เมื่อสร้างกรุงธนบุรีทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีชุมชนมุสลิมที่มีรากเหง้ามาจากชุมชนมุสลิมจากกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิมอยู่อาศัยอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะชุมชนบริเวณริมคลองบางกอกใหญ่และบางกอกน้อย (ซึ่งรู้จักผู้คนกลุ่มนี้ในนามแขกเทศหรือแขกแพ) นอกเหนือไปจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยยังมีมัสยิดและกูโบร์ที่เป็นเสมือนเสาหลักของความเป็นชุมชนมุสลิมซึ่งสะท้อนถึงตระกูล เผ่าพงศ์ที่มาที่ไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ผู้นำในชุมชนทางฝั่งธนบุรีส่วนใหญ่เป็นขุนนางข้าราชการราชสำนักในระดับสูง ชั้นเจ้าพระยา เช่น เจ้าพระยาจักรี (หมุด), เจ้าพระยาราชวังสันเสนีย์ (มะหมูด) ขุนนางในสมัยกรุงธนบุรี, ชั้นพระยา เช่น พระยาราชบังสันคนต่างๆ พระยาจุฬาราชมนตรี ฝ่ายหญิงก็เป็นพระสนมหลายท่าน รวมทั้งเจ้าจอมมารดาเรียมหรือสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งขุนนางในระดับทั่วไป เช่น ขุนและหลวงอีกมากมาย
ชุมชนมุสลิมที่ฝั่งธนบุรีจึงเป็นชาวสยามที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีรากเหง้าสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียเป็นส่วนใหญ่
สืบเนื่องมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสร้างเมืองใหม่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีการขุดคลองเมืองขยายเพิ่มเติมจากคลองเมืองในสมันกรุงธรบุรีคือคลองเมืองชั้นในสุด เป็นคลองเมืองแห่งใหม่ที่ทำให้เมืองขยายพื้นที่ขึ้นอย่างชัดเจน ในช่วงระยะต้นกรุงนี้ มีการศึกสงครามกับทางปาตานีเพื่อควบคุมให้เป็นรัฐในบรรณาการเช่นเดิมเมื่อครั้งยังเป็นกรุงศรีอยุธยา จึงมีการกวาดต้นผู้คนพลเมืองชาวมลายูมุสลิมเข้ามาตั้งบ้านเรืออยู่อาศัยภายในพระนครส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งอยู่ทางด้านนอกเมืองและกระจัดกระจายไปตามลำคลองขุดใหม่ทางตะวันออกอีกหลายแห่ง ชุมชนในครั้งต้นกรุงเทพฯ แตกต่างจากชุมชนมุสลิมเดิมทางฝั่งธนบุรีเพราะส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองปาตานีและบริเวณเมืองใกล้เคียงที่ถูกกวาดต้อนรอนแรมมาอยู่ยังเมืองหลวงชั้นในและพื้นที่ขยายของเมืองหลวงใหม่
ถือเป็นหนึ่งในกำลังพลเมืองที่ร่วมสร้างพระนครในครั้งต้นกรุงฯ ไม่ต่างไปจากผู้คนที่ถูกอพยพเคลื่อนย้ายมาจากหัวเมืองประเทศราชอื่นๆ เช่น ชาวลาว ชาวทวาย ชาวมอญ ชาวเขมร ชาวจาม ชาวญวน และชาวจีนที่อพยพโยกย้ายและตั้งถิ่นฐานปะปนกันอยู่กับคนไทยสยาม ซึ่งต่างล้วนมีบทบาทในการสร้างพระนครที่กรุงเทพมหานคร เมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างยิ่ง เพราะเป็นทั้งเมืองที่สร้างขึ้นใหม่และเป็นเมืองท่าค้าขายที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
แผนที่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๔๗๕ แสดงตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนมุสลิมในย่านเก่าของกรุงเทพมหานคร
ประวัติศาสตร์และมูลเหตุของการโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชนมุสลิมในพระนคร
เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาล่มสลายเมื่อทศวรรษที่ ๒๓๑๐ และเริ่มสร้างบ้านสร้างเมืองใหม่บริเวณศูนย์กลางอำนาจเดิม ที่ราบลุ่มปากน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางของสยามประเทศครั้งนั้น ถือเป็นการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินที่ระบบการปกครองบริหาร ณ ศูนย์กลางที่ใช้การปกครองแบบรัฐโบราณแบบประเทศราชล้มเหลวไปแล้วนั้นให้ฟื้นกลับคืนขึ้นมาใหม่
ในช่วง ๑๕ ปีแห่งแผ่นดินกรุงธนบุรี โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พระเจ้าแผ่นดินที่มีเชื้อสายจีนอยู่มากกว่าครึ่งนั้น ต้องส่งกองทัพไปปราบชุมนุมหรือกลุ่มการเมืองก๊กต่างๆ ที่เคยอยู่ในพระราชอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองนอกพระราชอาณาเขตที่เคยเป็นเมืองขึ้นแต่เดิม ถือเป็นภาระการสงครามตลอดรัชกาลในความพยายามกอบกู้บ้านเมืองที่ล่มสลายไปแล้วให้กลับฟื้นคืนกลับ เพื่อรวบรวมบ้านเมืองขึ้นเป็นรัฐที่สามารถบริหารราชการแผ่นดินให้ได้เช่นเดิมอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนปาตานี กลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี นั้น ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐแบบโบราณอีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ เป็นพระนครใหม่ มีศึกกับพม่าหลายครั้งตั้งแต่ ศึกเก้าทัพ ศึกท่าดินแดงและสามสบ ซึ่งพม่ามีการบัญชาการรบซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางตอนใต้แถบ ทวาย มะริด ตะนาวศรี และส่งทัพเข้ามาทางหัวเมืองทางใต้จึงมีการสู้รบทางหัวเมืองทางใต้และเรื่อยมาจนถึงหัวเมืองมลายูในคราวนั้นเอง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทซึ่งใช้สงขลาเป็นที่มั่นก็ส่งทัพเรือไปยังหัวเมืองปาตานีซึ่งเป็นภารกิจทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากการล่มสลายของบ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาเมื่อ ราว พ .ศ. ๒๓๒๘-๒๓๒๙
“รัฐปาตานี” เคยอยู่ในฐานะเมืองประเทศราช แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายเสียแล้วจึงเป็นเหตุขัดแย้งเรื่องการไม่ส่งเครื่องบรรณาการในฐานะประเทศราชแก่รัฐที่เกิดใหม่แต่สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาที่กรุงเทพฯ สงครามครั้งนั้นจึงได้นำปืนใหญ่พญาตานีมาไว้ ณ กรุงเทพฯ ที่นำมาใช้งานรวมกับปืนใหญ่ที่หล่อใหม่ และได้นำเอาเชื้อพระวงศ์สุลต่านปาตานีและกวาดต้อนครัวจากเมืองปาตานีมาพร้อมปืนใหญ่พญาตานี โดยกำหนดให้ผู้คนเชื้อสายเจ้าเมืองปาตานีตั้งรกรากอยู่ที่แถบหลังวัดอนงคารามหรือบริเวณสี่แยกบ้านแขก ฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ไม่ไกลนักกับแถบกลุ่มชุมชนชาวมุสลิมที่เป็นขุนนางเดิมจากกรุงศรีอยุธยาและเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลเมื่อต้นกรุงฯ (“ปาตานี..สุลต่านมลายู เชื้อสายฟากิฮฺ อาลี มัลบารี” โดย อารีฟิน บินจิ อัล-ฟอฏานี (หรือพล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม) เขียนเรื่องสาแหรกตระกูลเจ้าเมืองปาตานีเดิมในยุคนั้น เชื้อสายและถิ่นฐานในกรุงเทพฯและปริมณฑล) แต่การตั้งถิ่นฐานภายในกำแพงพระนครนั้นยังไม่มีบันทึกที่แน่ชัดแต่อย่างใดว่ามีหรือไม่ในครั้งต้นรัชกาลที่ ๑
