‘ต่างจากกลุ่มคนที่อ้างตนเป็นชาวสะละฟีย์ในปัจจุบันที่รับนิสัยแบบ”ข้าทำถูกแต่เพียงผู้เดียว คนอื่นที่เห็นต่างจากข้า ล้วนเป็นพวกบิดอะฮหรือไม่ก็มุชริก” มาจากอาจารย์ที่มีวิธีคิดแบบนั้น จึงพร้อมจะถล่มโจมตีผู้อื่นที่เห็นต่างด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไม่มีการให้เกียรติต่อผู้รู้อื่นใดนอกจากผู้รู้ในกระแสธารความคิดแบบตกขอบของตัวเองเท่านั้น‘
บทความโดย ดร.วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ
ไปตุรกีเที่ยวนี้ (2-10 เม.ย.)แม้จะมีภารกิจเรื่องการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหวเป็นหลัก แต่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ก็ยังมีโอกาสละศีลอดกับลูก ๆ นักศึกษาไทยในอิสตันบูล และได้ให้โอวาทไว้สั้น ๆ ว่ามุสลิมตุรกีส่วนใหญ่ปฏิบัติตนในทางฟิกฮตามแนวทางของอิหม่ามอบูฮานีฟา หรือ ฮานาฟี (ฮ.ศ. 80-150) หนึ่งในอิหม่ามของอะฮลิสซุนนะฮวัลญะมาอะฮ ผู้ซึ่งเป็นฟะกีฮสะละฟีย์ตัวจริง เพราะท่านศึกษาหาความรู้จากตาบิอีนโดยตรง เช่น เชคฮัมมาด อบูสุลัยมาน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอิบรอฮีม อันนัคอีย์และอัชชะอฺบีย์ อีกทีหนึ่ง โดยบรมครูสองคนหลังเป็นผู้ศึกษาหาความรู้โดยตรงจากท่านอลี อบีฏอเล็บและท่านอับดุลลอฮ มัสอูด ผู้เป็นซอฮาบะฮของบรมศาสนทูต นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮอลัยฮิวะซัลลัม
อิหม่ามฮานาฟี เป็นผู้รู้จริงในศาสตร์สาขาต่าง ๆ แต่ท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับวิชาฟิกฮ จนกลายเป็นผู้วางรากฐานของสำนักฟิกฮ(มัซฮับ)ฮานาฟี ซึ่งแพร่หลายไปทั่วโลกอิสลาม ท่านเป็นคนถ่อมตนและสมถะ อีกทั้งมีใจโอบอ้อมอารีอย่างมาก แต่ที่สำคัญการเติบโตท่ามกลางกระแสความคิดต่าง ๆ และความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจจากการเป็นพ่อค้าของท่านช่วยให้ท่านมีความลุ่มลึกและเต็มไปด้วยสุขุมคัมภีรภาพ เมื่อท่านตอบโต้ประเด็นความคิดที่ผิดเพี้ยน ท่านจะมีความแหลมคมจนยากที่ใครจะต่อกรได้
อิหม่ามชาฟิอี ซึ่งเกิดในปีที่ท่านอาบูฮานีฟาเสียชีวิตและเป็นผู้วางรากฐานสำนักกฎหมายชาฟิอี กล่าวยกย่องอาบูฮานีฟาว่า เราต่างเป็นหนี้บุญคุณและต้องพึ่งพาอาศัยอาบูฮานีฟา
แม้จะมีความเห็นต่างกันจำนวนมากระหว่างอิหม่ามผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่าน แต่การให้เกียรติแก่กันและกันเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของผู้รู้ชาวสะลัฟตัวจริง
ต่างจากกลุ่มคนที่อ้างตนเป็นชาวสะละฟีย์ในปัจจุบันที่รับนิสัยแบบ”ข้าทำถูกแต่เพียงผู้เดียว คนอื่นที่เห็นต่างจากข้า ล้วนเป็นพวกบิดอะฮหรือไม่ก็มุชริก” มาจากอาจารย์ที่มีวิธีคิดแบบนั้น จึงพร้อมจะถล่มโจมตีผู้อื่นที่เห็นต่างด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไม่มีการให้เกียรติต่อผู้รู้อื่นใดนอกจากผู้รู้ในกระแสธารความคิดแบบตกขอบของตัวเองเท่านั้น
อิหม่ามอาบูฮานีฟา ก็เป็นหนึ่งในผู้รู้ที่ถูกโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มตกขอบดังกล่าว
ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริงแล้ว หากจะสืบสายความคิดแบบสะละฟีย์ในปัจจุบันไปให้ถึงชาวสะลัฟในยุค 300 ปีแรก ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าจะเอาท่านดาวูด อัซซอฮิรีย์ ซึ่งเกิดในปี ฮ.ศ.255 เป็นอาจารย์ ก็ควรเข้าใจว่าแนวคิดแบบซอฮิรียะฮได้ล้มหายไปจากโลกอิสลามนับแต่สิ้นเชคดาวูดแล้ว ก่อนจะถูกฟื้นฟูอีกครั้งโดยอิบนุตัยมียะฮ ผู้ซึ่งมีชีวิตในศตวรรษที่ 8 ซึ่งหมายความว่าห่างกับเชคดาวูดถึงประมาณ 500 ปี !!!
สาแหรกความคิดจึงขาดตอนไปเพียงยุคอิบนุตัยมียะฮ และแนวคิดแบบอิบนุตัยมียะฮก็ขาดตอนยาวนานจนมาถึงยุคเชคมุฮัมมัด อิบนุอับดิลวะฮาบ ในฮิจรอฮศตวรรษที่ 12 ซึ่งก็ห่างจากอิบนุตัยมียะฮถึง 400 ปี !!!
ถ้าจะอ้างสะลัฟ ก็ควรเรียนรู้อย่างมีสายสาแหรกความคิดไปถึงสะลัฟตัวจริง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงจะรับเอานิสัยใจคอที่ถ่อมตนและให้เกียรติผู้รู้มาด้วย
แต่สะลัฟแบบจับฉ่ายนี่ สร้างปัญหามากกว่าประเทืองปัญญา