

หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องการแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งภายหลังจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่2) พ.ศ.2566 และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีผลใช้บังคับ นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี สามารถยุบสภา หรือ จะให้สภาอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม ก็จะไม่มีปัญหา ว่าไม่มีกฎหมายใช้ในการจัดการเลือกตั้งอีกต่อไป

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) กกต.จะเสนอระเบียบ ว่าด้วยการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ส.ส เข้าสู่ที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณาและออกเป็นระเบียบโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้ กกต.ประจำจังหวัดดำเนินการแบ่งเขตการเลือกตั้งโดยขั้นตอนหลังจากนี้ กกต.จะต้องทำการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 400 เขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 27 กำหนดให้ กกต.ต้องส่งรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งไปให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กับ พรรคการเมืองได้แสดงความเห็น

ซึ่งการพิจารณาเลือกรูปแบบการแบ่งเขตของ กกต. ซึ่งจะใช้เวลารวม 25 วันและอีก 20 วัน เมื่อได้ดําเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้เขตเลือกตั้งนั้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่

สำหรับพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการกระบวนการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส.หรือ ไพรมารีโหวต และ หากเริ่มนับระยะเวลา 45 วันที่กกต.ขอในการเตรียมการสำหรับการจัดการเลือกตั้งจะพบว่าตั้งแต่ 15 มีนาคม เป็นต้นไป หากจะมีการยุบสภาหรือรัฐบาลอยู่ครบวาระวันที่ 23 มีนาคมก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของการจัดการเลือกตั้งแล้วสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง คงจะได้เตรียมแผนการเลือกตั้งกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 แล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ โดยเบื้องต้น กกต. กำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และ เปิดรับสมัครในวันที่ 3-7 เมษายน 2566 แต่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันว่า นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาก่อนหมดวาระ มีข่าวหนาหูว่า อาจจะยุบสภาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก หรือ ถ้าจะลากไปอีกหน่อยก็ไม่น่าจะเกิน 10 มีนาคม

กล่าวถึงกรณีการที่สภาอยู่จนครบวาระ ก็ต้องมีการเลือกตั้งใน 45 วัน ลองมาเช็กไทม์ไลน์ กันดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ เพื่อนับถอยหลังเลือกตั้ง 2566 โดยกำหนดการตามกรอบเวลาของกฎหมาย ที่กำหนดไว้ชัดเจน มีดังนี้

-23 มีนาคม ครบวาระสภาฯ อายุของส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ ม.102 ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน
-30 มีนาคม วันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้
-31 มีนาคม กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและประกาศกำหนดวันรับสมัคร
-3-7 เมษายน วันเปิดสมัครรับเลือกตั้ง
-14 เมษายน กกต.จะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
-26 เมษายน วันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง และเพิ่ม-ถอนชื่อ
-30 เมษายน วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า
-1-6 พฤษภาคม แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันก่อนหย่อนบัตร
-7 พ.ค. กกต. กำหนดให้เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้ง
-8-14 พฤษภาคม กกต.เปิดให้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันหลังหย่อนบัตร

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ หาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจยุบสภาฯ ในวันสุดท้ายของสภาผู้แทนฯ คือวันที่ 23 มีนาคม 2566 ก็จะทำให้กรอบระยะเวลาในการกำหนดวันเลือกตั้งจะไปสิ้นสุดในวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566

ดังนั้นถ้าหากใช้วิธีนี้ วันเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดก็น่าจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566 ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกทางนี้หรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศบนเวทีปราศรัยที่ชุมพรแล้วว่า ยังไม่มีการยุบสภาในเวลานี้ แต่ไม่ได้บอกนะว่าจะไม่มีการยุบสภา !

 

#นายหัวไทร