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไม่มีเอกภาพของการเมืองภายใน อันเนื่องมาจากเมืองใหญ่คือ ปาตานีได้ถูกตีแตก บ้านเมืองเสียหายและถูกกวาดต้อนผู้คนกระจายไปอยู่ตามหัวเมืองภาคใต้หลายแห่ง โดยเฉพาะทางนครศรีธรรมราช เมืองมลายูทางตอนเหนือทั้งหลายที่เป็นรอบต่อติดกับหัวเมืองสยามนั้นก็ไม่ได้มีความสงบภายในแต่อย่างใดประการหนึ่ง และมีความคิดเสมอว่าควรจะแยกตนเป็นอิสระจากสยามจึงเกิดการสงครามกันอยู่บ่อยครั้ง จนราว พ.ศ. ๒๓๕๑-๒๓๕๒ ปลายรัชกาลที่ ๑ ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทางสยามจึงจัดการแบ่งแยกรัฐปาตานีเดิมออกป็น ๗ หัวเมืองและให้ขึ้นตรงกับเมืองสงขลาและเมืองนครศรีธรรมราชที่ผลัดกันควบคุมจนทำให้เกิดปัญหาในการปกครองในเวลาต่อมาจนกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อกองทัพครั้งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ภายหลังเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นที่สมุหพระกลาโหมและกรมท่าขวาเป็นแม่ทัพครั้งนั้นราว พ.ศ. ๒๓๗๕ สงครามกับไทรบุรีดำเนินมาจนถึง พ.ศ. ๒๓๘๒ หลังจากนั้นหัวเมืองมลายูจึงพอจะสงบบ้าง และกองทัพสยามนำเจ้าเมืองมลายูที่ไม่สวามิภักดิ์เข้ามาจำไว้พร้อมกวาดต้อนครัวจำนวนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองไทรบุรีหรือเคดาห์ เมืองกลันตัน ยะหริ่ง สตูล โดยมีบันทึกและความทรงจำจากคนเชื้อสายมลายูตามท้องถิ่นต่างๆ ว่า มีการกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากมาไว้ในบริเวณท้องถิ่นฟากตะวันออกที่เมืองเริ่มขยายตัวไปทางฉะเชิงเทรา ในช่วงรัชกาลนั้นจ้างแรงงานจีนขุดคลองบางกะปิและคลองแสนแสบเชื่อมต่อกับแม่น้ำบางปะกงเป็นเวลาถึง ๔ ปี อันเนื่องจากศึกสงครามใหญ่กับทางญวนในยุคนั้น แล้วคงนำชาวมลายูมุสลิมไปตั้งถิ่นฐานเพื่อสร้างชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อย ย่านนี้จึงเต็มไปด้วยชุมชนมุสลิมมากมายที่มีอาชีพพื้นฐานทางเกษตรกรรมมาก่อน ส่วนตัวเมืองฉะเชิงเทราบริเวณที่สวนและเมืองริมแม่น้ำนั้นก็กลายเป็นหัวเมืองที่มีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ
กล่องใส่คัมภีร์อัล กุรอ่าน ที่เพื่อนๆ เชื้อสายมลายูในพื้นที่ Facebook : Melayu in the past อ่านได้ความว่า
“เมื่อปี ๑๒๖๐ ฮ. (ปีมะโรง) Ibadul Hadi ได้บริจาคกุรอ่าน ๓๐ ญูซุอ์ พร้อมกล่องที่ถูกประดับมุก ลิลลาฮิ ตาอาลา”
ซึ่งเทียบกับพุทธศักราชราว ๒๓๘๗
สำหรับชาวมลายูที่น่าจะเป็นผู้มีความรู้หรือมีฝีมือทางช่างต่างๆ ที่อาจเคยอยู่ในราชสำนักเป็นข้าหลวงมาแต่เดิมที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งรัชกาลที่ ๓ ครั้งนั้นให้เข้าสังกัดที่อาสาจาม, โรงไหม และบางส่วนซึ่งมาจากเมืองระแงะไปสังกัดฝ่ายสังฆทาน ทำงานบุญให้กับเจ้าคุณตานี (เจ้าจอมมารดา กรมหมื่นสุรินทรรักษ์, เป็นพี่สาวต่างมารดากับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะกำเนิดเมื่อบิดายกทัพกลับมาจากราชการที่เมืองตานีครั้งรัชกาลที่ ๑, จดหมายหลวงอุดมสมบัติ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๔๕๘) และให้รวมกลุ่มอยู่อาศัยกับชาวมลายูในพระนครแถบใกล้โรงไหมหลวงที่ติดกับวัดชนะสงคราม อันเป็นอาณาบริเวณย่านของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ซึ่งในเวลาต่อมาจึงแยกออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตรอกศิลป์บ้าง ขยายมาทางถนนบ้านแขกหรือถนนตานี ทางตึกดินใกล้ตรอกบวรรังษี มีบางส่วนที่อยู่แยกออกไปนอกเมืองแถบริมคลองมหานาค ซึ่งมีกูโบร์สำหรับฝังศพเพียงแห่งเดียวในบริเวณนี้ เพราะชุมชนมุสลิมภายในเมืองชั้นในต้องนำศพออกมาฝังที่นี่ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกับชาวพุทธที่ต้องนำศพมาเผานอกอาณาบริเวณกำแพงเมืองและคูเมืองเมื่อแรกสร้างกรุงฯ เช่นกัน
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นับเป็นช่วงรัชกาลที่มีศึกสงครามมากและมีการเกณฑ์ครัวจากบ้านเมืองประเทศราชต่างๆ เช่น เข้ามาไว้เป็นแรงงานช่างชั้นสูงในพระนคร พร้อมทัพที่ยกกลับในศึกสงครามตามหัวเมืองประเทศราชมากมายเช่นกันในตลอดรัชกาล
ย่านมุสลิมในพระนคร
การนำชาวมลายูมุสลิมมาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนของขุนนางระดับผู้ใหญ่และพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังนั้น ในระยะแรกกลุ่มหรือปัจเจกบุคคลทั้งหลายนั้นมีฐานะ “ไพร่” ที่ขึ้นอยู่กับขุนนางท่านต่างๆ หรือแม้แต่กงสุลต่างชาติในยุคที่มีการบีบคั้นในทางอาณานิคมของภูมิภาคนี้ โดยไม่เว้นแม้แต่ชาวพระนครที่เป็นครัวที่ถูกนำมาจากหัวเมืองอื่นๆ เมื่อมาอยู่กับมูลนายและบ้านเมืองใหม่ก็มีการจัดระบบระเบียบการปกครองในระดับถึงตัวบุคคลเลยทีเดียว
ระบบเช่นนี้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจนเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล สร้างการปกครองแบบเทศบาล เริ่มให้สิทธิแบบปัจเจกและรวมถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและยกเลิกระบบการขายบุคคลลงไปเป็นทาสในกลุ่มฐานะที่ต่ำกว่าไพร่ลงไป เป็นต้น
คนมุสลิมจากหัวเมืองในรัฐปาตานีเดิม เมื่อถูกนำมาอยู่อาศัยในกำแพงพระนครโดยมีบันทึกอย่างชัดเจนครั้งรัชกาลที่ ๓ น่าจะขึ้นอยู่กับมูลนายในส่วนของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า โดยเฉพาะ “โรงไหม” ริมคลองหลอดที่เป็นคูเมืองเก่านั้นขึ้นอยู่กับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล บริเวณโรงไหมหลวงน่าจะอยู่บริเวณโรงเรียนข่าวทหารบกต่อเนื่องกับตรอกโรงไหมในปัจจุบัน
หลังจากทศวรรษที่ ๒๓๗๐-๒๓๘๐ ซึ่งมีการอพยพโยกย้ายชาวมลายูมุสลิมเข้ามาอยู่อาศัยยังภายในกำแพงพระนครอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นที่ด้านเหนือฝั่งคลองคูเมืองหรือคลองหลอดที่โรงไหมหลวงหน้าพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ชุมชนชาวมลายูมุสลิมก็คงขยายออกไปในพื้นที่อื่นๆ ที่พอสืบค้นร่องรอยได้ เพราะจากเอกสาร “สารบาญชี เล่ม ๑-๔ ของกรมไปรษณีย์กรุงเทพมหานคร” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ พอมองเห็นร่องรอยของชุมชนชาวมลายูมุสลิมในเขตกำแพงพระนครได้ว่า ขยับขยายมาอยู่ที่ใดบ้าง โดยกล่าวถึง “หมู่บ้านแขกข้างวัดชนะสงคราม” เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ารอบวัดชนะสงครามเคยมีการขุดคูคลองล้อมรอบวัด คลองด้านหนึ่งถูกถมกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนจักรพงษ์ คลองล้อมรอบวัดชนะสงครามนี้มีคลองขุดให้เชื่อมกับคลองหลอดหรือคลองคูเมืองชั้นแรกที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาได้ด้วย และยังมีคลองที่ขุดต่อจากคลองล้อมรอบวัดไปออกทางตลาดบางลำพูแล้วขนานไปกับถนนสิบสามห้างเชื่อมกับคลองบางลำภูบนหรือคลองคูเมืองชั้นกลางได้ด้วย คลองล้อมรอบวัดเหล่านี้ยังมีผู้จดจำได้ว่า แม่ค้าผลไม้จากสวนฝั่งธนฯ ยังเข้ามาขายผลไม้จากสวนที่ในตรอกสุเหร่าได้ (มานิดา แตงน้อย, อายุ ๙๐ ปี, ชุมชนตรอกสุเหร่า มัสยิดจักรพงษ์)
