2 เม.ย. วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพฯ เจ้าฟ้านักอ่าน เจ้าหญิงนักเขียน

243

2 เม.ย. วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพฯ เทิด!เจ้าฟ้านักอ่าน เจ้าหญิงนักเขียน ทรงพระปรีชา!! นิพนธ์บทกวี “กษัตริยานุสรณ์” ตั้งแต่อยู่เพียงชั้น มศ.5! จนทำให้ คำว่า “รักชาติ ยอมสละแม้ชีวี” ติดหู ติดตา คนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดสนพระทัยในการอ่านอย่างมาก ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงทรงมีพระสมญาอีกอย่างหนึ่งว่า “หนอนหนังสือ” ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จประทับ ณ ที่ใด พระองค์จะทรงมีหนังสือติดพระหัตถ์อยู่เสมอ แม้จะเสด็จประทับในรถยต์หรือเครื่องบินก็ตาม

พระองค์ทรงมีพระปรีชาในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงถูกยกย่องให้เป็นนักกวีนิพนธ์ซึ่งพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในเรื่องการแต่งบทกวี ถือได้ว่าทรงเป็นเจ้าฟ้าแห่งบทกวีของไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงแต่งพระราชนิพนธ์บทกวีไว้มากมาย อาทิเช่น กษัตริยานุสรณ์ กาลเวลาที่ผ่านเลย ช้างสำคัญ 3 เชือก ความคิดคำนึง เป็นต้น

ซึ่งกษัตริยานุสรณ์เป็นพระราชนิพนธ์ร้อยกรอง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยใช้เค้าโครงจากเรื่อง ไทยรบพม่า พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอธิบายไว้ในคำนำของหนังสือกษัตริยานุสรณ์ว่า …ขณะที่เริ่มเขียนเรื่อง “กษัตริยานุสรณ์” นี้ ข้าพเจ้ากำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนจิตรลดา ในวิชาการประพันธ์ อาจารย์สั่งให้แต่งโคลงส่งบ่อยๆ จึงมีความคิดอยากแต่งบทประพันธ์เป็นลิลิตหรือบทประพันธ์ คำโคลงสักเรื่องหนึ่งแต่ยังนึกเรื่องที่จะแต่งให้ถูกใจไม่ได้

พอดีเป็นเวลาที่ ข้าพเจ้าได้โดยเสด็จพระราชดำเนินในการแปรพระราชฐานไปจังหวัดเชียงใหม่ ในเครื่องบินท่านหญิงเป็น “เสมียน” เพราะตอนนั้น “น.ม.ส.”(พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส หรือ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ทรงนิพนธ์เรื่อง “สามกรุง” ตอนนั้น “น.ม.ส.” ประชวรจ้องมองอะไรไม่เห็น พอไปถึงเชียงใหม่ท่านหญิงประทาน “สามกรุง” ข้าพเจ้า ๑ เล่ม

ข้าพเจ้าเริ่มอ่านสามกรุงไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็นึกออกว่าโคลงที่นึกอยากจะแต่งนั้นควรเป็นเรื่อง “อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี” ซึ่งเป็นบทยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงวางโครงเรื่องลงในสมุดแล้วใช้เค้าโครงจากหนังสือ ไทยรบพม่า…

การแต่งไม่ได้แต่งรวดเดียวจบ แต่แต่งเรื่อยไปวันละบท สองบทตามแต่จะคิดโคลงออก ซึ่งมักเป็นเวลาแปลกๆ เช่น เวลานั่งรถบ้าง เวลาคุยกับใครๆ หรือเวลาเข้านอน ตอนแรกๆไปได้ช้าเพราะต้องเตรียมสอบ ม.ศ. ๕ พอเสร็จแล้วแต่งตามสบาย โดยอ่าน “สามกรุง” ประกอบไปด้วย นับว่าเป็นหนังสือเล่มเดียวที่ใช้ประกอบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และโคลงที่ข้าพเจ้าแต่ง ก็บังเอิญเสร็จตอนมหาวิทยาลัยเปิดพอดี เมื่อจบแล้วได้ให้อาจารย์กำชัย ทองหล่อดู อาจารย์กรุณาตั้งชื่อให้ว่า กษัตริยานุสรณ์…

ข้าพเจ้านำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาแทนการถวายรูปเขียนของขวัญอย่างที่เคย ท่านโปรดโคลงบทที่ขึ้นต้นว่า “รักชาติ ยอมสละแม้ชีวี” มากที่สุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.พวงร้อย อภัยวงศ์ ประพันธ์ทำนองเพลงที่ชื่อว่า ดุจบิดามารดร ใช้ร้องมาจนทุกวันนี้…