ซ้าย มัสยิดจักรพงษ์หลังนี้สร้างมาเกือบร้อยปีแล้ว
ขวา มานิดา แตงอ่อน ผู้อาวุโสเกือบจะสูงสุดของชาวตรอกสุเหร่า มัสยิดจักรพงษ์ ช่างทองและเกิดในตระกูลช่างทอง วันนี้อายุ ๙๐ ปีแล้ว
คลองล้อมรอบวัดชนะสงครามนี้ถูกถมให้กลายซอยรามบุตรีที่ล้อมรอบวัดชนะสงครามในปัจจุบันและเรื่อยมาถึงตรอกมะยมและซอยรามบุตรีในอีกฟากถนนจักรพงษ์ ผ่านถนนตานีและกลายเป็นเกาะกลางถนนที่กลายเป็นหลุมหลบภัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปัจจุบันทำเป็นห้องน้ำสาธารณะของกรุงเทพมหานคร
วัดชนะสงครามหรือวัดตองปุ เป็นวัดดั้งเดิมที่ชื่อวัดกลางนามาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงเทพฯ โดยตั้งชื่อวัดตองปุแบบเดียวกับที่กรุงศรีอยุธยาเคยมี สืบเนื่องในการเป็นวัดของคณะสงฆ์ในรามัญนิกายซึ่งเป็นกลุ่มกำลังสำคัญในการทำศึกฝ่ายพม่าเมื่อครั้งต้นกรุงฯ รวมทั้งเป็นวัดสำคัญในพระราชวังบวรสถานมงคล โดยมีการเก็บอัฐิของเจ้านายในสายวังหน้ารวมกันที่นี่ตั้งแต่เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ชุมชนที่อยู่รอบวัดชนะสงครามจึงมีหลายกลุ่ม เช่น บ้านเรือนของผู้ทำงานในวังหน้าตามริมคลองเชื่อมวัดชนะสงครามกับคลองหลอด ตรอกสะพานแดงรอบวัดชนะสงครามด้านหนึ่งมีบ้านเรือนขุนนาง โรงเลื่อยตั้งอยู่ บริเวณถนนวัดชนะสงครามหรือถนนจักรพงษ์มีวังเชื้อพระวงศ์วังหน้า บ้านเรือนขุนนาง ในกรมช่างต่างๆ ล่ามแปลภาษา เรือนค้าขายของต่างๆ มีทั้งคนไทยคนมลายูและจีนผูกปี้ดูจะเป็นย่านตลาดกรายๆ คนมลายูนั้นชื่อนำหน้า เช่น “ต่วนหะยี”, “โต๊ะ” และมีขุนนางที่รับราชการอยู่กรมช่างทอง คือ ขุนขจิตรังการ
ส่วน “หมู่บ้านแขกข้างวัดชนะสงคราม” ตามบันทึกในครั้งรัชกาลที่ ๕ น่าจะเป็นชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ในปัจจุบันที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่อยู่อาศัยของข้าราชการในวังหน้าและวังของกรมหลวงจักรเจษฎาและวังพระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศร์ในวังหน้าที่ร้างไปตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ ระบุว่ามีจำนวน ๔๘ หลังคาเรือน ในชุมชนมี “กะดีแขก” หรือบาแลหรือมัสยิดของชุมชนด้วย และเป็นบ้านเรือนของช่างทองและช่างรับทำทองรูปพรรณเสีย ๑๙ หลังคาเรือน มีหมอบ้านหนึ่ง ทอผ้าขาย ๒ บ้าน ผู้คนที่อยู่อาศัยหากเป็นฝ่ายชายจะมีชื่อนำหน้าขึ้นต้นด้วย โต๊ะ และโต๊ะหะยีที่ดูจะใช้เรียกผู้อาวุโสและผู้ที่อาจะเคยไปประกอบพิธีฮัจน์ เช่นโต๊ะซัน บุตรโต๊ะมะ, โต๊ะมาก บุตรนายมั่น, โต๊ะมะหะยะเลาะ ฯลฯ และยังมีการเรียกชื่อว่านายด้วย ส่วนฝ่ายหญิงขึ้นต้นด้วยอำแดงเช่นเดียวกับคนในพระนครอื่นๆ
ในหมู่บ้านแขกข้างวัดชนะสงครามนี้มีขุนนางอยู่บ้างในระดับหมื่น มีหม่อม มีหลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ รวมอยู่ด้วย ผู้คนที่เป็นช่างทองรับจ้างทำทองรูปพรรณแก่ชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้เป็นช่างทองหลวงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารจากแหล่งเดียวกันมีชื่อ “ถนนบ้านช่างพลอย” ที่แม้จะไม่มีข้อมูลบ่งบอกแน่ชัดว่าอยู่ที่ใด แต่น่าจะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงในย่านเดียวกัน เพราะผู้คนส่วนใหญ่มีมูลนายที่ขึ้นกับทางวังหน้าอยู่แทบทั้งสิ้น จำนวนบ้านกว่า ๖๖ หลังคาเรือน แต่มีบ้านร้างไป ๓ หลัง มีฉางข้าวหนึ่งแห่ง บ้านเรือนทำด้วยไม้เรือนชนิดต่างๆ เป็นส่วนใหญ่และตึก มีช่างทองหลวงและช่างเจียรไนพลอยที่เป็นขุนนางในกรมพระราชบวรฯ อยู่เรือนปั้นหยาบ้าง เรือนไม้กระดานบ้างและมีตำแหน่งในระดับคุณหลวง ท่านขุนอยู่หลายคน มีช่างฝีมือที่ทำทองและนากเป็นรูปพรรณหลายบ้าน และบ้านทอผ้าขายสองสามหลัง ชุมชนบ้านช่างพลอยนี้เป็นมลายูมุสลิมอย่างแน่ชัดอยู่หลายบ้านและดูท่าว่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของย่านบ้านแถบนี้
เมื่อตัดถนนเฟื่องนครจากปากคลองตลาด ผ่านบ้านหม้อ บ้านญวน สี่กั๊กพระยาศรี ผ่านวัดมหรรณพาราม และโรงเลี้ยงวัวหลวงตรงมาจนถึงริมกำแพงเมืองแถบบางลำพูใกล้วัดบวรนิเวศที่เรียกว่าถนนตะนาวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๐๗ ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนที่เป็นร่องรอยต่อเนื่องในชื่อถนนบ้านแขกหรือถนนตานีที่ตัดขวางระหว่างถนนตัดใหม่นี้กับถนนหน้าวัดชนะสงครามก็น่าจะเกิดขึ้นภายหลังและถนนเส้นนี้น่าจะเป็นถนนเดียวกับถนนบ้านช่างพลอยตามที่บันทึกไว้ในเอกสารของกรมไปรษณีย์
อนึ่ง เมื่อสัมภาษณ์ช่างแกะลายลงบนแหวนหรือแผ่นทองหรือเงินที่บ้านมัสยิดตึกดินในปัจจุบันคือ ประเสริฐ เจริญราชกุมาร (เสียชีวิตแล้ว, ข้อมูลสัมภาษณ์, อายุ ๘๙ ปี, ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘) เล่าข้อมูลที่มีผู้รู้อยู่น้อยคนแล้วว่า ตระกูลฝ่ายแม่ของตนเองนั้นสืบทอดเชื้อสายมาจากคนแถบ “โคกโพธิ์” แล้วถูกอพยพโยกย้ายมายังกรุงเทพมหานคร แต่เดิมชุมชนมัสยิดตึกดินในปัจจุบันมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แถวๆ “ตรอกศิลป์” ฝั่งใต้คลองหลอดวัดเทพธิดาฯ ทำเครื่องทอง ตลับพระ แหวนฝังพลอยสี เครื่องประดับกำไลต่างๆ และตีทองคำเปลว เหตุนี้จึงเรียกว่าตรอกศิลป์ โดยเล่าว่าแทบทุกบ้านจะมี “โต๊ะทำทอง” และเครื่องมือทำทอง บริเวณนั้นอยู่ใกล้กับ “ตึกดิน” ซึ่งเป็นสถานที่โล่งกว้างใช้สำหรับเก็บดินปืนหลวงมาตั้งแต่ครั้งสร้างกรุงฯ และดินปืนที่เป็นวัตถุอันตราย จึงสร้างออกมาไกลพระบรมมหาราชวังหน่อย แต่เมื่อมีการขยายตัวของเมือง สร้างวัดและบ้านช่องขุนนางและพ่อค้า ตึกดินก็ดูเหมือนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ตามแผนที่ พ.ศ. ๒๔๔๐ ยังมีการแสดงอาณาบริเวณของตึกดินที่กินพื้นที่ทั้งสองฝั่งของถนนราชดำเนินที่สร้างขึ้นอีกสองปีต่อมาบริเวณของตึกดินมีเขตจรดแนวคลองหลอดวัดราชนัดดา มาจนจรดแนวใกล้คลองหลังวัดบวรรังษี
ตรอกศิลป์นี้อยู่ใกล้กับวัดมหรรณพารามที่มีการกล่าวถึงกลุ่มบ้านช่างทองและช่างทองหลวงที่ตั้งอยู่หน้าวัดมหรรณฯ ด้วยหลายบ้านในเอกสารของกรมไปรษณีย์ ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มบ้านช่างทองและช่างทำทองต่างๆ ที่เป็นกลุ่มบ้านย่านดั้งเดิมของชาวมัสยิดตึกดินในปัจจุบันด้วย
เมื่อตัดถนนราชดำเนินก็ต้องเวนคืนที่ดินทำให้พื้นที่ของตึกดินถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนของถนนราชดำเนินกลาง ดังที่มีชื่อตรอกตึกดินและสะพานตึกดินใกล้กับคลองหลอดวัดเทพธิดาฯ และมัสยิดตึกดินและชุมชนตึกดินทางฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยาดังที่พบเห็นในปัจจุบัน ชาวบ้านที่เป็นช่างทองรูปพรรณต่างๆ ก็ถูกเวนคืนที่ดิน โดยได้รับพระราชทานที่ดินทดแทนในบริเวณดังกล่าวและย้ายมาสร้างบ้านเรือนที่ฝั่งเหนือของถนนราชดำเนิน
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามสร้างตึกสองฝั่งถนนราชดำเนินในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ต้องเวนคืนพื้นที่โรงเรียนสตรีวิทยาที่อยู่ริมถนนราชดำเนินฝั่งใต้มาสร้างไว้ ณ สถานที่ตั้งทุกวันนี้ กินพื้นที่ชุมชนมัสยิดตึกดินที่ถูกเวนคืนไปไม่น้อย โดยมีคลองคั่นซึ่งคลองนี้คนเก่าเล่าว่าเรือขนข้าวเปลือกยังเคยล่องเข้ามาได้ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ชุมชนบ้านเรือนที่มาปลูกกันในภายหลังและมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งไปบุกรุกทางน้ำสาธารณะด้วย
บน มัสยิดตึกดิน เริ่มสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถาวรหลังจากไฟไหม้ครั้งใหญ่ในชุมชน พ.ศ. ๒๕๒๕
ล่าง คุณตาประเสริฐ เจริญราชกุมาร ช่างทองคนสุดท้ายของชาวตึกดิน ผู้เพิ่งล่วงลับไปเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา
ชุมชนมัสยิดตึกดินในทุกวันนี้มีพื้นที่ไม่มากนักและอยู่ปะปะไปกับคนพุทธที่ต่อเนื่องมาจากแถบตรอกบวรรังษี หลังวัดรังษีสุทธาวาสที่มารวมกับวัดบวรนิเวศภายหลังในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นแนวคลอง อีกฝั่งหนึ่งเรียกว่า ตรอกบวรรังษี เคยมีขุนนาง ข้าราชการอยู่อาศัยและเติบโตกันที่นี่หลายท่าน แม้แต่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ก็เคยเล่าว่าเกิดที่ตรอกนี้เช่นเดียวกัน ในกลุ่มชาวบ้านที่นี่ทั้งชาวพุทธและมุสลิม บางบ้านยังประกอบอาชีพทั้งตีทองคำเปลว ทำทองรูปพรรณ เป็นช่างแกะลายดังที่คุณตาประเสิฐ เจริญราชกุมารทำเป็นอาชีพสืบต่อมาพร้อมกับคนในชุมชนอีกหลายท่าน ชุมชนตึกดินเคยมีเพียงบาแลไม้เป็นอาคารศาสนสกิจดั้งเดิม ต่อมาเมื่อชุมชนถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ราว พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงเริ่มสร้างมัสยิดเป็นอาคารตึกถาวรดังที่เห็นในปัจจุบัน
การเป็นช่างทองหลวงและช่างทองที่รับทำเครื่องทองรูปพรรณชนิดต่างๆ ให้กับผู้มีฐานะเพียงพอจะซื้อหาได้ และเป็นการทำทองแบบโบราณทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการปกครอง สังคมและเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ มีการสร้างโรงกษาปณ์ที่อยู่ติดกับถนนเจ้าฟ้าและบริเวณด้านหน้าคือคลองหลอดหรือคลองเมืองชั้นในสุดที่ขุดตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและด้านหนึ่งติดกับคลองล้อมรอบวัดชนะสงครามเพื่อผลิตเหรียญต่างๆ และต่อมาคือการผลิตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พนักงานช่างแกะและช่างทำเครื่องประดับเพชรพลอยและเครื่องประดับทองคำจึงเป็นชาวบ้านมุสลิมแถบมัสยิดจักรพงษ์และตึกดินจำนวนมาก เนื่องจากมีความชำนาญที่สืบทอดงานช่างฝีมือมาจากภายในชุมชนนั่นเอง แม้แต่คุณยายมานิดา แตงอ่อน ซึ่งเป็นคนทำเครื่องทองในบ้านที่สืบทอดมาจากคุณพ่อของคุณยาย ซึ่งรับงานในวังมาทำด้วยและทำงานโรงกษาปณ์มาก่อนก็ใช้งานฝีมือเหล่านี้สมัครเป็นข้าราชการในกองกษาปณ์ในยุคของคุณยายจนเกษียณอายุราชการ
ส่วนมัสยิดจักรพงษ์ถือเป็นอาคารมัสยิดเป็นหลังแรกแถบนี้และน่าจะเป็นสุเหร่าของชุมชนมาตั้งแต่เมื่อแรกสร้างชุมชนแล้วและมีการบริจาคที่ดินเพิ่มเติม จากที่เคยเป็นบาแลเรือนไม้ยกพื้นสูงเป็นอาคารตึก ลวดลายประดับต่างๆที่เป็นช่องลมล้วนเป็นงานฉลุจากไม้สักโดยช่างในบ้านที่ฝีมือชั้นครูทุกแผ่น ออกแบบเขึยนลายอยู่ในสายเลือด และมีเอกสารจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนว่าเปลี่ยนจากบาแลเรือนไม้เป็นสุเหร่าก่ออิฐถือปูนราว พ.ศ. ๒๔๔๑ และมัสยิดหลังที่เห็นในปัจจุบันมีอายุ ๙๓ ปีแล้ว ยุคนั้นคนสุเหร่าจักรพงษ์น่าจะมีฐานะดีมั่นคงกันมากเพราะเป็นช่างหลวงและข้าราชการกันโดยมาก
ชุมชนมุสลิมภายในเขตคลองเมืองพระนครนั้น แม้จะมีกุฎีหรือบาแลหรือมัสยิดก็ตาม แต่ก็ไม่มีสถานที่สำหรับฝังศพ เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่อาศัยภายในเมืองที่เป็นชาวพุทธ และไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสุดที่ต้องนำศพออกนอกเมืองทางประตูผีอาจจะเป็นประตูช่องกุดแห่งใดแห่งหนึ่งแถวถนนมหาไชยใกล้กับวัดสระเกศ แล้วไปเผาหรือฝังนอกเมือง
คนมุสลิมในเมืองที่มีอยู่สองแห่งใหญ่ๆ เช่นเดียวกัน คนจากมัสยิดตึกดินและจักรพงษ์ก็ต้องนำศพไปฝังที่กูโบร์มหานาคนอกเมือง และคงออกทางประตูผีเพื่อไปทางคลองมหานาคเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้หากไปเดินดูป้ายชื่อก็จะพบตระกูลเชื้อสายจากชุมชนมุสลิมภายในเมืองมาฝังที่มัสยิดมหานาคเป็นกลุ่มๆ นอกเหนือจากคนในชุมชนมหานาคเองและคนจากชุมชนที่ไม่มีกูโบร์บริเวณใกล้เคียง
ชุมชนนอกคลองเมืองบางลำภู-โอ่งอ่าง ที่เป็นคลองคูเมืองชั้นกลางที่ขุดตั้งแต่เมื่อแรกสร้างพระนครในรัชกาลที่ ๑ ด้านนอกก็ยังมีชุมชนแบบนอกเมืองกึ่งชนบทที่ยังทำเกษตรกรรม เช่นการทำนาได้หลายแห่ง เช่น ย่านสนามควาย ย่านบ้านบาตร-วัดสระเกศฯ ย่านวัดคอกหมู ย่านชุมชนมลายูมุสลิมมหานาค ย่านบ้านชาวจาม ซึ่งล้วนอยู่ริมคลองมหานาคที่ขุดขึ้นครั้งรัชกาลที่ ๑ ในคราวเดียวกับคลองเมืองบางลำภู-โอ่งอ่างที่ต่อเนื่องกับคลองขุดบางกะปิซึ่งขุดในคราวรัชกาลที่ ๓ เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมไปยังนอกเมืองทางฝั่งตะวันออกของพระนคร
เมื่อมีการขยายเมืองออกไปโดยการขุดคลองขุดใหม่หรือคลองผดุงกรุงเกษมในคราวรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ ทำให้บริเวณคลองขุดใหม่ตัดกับคลองมหานาคและคลองที่ไปทางบางกะปิกลายเป็น “สี่แยก” และกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและย่านการค้าสำคัญมาตั้งแต่บัดนั้น และชุมชนมัสยิดมหานาคที่มีกูโบร์ฝังศพก็กลายเป็นชุมชนภายในเมืองไป
ซ้าย แผนที่เก่า พ.ศ. ๒๔๔๐ แสดงตำแหน่งและอาณาบริเวณของตึกดิน ก่อนที่จะมีการตัดถนนราชดำเนินกลาง
ขวา แผนที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นกรุง จากเอกสารของเซอร์ จอห์น ครอฟอร์ด พ.ศ. ๒๓๗๑ แสดงบริเวณตึกดินอย่างชัดเจน
ในเอกสารของกรมไปรษณีย์เรียกบริเวณนี้ว่า “คลองสี่แยกไปบางกะปิ” ซึ่งก็คือ “สี่แยกมหานาค” ในปัจจุบันนั่นเอง บริเวณนี้มีชุมชนรายคลองอยู่กันไม่น้อยทั้งจีนผูกปี้อยู่บ้าง ชาวจามที่ถูกเรียกว่า “แขกครัว” และชาวมลายูที่ขึ้นมูลนายกับพระยาราชวังสันและเจ้าคุณทหารหรือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) และขึ้นกับมูลนายอีกหลายท่าน โดยปลูกบ้านเรือนขัดแตะบ้าง เรือนจากบ้าง เรือนฝาไม้กระดานบ้าง เรือนแพในน้ำก็มีหลายหลังคาเรือน โดยชาวจามส่วนใหญ่เลี้ยงไหมและทอผ้า ซึ่งชาวมลายูก็ทอผ้าอยู่บ้างเช่นกัน ค้าขายบ้าง ทำสวนบ้าง ทำนาบ้าง แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นช่างทองดังเช่นชุมชนมุสลิมในพระนครชั้นใน ย่านนี้ถือว่ามีอาชีพทอผ้า ทอผ้าม่วง ทอผ้าไหมขายกันมากที่สุด และถือว่าเป็นชุมชนมุสลิมที่ค่อนข้างหนาแน่นต่างจากชุมชนภายในเมือง
ชาวมุสลิมที่มหานาคมีคำนำหน้านอกจาก “โต๊ะ”, “โต๊ะหะยี” แล้วก็มี “ต่วน”, “ต่วนหะยี” ก็หลายท่าน
อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ผู้คน (หะริน สิริคาดีญา อายุ ๗๓ ปี, นิวัฒน์ วงษ์มณี อายุ ๗๕ ปี, สมบัติ จันทร์ไทย อายุ ๖๓ ปี, สมาน เมฆลอย อายุ ๕๕ ปี, ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘) ในชุมชนมัสยิดมหานาคเล่าว่า ชุมชนนี้มีตระกูลใหญ่ๆ อยู่หลายตระกูล และรับราชการเป็นช่างหลวงอยู่หลายท่าน เช่น ขุนศิลปศาสตร์ (สิน), ขุนสารพัดช่าง (นิ่ม), ขุนบริหารคู้นิคม, พระเทพ (หมึก), ขุนรัตนภิบาล (เสงี่ยม) ชุมชนนี้อาจจะขยับขยายจากชุมชนช่างในเมืองมาอยู่ทางฝั่งนอกเมืองที่ยังคงมีพื้นที่ทำนา ทำสวน หรืออยู่มาตั้งแต่แรกเริ่มในคราวครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่มีการอพยพโยกย้ายชาวมลายูมุสลิมมาครั้งใหญ่และครั้งเดียวกัน โดยมีลูกหลานขุนนางชาวมุสลิมนั้นสืบต่อกันมาในตระกูลต่างๆ อย่างมั่นคงจนทุกวันนี้
เมื่อพื้นฐานของชุมชนเป็นข้าราชการ และสามารถสร้างสุเหร่าขึ้นเป็นแห่งแรกๆ ในย่านพระนคร ชาวชุมชนสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างก่อน พ.ศ. ๒๓๕๐ เป็นอาคารหลังเล็กๆ โดย “พระเทพ” บิดาขุนรัตนภิบาล (เสงี่ยม) พร้อมกับการจัดหาที่สร้างกุโบร์ด้วย จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงและเป็นยุคแรกๆ ในการตั้งถิ่นฐานที่นี่ ต่อมาจึงสร้างใหม่เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๔ และถูกไฟไหม้ไปพร้อมกับบ้านเรือนในชุมชนครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และสร้างใหม่เป็นมัสยิดที่เห็นในปัจจุบันก่อนจะปรับปรุงบูรณะซ่อมแซมมาเป็นลำดับ
เมื่อสร้างสุเหร่าหรือมัสยิดแล้วจึงมีการสอนศาสนาตามลำดับ โดยท่านผู้รู้ซึ่งสอนในบ้านเรือนตนเองก่อนที่จะมีสุเหร่าถาวร บางท่านก็เป็นอิหม่ามไปพร้อมกันด้วย กล่าวกันว่าต่อมาจึงมีผู้สนใจมาเรียนด้วยทั้งจากใกล้และจากที่ไกลๆ เช่น จากทางคลองรังสิต ฯลฯ เพราะมีท่านครูที่มีบ้านเรือนอยู่ในชุมชน ทุกท่านผ่านการเรียนศาสนาจากตะวันออกกลางคนละเกือบสิบปีมาทั้งนั้น บางท่านมาจากชุมชนอื่นๆ แต่มาแต่งงานกับภรรยาที่เป็นบุตรสาวของโต๊ะต่างๆ ที่เป็นตระกูลใหญ่ในชุมชนและตั้งถิ่นฐานที่นี่ มีบาแลสำหรับสอนผู้เรียนศาสนาที่บ้าน ซึ่งก็คงความคล้ายรูปแบบปอเนาะ ที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวปาตานีมาแต่เดิม
กล่าวกันว่า มีท่านครูที่สำคัญ ๔ ท่าน ที่เก่งวิชาการด้านต่างๆ เช่น บางท่านเก่งทางหลักศาสนา เช่นวิชาฟิกซ์และซะเตาอุฟ คือหลักนิติศาสตร์และการพัฒนาจิตใจ บางท่านเก่งด้านภาษายาวี การอ่านกีตาบยาวีต่างๆ บางท่านเก่งทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นต้น และเป็นหลักที่ทำให้ชุมชนมหานาคเป็นชุมชนสอนศาสนาที่มีชื่อเสียง มีนักเรียนผ่านการเรียนศาสนาแบบเดิมๆ ที่นี่ในอดีตกันมากมาย และสืบเนื่องมาเมื่อมีการจดทะเบียนโรงเรียนเอกชนในสมัยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ เป็นโรงเรียนบำรุงอิสลามวิทยา ซึ่งท่านเจ้าพระยาฯ เอง ก็สร้างโรงเรียนสตรีจุลนาคในอีกฟากหนึ่งของคลองมหานาคในเวลาต่อมาเช่นกัน
มัสยิดมหานาคมีการบูรณะมาโดยตลอด
สี่แยกมหานาคซึ่งเป็นย่านชุมชนการค้ามาตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ ที่ข้ามคลองมหานาค สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ (สร้าง พ.ศ. ๒๔๕๖) แทนสะพานร้อยปีซึ่งสร้างเนื่องในโอกาสฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี อันเป็นสะพานเก่า (สร้าง พ.ศ. ๒๔๒๕) ปากซอยมัสยิดมหานาคในปัจจุบันเมื่อข้ามสะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ ก็จะต่อเนื่องกับตลาดโบเบ๊ที่ขายเสื้อผ้าค้าส่งและมีตลาดผลไม้ ด้านในเคยเป็นวังมหานาคที่ใหญ่โตของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ต้นตระกูลจิรประวัติ ก่อนจะขายพื้นที่วังส่วนใหญ่ไปทำโรงแรมรอแยลปริ๊นท์เซส และยังเหลือวังมหานาคตั้งอยู่ท่ามกลางความจอแจของตลาดโบ๊เบ๊ทีเดียว
กูโบร์ที่มหานาคป็นกูโบร์ใหญ่โตและกลายเป็นโอเอซีสกลางเมืองใหญ่ในปัจจุบัน บริเวณที่จอแจกลับกลายเป็นอีกโลกหนึ่งจนน่าเป็นสถานที่พักผ่อนและปลงต่อชีวิตและโลกย์ไม่ว่าผู้เข้าเยี่ยมชมนั้นจะนับถือศาสนาใด
ชาวชุมชนเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่กูโบร์เดิมคงอยู่ลึกกว่านี้พอสมควร เพราะกล่าวกันว่าบริเวณพื้นดินปัจจุบันเพราะมีการถมรอบสองแล้ว และดินส่วนหนึ่งที่ถมก็ได้มาจากดินที่ขุดลอกจากคลองมหานาค
แต่เดิมก่อนที่จะมีการทำสะพานข้ามคลองมหานาคนั้น กูโบร์มหานาคเคยอยู่บริเวณเชิงสะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ และบริเวณนั้นใกล้กับแนวร่องน้ำเก่าที่ดึงเข้ามาเลี้ยงพื้นที่ภายใน ส่งไปให้สวนและที่นา ต่อมาปรับเป็นถนนพังคีในปัจจุบัน ชุมชนมหานาคจึงมีลำน้ำล้อมรอบจนทำให้คล้ายเป็นเกาะมาแต่เดิม ฝั่งถนนด้านตะวันตกกลายเป็นถนนนาคราชซึ่งแต่เดิมติดกับโรงเลี้ยงเด็กที่สร้างครั้งรัชกาลที่ ๕ เมื่อจะสร้างสะพานซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเมื่อครั้งฉลองร้อยปีพระนคร ซึ่งบริเวณสี่แยกมหานาคนั้นเป็นตลาดน้ำและตลาดชายน้ำแล้ว จึงขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างโดยมีผู้ดำเนินการ ๔ ท่าน คือ ท่านลักษณา พระยารังสัน ท่านศรเสนี ท่านศรีมหาราชา จากรายชื่อดังกล่าวซึ่งเป็นการบอกเล่าจากความทรงจำที่มีผู้คนในชุมชนบันทึกไว้ คาดว่าน่าจะเป็นขุนนางที่เป็นมูลนายของชาวชุมชนมหานาคนั่นเอง เท่าที่พอประเมินได้คือเป็นตำแหน่งขุนนางฝ่ายมุสลิมในราชสำนัก ทั้งหมดนั้นคือตำแหน่งทางราชการแบบเก่าครั้งปลายกรุงศรีอยุธยาและอาจต่อเนื่องถึงต้นกรุงเทพฯ คือตำแหน่งพระยาราชวังสัน ขุนลักษมณา พระศรีมหาราชา เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นขุนนางมุสลิมเชื้อสายกรุงเก่าจากทางฝั่งธนฯ และคงเป็นผู้จัดการหาพื้นที่อยู่อาศัย ตลอดจนการกำกับผู้คนในสังกัดของตนครั้งกวาดครัวจากปาตานีมาเมื่อต้นกรุงฯ สืบมา
มัสยิดมหานาคในปัจจุบัน.
แผนผังชุมชนมหานาคแต่เดิม แสดงพื้นที่ใช้สอยต่างๆ และบ้านของตระกูลใหญ่ในมหานาค.
กูโบร์พื้นที่นั้นเรียกต่อมาว่า “กูโบร์ใน” แล้วมีการเพิ่มเติมพื้นที่โดยการวากัฟที่ดินโดย โต๊ะปุก บุตรกีเที่ยง โต๊ะเหรี่ยม ส่วนกูโบร์นอก หลวงศิลปศาสตร์ (สิน) เป็นผู้วากัฟหรืออุทิศที่ดินที่เคยเป็นที่นาให้สาธารณะ ทำให้พื้นที่กูโบร์มีพื้นที่กว่า ๑๘ ไร่ ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยขนาดเพียง ๕ ไร่เท่านั้น
เมื่อครั้ง “ตนกูอับดุลเราะห์มาน” ผู้นำการเรียกร้องเอกราชและเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ท่านเกิดที่รัฐเคดาห์หรือไทรบุรี ในขณะที่ยังอยู่ในการปกครองของสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ก่อนที่จะกลายเป็นหนึ่งในสหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ท่านเป็นบุตรของเจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) (เจ้าพระยาฤทธิสงคราม) หรือ Sultan Abdul Hamid Halim Shah ( ค.ศ. ๑๘๘๑ – ค.ศ. ๑๙๔๓) สุลต่านองค์ที่ ๒๕ กับหม่อมมารดาชาวไทยนามว่า หม่อมเนื่อง นนทนาคร หรือมะเจ๊ะเนื่อง ชายาองค์ที่ ๖ ซึ่งเป็นบุตรีของหลวงนราบริรักษ์ (เกล็บ นนทนาคร) เจ้าเมืองนนทบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพี่ชายร่วมพระมารดาคือ ร้อยตำรวจเอกตนกู ยูซุฟ ซึ่งรับราชการในกรมตำรวจไทย
บันทึกกันว่าท่านตนกูอับดุล เราะห์มานเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหานาคนัก ซึ่งรวมทั้งพี่ชายท่านที่โอนสัญชาติเป็นไทยด้วย ภายหลังพี่ชายที่รับราชการตำรวจเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม ก็ฝังไว้ที่มัสยิดมหานาค คาดกันว่าที่พำนักในกรุงเทพฯ นั้นคงอยู่กับทางบ้านมารดาที่ถนนวรจักรซึ่งใกล้เคียงกับมัสยิดมหานาค
บริเวณกูโบร์มหานาค
ตนกู อับดุล เราะห์มาน ถ่ายภาพคู่กับ หลวงถวิลเศรษฐพานิชย์การ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗
เมื่อท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงมีความพยายามขอนำร่างพี่ชายกลับไปฝังยังสุสานหลวงที่เคดาห์อยู่หลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายสัปบุรุษของมัสยิดมหานาคก็อนุญาต ลุงหริน สิริคาดีญา ที่อายุ ๗๓ ปี ยังจำได้ว่า ได้ไปเสริฟน้ำแก่แขกในราชวงศ์จากเคดาห์และผู้ใหญ่จากมาเลเซียเมื่อครั้งเป็นเด็กเล็กๆ ศรีษะเพิ่งโผล่พ้นขอบแนวกำแพงกูโบร์มาเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีอายุไม่ถึง ๑๐ ขวบก็เป็นผู้เห็นเหตุการณ์นี้ด้วย
เพราะที่ตั้งของชุมชนมัสยิดมหานาคอยู่ในบริเวณสี่แยกมหานาคที่เป็นจุดตัดการค้าขายทางน้ำ จึงทำให้มีชาวเรือค้าขายตลอดจนชาวมุสลิมจากนอกพระนคร เช่น ทางอยุธยาและทางใกล้ชายฝั่งทะเลมาค้าขาย
บริเวณนี้ จนเป็นการอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในเวลาต่อมา ซึ่งก็ควรเป็นหลังจากขุดคลองขุดใหม่หรือคลองผดุงกรุงเกษม โดยมีผู้คนจากแถบตะเกี่ยทางพระนครศรีอยุธยามาแต่งงานกับมุสลิมแถบฝั่งธนฯ แล้วอพยพมาค้าขายและอาศัยในชุมชนนี้ แล้วนำเอาไขวัวมาส่งขายเป็นส่วนผสมของน้ำมันหรือสบู่ต่างๆ บ้างนำไม้ฟืนที่เป็นไม้แสมมาจากทางป่าชายเลนมาขึ้น ค้าไม้ฟืนกันเป็นอาชีพหลักของชุมชน เมื่อเข้ามาแล้วก็รุกที่วากัฟของขุนศิลปศาสตร์ (สิน) บริเวณกูโบร์ทำบ้านเรือนบ้าง ค้าขายกันสืบต่อมา
บริเวณกูโบร์มหานาค
สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ หนึ่งในสะพานชุด “เจิรญ” ที่ข้ามคลองมหานาค สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๖
แต่โดยพื้นแล้วชาวชุมชนมหานาคดั้งเดิมล้วนเป็นลูกหลานของข้าราชการและผู้มีความรู้ทางช่างที่รับราชการในพระบรมมหาราชวังส่วนหนึ่ง เมื่อผสมผสานกับผู้รู้ทางศาสนาจึงทำให้ผู้คนลูกหลานคนที่นี่ออกไปรับราชการกันโดยมาก และแตกสายไปยังอาชีพอาชีพอื่นๆ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ
ชุมชนมหานาคมีพื้นที่ในการอยู่อาศัยมากกว่าชุมชนในเมืองที่มัสยิดจักรพงษ์และมัสยิดตึกดินมาก กว้างขวาง สมเป็นชุมชนชานพระนครชั้นนอก
แต่ถึงเช่นนั้น ความเปลี่ยนแปลงก็ยังทำให้เห็นร่องรอยว่าเคยเป็นชุมชนใหญ่ที่ผู้คนโยกย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ตามขนาดของครอบครัวที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะบ้านบางหลังก็ถูกปิดตายและเก่าพังตามกาลเวลา อีกทั้งยังอยู่ริมคลองมหานาคต่อคลองแสนแสบที่มีเรือโดยสารวิ่งกันเร็วฉิวบนท้องน้ำสีคล้ำมีกลิ่นก็ยิ่งทำให้พื้นที่ริมคลองไม่ค่อยน่าพิสมัยสำหรับการอยู่ริมน้ำแบบเดิม
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างไปจากชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางย่านตลาดและบริเวณโดยรอบกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติมานับหลายทศวรรษจนทำให้สภาพแวดล้อมถูกรุกคืบเข้ามาทุกด้าน บ้านบางหลังกลายเป็นบ้านเช่าหรืออพาทเมนต์ราคาถูกสำหรับคนทำงานในละแวกใกล้เคียง รวมทั้งมัสยิดตึกดินที่กลับกลายเป็นชุมชนแออัดเช่นกัน สภาพเช่นนี้มีผลต่ออนาคตของชาวบ้านในชุมชนที่ต้องการแสวงหาพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ช่างทองหลวง / ช่างทองอิสระ
ที่ตรอกสุเหร่าชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ชาวบ้านฝั่งนี้ล้วนแต่เป็นลูกหลานช่างทอง ช่างที่ทำทองรูปพรรณ อันหมายถึงเครื่องประดับต่างๆ รายงานการศึกษาของ ไพโรจน์ สาลีรัตน์ แห่งคณะโบราณคดี ศึกษาเรื่องช่างทองที่ตรอกสุเหร่า ซึ่งเป็นชุมชนบ้านเกิดของตนเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ทำให้พบเห็นข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ
ชุมชนตรอกสุเหร่าเมื่อ ๔๓ ปีที่แล้วแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ ชุมชนชาวมุสลิมที่เป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าของบ้านเช่าประมาณ ๔๐ หลังคาเรือน ในกลุ่มนี้เป็นช่างทองผู้มีฐานะประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน และเป็นเจ้าของห้องเ่าของผู้เช่าอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยและจีน และในช่วงเวลานั้นกลุ่มคนภายในชุมชนที่มีการศึกษาจะออกไปประกอบอาชีพข้างนอกราวๆ ๔๐ % ในขณะที่กลุ่มช่างทองยังคงทำทองอยู่ที่บ้านในราว ๖๐ % แต่ในปัจจุบันนั้นผู้ทำอาชีพช่างทองล้วนสูงวัยและไม่มีผู้ทำอาชีพนี้อีกต่อไปแล้ว
ในกลุ่มผู้ถูกอพยพโยกย้ายมาจากหัวเมืองทางใต้ครั้งรัชกาลที่ ๓ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นช่างทองคำประดับเพชร ทับทิม หรือมรกต และถูกกำหนดให้เป็นช่างทองหลวงทำเครื่องทรงและเครื่องราชูปโภคถวายตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ โดยเล่าสืบกันจากบรรพบุรุษว่า ช่างทองหลวงที่อยู่ในชุมชนตรอกสุเหร่า มัสยิดจักรพงษ์ในครั้งรัชกาลที่ ๓ ได้แก่ พระวิเศษสุวรรณ (โต), หลวงแป้น, ขุนลังกา, ช่างลงยา (ไมตรี) ส่วนช่างทองหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ได้แก่ พระยาภักดี, หลวงสามณหัตถกิจ ช่างทองหลวงในรัชกาลที่ ๖-๗ ได้แก่ พระยานรินทร์ศิลปการ, หลวงสุวรรณพงษ์, หลวงภัทราภรณ์
การเป็นช่างทองหลวงเป็นหนึ่งในช่างสิบหมู่ ที่ไม่ได้มีเพียง “๑๐” ชนิดเท่านั้น แต่ใช้เป็นชื่อที่เรียกจำนวนมากแบบรวมๆ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ทรงจำแนกงานช่างหลวงออกมาได้ถึง ๒๙ งานช่าง และกรมช่างสิบหมู่และข้าราชการเหล่านี้สลายไปหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งรัชกาลที่ ๗
ช่างทองหลวงที่รับราชการในพระบรมมหาราชวังจากตรอกสุเหร่าถูกจำแนกได้อีกว่า เป็นช่างทองที่เป็นข้าราชการประจำ และข้าราชการที่รับเบี้ยหวัดรายปี และยังมีช่างทองชาวบ้านที่ทำงานค้าขายเครื่องประดับกับราชสำนัก ข้าราชการและพ่อค้าคหบดี ซึ่งยังแบ่งออกได้อีกว่าเป็นกลุ่มบ้านช่างทองที่มีทุนมากและช่างทองรับงานช่วงต่อที่มีทุนน้อยกว่า
พระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ทรงฉายกับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีในกรอบดอกไม้ทอง พระองค์ทรงรู้ภาษามลายูได้ถึงขนาดแปลฮิกายัต ปันหยีสะมารังหรืออิเหนาได้
โดยกล่าวว่าชาวตรอกสุเหร่าทำงานเป็นช่างทองที่มีสถานภาพทางสังคมสูงและมีฐานะจนเมื่อปลายรัชกาลที่ ๖ มีช่างฝรั่งชาวเยอรมันชื่อ “นายไกรซ์เล่อ” ตั้งร้านอยู่ที่แพร่งนรา นำเอาวิทยาการและวิธีการผลิตแบบใหม่ซึ่งเป็นแบบตะวันตกเข้ามาตีตลาดของช่างทองมุสลิมแต่เดิม เช่น ใช้เพชรลูกแทนเพชรซีก การฉลุลวดลายโปร่งเพราะเครื่องมือดี การตั้งกระเปาะแทนการฝังแบบโบราณ เป็นต้น ทำให้ช่างทองตรอกสุเหร่าเปลี่ยนวิธีการผลิตทำทองแบบดั้งเดิม หันไปใช้วิชาการทำทองแบบใหม่เช่นนายไกรซเลอร์กันหมด เพราะถือเป็นของทันสมัยอย่างยิ่งในสมัยนั้น
การสืบทอดวิชาช่างทองต้องหาคนที่ไว้ใจได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนในครอบครัว โดยมีพ่อหรือลูกชายคนตัวทำหน้าที่แจกจ่ายงานไปยังคนในครอบครัวที่มีความชำนาญต่างกัน หากเป็นเด็กมาฝึกหัดก็จะสอนกันเฉพาะภายในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น แม้จะเคยมีความพยายามสืบทอดวิชาให้กับคนนอกกลุ่ม แต่ก็เป็นไปโดยชั่วคราว เพราะสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลง การฝึกฝนในการเป็นช่างทองเป็นการงานอาชีพเฉพาะที่ทำยากและต้องมีความละเอียดประณีตขั้นสูงสุดและใช้สายตามาก จนผู้สูงอายุแม้จะมีความชำนาญแต่ก็ต้องเลิกเพราะการใช้สายตาที่มากเกินไปด้วย อีกทั้งมีทางเลือกในการศึกษาเล่าเรียนเพื่อไปทำมาหากินในอาชีพอื่นๆ มากขึ้นด้วย ทำให้คนภายในชุมชนไม่นิยมหัดทำงานเป็นช่างทองนับแต่เมื่อราวสี่สิบที่ผ่านมาแล้ว
ช่างทองแบ่งตามวิธีการผลิต โดยการแบ่งงานเป็นลำดับขั้น คือ “ช่างรูป” คือช่างทองผู้ทำหน้าที่ทำทองให้เป็นรูปร่างของเครื่องประดับแต่ละชนิดอย่างคร่าวๆ เช่น ทำรูปแหวน กำไล ต่างหู, “ช่างฝัง” คือช่างทองที่ทำหน้าที่ฝังเพชรพลอยลงในเรือนของเครื่องประดับ, “ช่างลาย” คือช่างที่ออกแบบรูปร่างและลวดลายของเครื่องประดับแต่ละชนิด, “ช่างแกะ” หรือ “ช่างแร” เป็นผู้แกะลวดลายลงบนเครื่องประดับ โดยการสลักลายเข้าไปในเนื้อทองให้เป็นร่องตามลวดลายที่ต้องการ,
กรณีมัสยิดตึกดินที่มีคุณตาประเสริฐ เจริญราชกุมารเล่าให้ฟัง แสดงว่าท่านเป็น “ช่างแกะ” หรือ “ช่างแร” เรียนรู้วิธีแกะลายลงบนเนื้อเงิน เนื้อทอง ที่ใช้ทำตลับหรือกลักบุหรี่ ที่มีคนสั่งทำและทำงานให้ร้านมากที่สุดคือ แกะลายกรอบพระทั้งเงินและทอง เครื่องมือก็มีเช่น มีดแกะปลายรูปร่างต่างๆ ที่ต้องคมเพราะแกะลงไปบนเนื้อโลหะ เช่น ทองหรือเงิน แท่นที่เรียกว่าลูกตุ้มเหล็กกลมซึ่งหมุนได้รอบทิศสะดวกแก่การแกะลายได้ทุกมุม โดยช่างแกะนี้ทำทั้งแกะลายแหวนหรือแกะลงบนกรอบพระที่ผู้คนนิยมเลี่ยมทองพระเครื่องเพื่อห้อยคอมาตลอด และทำรายได้เฉพาะให้ช่างแกะหรือช่างแรได้มากในยุคหนึ่ง เป็นรายได้ที่ค่อนข้างดีมากทีเดียว เพราะคุณตาประเสริฐทำงานเป็นช่างแกะสองรอบ คือทำที่ร้านเครื่องประดับช่วงกลางวันรอบหนึ่ง และกลางคืนทำที่บ้าน รายได้ดีมาก จนอายุห้าสิบกว่าๆ ก็เลิก เพราะใช้สายตามากและปรากฎว่ามีเครื่องปั๊มเริ่มเข้ามา ทำให้งานฝีมือแบบการแกะลายมีคนสั่งทำลดลง
เมื่อเปรียบเทียบงานช่างก็สามารถงานแกะลายลงบนเครื่องประดับ มีมิติเป็นงานละเอียดประณีต ส่วนงานบ้านพานเป็นงานตอกลายเพื่อดุนให้เกิดลวดลายขึ้นมา เป็นความชำนาญของช่างคนละแบบ
เครื่องทองแบบโบราณที่ชาวชุมชนตรอกสุเหร่า มัสยิดจักรพงษ์บันทึกไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากทองคำ ๑๐๐ % จึงเป็นเนื้อทองอ่อนเหมาะจะทำลวดลายได้ง่าย แต่เมื่อสมัยกว่าสี่สิบปีที่แล้วช่างทองก็ไม่สามารถทำเครื่องทองเหล่านี้ได้แล้วมีดังเช่น จี้ ใช้ห้อยกัยสายสร้อย แบ่งเป็นจี้ตัวผัวและตัวเมียและจี้สี่ทิศ, จั่น คือสายสร้อยข้อมือมีหัวตรงกลางเป็นรูปกลมฝังทับทิม หรือมรกตล้อมเพชร, ใบไม้ปลายมือ คือจี้ตัวเล็กๆ ห้อยปลายสายสร้อย, ลูกปะวะหล่ำ คือสร้อยข้อมือ ทำด้วยลวดทองขดเป็นลูกลายโปร่ง ร้อยติดกันด้วยสายสร้อย
กำไลตะขาบ เป็นสร้อยทองถักรอบข้อมือ, สร้อยบิด สร้อยทองใช้ลวดทองบิดให้แบนแล้วคล้องกัน, สร้อยดอกจิก คือสร้อยทำเป็นรูปดอกไม้เล็กๆ ต่อกันเป็นสาย, สร้อยกลีบดอกลำดวน เป็นรูปกลีบดอกลำดวน, ต่างหูดอกลำดวน, กำไลข้อเท้าก้านบัว, ปิ่นปักจุก, กำไลข้อมือ, แหวนข้อมะขาม, แหวนยอดโบราณ, แหวนแมงดา, แหวนมณฑป, แหวนรังแตน, ต่างหูพวง, ต่างหูระย้า, ต่างหูเต่ารั้ง, ตุ้มรังแตน, ต่างหูกระจก เป็นต้น
ส่วนเครื่องทองแบบใหม่ของชาวตรอกสุเหร่ากล่าวกันว่าแม้จะมีรูปแบบใหม่ แต่ก็ยังคงผลิตแบบเดิมอยู่ เช่น การทำแหวน มีพวก แหวนปลอกมีดหรือแหวนทองเกลี้ยง, แหวนนามสกุล, แหวนนพเกล้า, แหวนล้อม, แหวนมอญ, แหวนแถว, แหวนลิ้นจี่ทั้งทรงเครื่องและธรรมดา, แหวนไขว้ พวกเข็มกลัด แบ่งเป็นเข็มกลัดเพชรและเข็มกลัดพลอย พวกสร้อยคอ แบ่งเป็น สร้อยคอมือ, สร้อยเพชร หรือสังวาลย์, สร้อยพลอย, ทับทิม, มรกต เป็นต้น
ซ้ายบน โต๊ะเครื่องทองของป้าเล็ก ลอประยูร ผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่มัสยิดจักรพงษ์ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธบางลำภู
ขวาบนและซ้ายล่าง โต๊ะกล่องเครื่องมือของคุณตาประเสริฐ เจริญราชกุมาร ที่ได้รับมรดกมาจากพ่อ ที่ท่านไม่เคยพบหน้า เพราะสิ้นไปตั้งแต่เมื่อยังเล็กมาก กล่าวว่าเป็นกล่องเครื่องมือของหมอเด็ก ตามนามสกุล ราชกุมาร ที่เป็นนามของคุณพ่อ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำพระองค์อักษรย่อประจำรัชกาลที่ ๖
ภาพลายเส้นภาพวาดที่นำมาแกะลวดลายของคุณตาประเสริฐ, และแสดงเครื่องทองที่เป็นเครื่องประดับ แบบโบราณ จากงานศึกษาของ สาลีรัตน์งานของช่างทองตรอกสุเหร่า
ช่างทองนั้นต้องมีความชำนาญในการดูเนื้อทอง การดูเพชร พลอย และสามารถตีราคาตามท้องตลาด ตามความนิยมได้อย่างชำนาญด้วย ลูกค้าที่เคยมีส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำที่มีความคุ้นเคยและค้าขายกันมานาน ในอดีตช่างทองที่ตรอกสุเหร่ากล่าวว่า มีการค้าขายกับราชสำนักอยู่เสมอ ส่วนตลาดภายนอกราชสำนักจะเป็นกลุ่มที่มีสถานภาพทางสังคมและมีฐานะที่อยู่ในกลุ่มที่ดีที่สุด พ่อค้าคหบดีชาวเชียงใหม่เคยเดินทางรอนแรมด้วยเรือนับสิบวันเพื่อมาหาซื้อเครื่องทองเหล่านี้ จนสร้างรายได้อย่างมากมายให้กับชาวชุมชนตรอกสุเหร่าในอดีตเป็นอย่างมาก
ชุมชนมุสลิมใน “เกาะรัตนโกสินทร์” ชุมชนมุสลิมที่ถูกลืม
ชุมชนมุสลิมในย่านเก่าทุกวันนี้ประสบปัญหาการอยู่อาศัยในรูปแบบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือการเติบโตของเมืองที่ทำให้ชุมชนมีพื้นที่ความเป็นอยู่แออัด คนในชุมชนที่ทำอาชีพอื่นๆ เลือกที่จะไปอยู่ในย่านอื่นๆ ในชุมชนมุสลิมด้วยกันแต่มีพื้นที่ในการใช้ชีวิตกว้างขวางกว่าบ้านเดิม ชุมชนมุสลิมในเมืองเช่นที่ตรอกสุเหร่ามัสยิดจักรพงษ์และมัสยิดตึกดิน ถือได้ว่าเป็นชุมชนหลังตึกแถวและอาคารสำคัญที่หายไปจากสายตาของเมือง และมีสภาพแวดล้อมที่คับแคบ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินเข้าออก ทางเดินภายในชุมชน บ้านเรือนที่เก่าไปตามอายุ การจัดการน้ำเสียหรือขยะ เป็นต้น
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ไฟไหม้ทั้งชุมชนตึกดิน เหลือรอดมาได้ไม่กี่หลังคาเรือน สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ที่สวรรคตไปแล้ว ท่านประทานเมตตา หาทั้งสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่างๆ อาหารที่ชาวมุสลิมทานได้มาช่วยอย่างแข็งขันเต็มที่และเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นปกติของชาวบ้านในเขตเมืองเก่าที่เป็นชุมชนมุสลิมในท่ามกลางชาวพุทธและวัดหลวงหลายแห่ง เพื่อนบ้านของชาวมัสยิดตึกดินที่ตรอกบวรรังษีก็เป็นเพื่อนบ้านที่ีเติบโตมาด้วยกัน และเล่นด้วยกันมาแต่เล็กแต่น้อย ในปัจจุบันบ้านทั้งตรอกนั้นฝั่งหนึ่งประสบปัญหาเพราะเป็นที่วัด หลายหลังเป็นการถวายให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด และหลายบ้านต้องย้ายหลักแหล่งออกไปอย่างจำยอม และยังคงจะเกิดปัญหาตามมาอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้
ชุมชนในตรอกบวรรังษีที่โครงสร้างทางสังคมแตกสลายไปเพราะเกิดจากการถูกไล่รื้อเป็นสำคัญ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรวมกันติด แตกต่างไปจากชาวมัสยิดตึกดินที่ได้รับพระราชทานที่ดินเพื่ออยู่อาศัยมาแต่อดีต ทำให้ไม่มีปัญหา และยังคงมีมัสยิดรวมทั้งผู้สอนศาสนาและกรรมการทั้งมัสยิดและชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้กลายเป็นที่พึ่งในบางเรื่องของชาวบ้านจากตรอกบวรรังษี จากปัญหาที่เกิดขึ้นในบางกรณี
ชาวบ้านที่ตรอกสุเหร่าอย่างคุณยายมานิดา แตงอ่อน เมื่อวัยเด็กและวัยสาวก็ใกล้ชิดกับชุมชนพุทธ มีงานกิจกรรมใดๆ ก็มักไปเยี่ยมหรือนำอาหารไปช่วยงานได้ไม่ใช่เรื่องแปลก รวมทั้งวัฒนธรรมมหรสพพวกลิเกก็เป็นเรื่องปกติในการไปดูที่วิกบางลำพู และอีกประการหนึ่งคือการได้เรียนในโรงเรียนที่ใกล้บ้าน เพื่อนบ้านที่อยู่ถนนเดียวกัน เช่น ถนนจักรพงษ์ ที่มีทั้งพ่อค้าและชาวบ้านทั้งจีน มุสลิม คนไทยพุทธก็ทำให้มีเพื่อนร่วมเรียนหนังสือหลากหลายแหล่งที่มาซึ่งเป็นเรื่องปกติของชีวิตในย่านพระนครนี้เช่นกัน
หลังจากเกิดเพลิงไหมครั้งใหญ่ที่ชุมชนตึกดิน ก็มีการออกไปอยู่กับญาติในแถบไกลๆ ออกไป บางบ้านก็ขายหรือสร้างเป็นอพาร์ทเม้นต์ให้เช่า สภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ ก็ค่อยๆ หายไปด้วย และที่สำคัญคือคนในชุมชนก็เริ่มหายไปหรือย้ายออก เพราะมีเครือญาติมากมายหลายแห่ง ทั้งทางฝั่งธนฯ ทางหนองจอก ฉะเชิงเทรา แต่บางบ้านก็เลือกที่จะมีบ้านหลังที่สองแถวๆ บางบัวทองที่มีชุมชนมุสลิมเช่นกัน แต่เดินทางไปมาสะดวกกว่าทางแถบตะวันออกของกรุงเทพฯ มากกว่า
อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ คนในชุมชนนั้นส่วนใหญ่ค้าขายและมีรายได้ไม่มากนัก การค้าขายก็เช่น ขายพวงมาลัยแก่รถติดตามสี่แยกบ้าง การค้าขายอาหารกับข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เคยมีอยู่มากมายภายในย่านเมืองเก่า และย้ายออกไปมากเมื่อสร้างศูนย์ราชการ แม้แต่ข้าราชการจากกรุงเทพมหานครที่เริ่มย้ายออกไป และสำนักงานของเอกชนตามตึกในแถบถนนราชดำเนินกลางที่แทบจะไม่มีอยู่แล้ว และถนนราชดำเนินทั้งหมดก็ห้ามค้าขายแล้ว สิ่งเหล่านี้คือการทำให้เมืองประวัติศาสตร์ให้ร้างผู้คนไปโดยปริยาย และนักท่องเที่ยวก็ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแต่อย่างใด จนทำให้รายได้ของคนในชุมชนหายไปจนน่าใจหาย ซึ่งเป็นเช่นนี้กับทุกชุมชนในย่านเมืองเก่ากรุงเทพมหานครของเรา
ส่วนมัสยิดจักรพงษ์นั้น เป็นสถานที่สำหรับทำละหมาดให้แก่ทั้งข้าราชการมุสลิมในอดีต และนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่รู้กันไปทั่วว่ามีมัสยิดรองรับสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากทั่วโลก ซึ่งจะมีผู้เข้ามาละหมาดมากโดยเฉพาะในวันศุกร์ ส่วนคนเก่าๆ หรือผู้ที่มีอาชีพช่างทองต่างล้มหายตายจากไปแล้ว พูดได้ว่าไม่มีช่างทำทองสืบทอดการทำทองของตรอกสุเหร่าได้อีกต่อไปแล้ว รวมทั้งกล่าวได้ว่ารุ่นอายุ ๙๐ คือคุณยายมานิดา แตงอ่อน นั้นแทบจะไม่มีเพื่อนร่วมรุ่น แต่เมื่อถึงเวลามีงานหลังพิธีกรรมทางศาสนาก็จะมีลูกหลานมาเยี่ยมเยีนเต็มบ้านทีเดียว ความเป็นชุมชนและครอบครัวของชาวมุสลิมทั้งสามชุมชนนั้นยังเหนียวแน่นมั่นคงมากกว่าชุมชนชาวพุทธในชุมชนเมืองทั่วๆ ไปมากทีเดียว
ส่วนมัสยิดมหานาคแก่เปิดแก่ชาวมุสลิมจากที่ต่างๆ รองรับเป็นกลุ่มใหญ่และแยกกลุ่มชายหญิงอย่างชัดเจนแทบจะตลอดเวลา เพราะอยู่ในย่านการค้าและมีผู้เดินทางมาได้สะดวกกว่ามัสยิดในพระนคร แต่พื้นที่การอยู่อาศัยยังสามารถขยับขยายได้มากกว่า คนดั้งเดิมจึงยังอยู่อาศัยที่มหานาคนี้มากกว่าชุมชนในพระนครทั้งสองแห่ง รวมทั้งยังมีการสอนศาสนา มีโรงเรียน มีกูโบร์ มีการค้าขาย แม้ลูกหลานจะย้ายออกไปมากแล้วก็ตาม ก็ดูจะเป็นชุมชนที่มั่นคงเพราะจำนวนคนผู้อยู่อาศัยดูจะมั่นคงกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนมัสยิดตึกดินก็ยังมีความหวังต่อการปรับตัวเพื่อจะอยู่ให้ได้ในพื้นที่ย่านเมืองประวัติศาสตร์ ที่ดูค่อนข้างจะอยู่ยากสำหรับการดำเนินชีวิตแบบปกติ ที่ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจการค้าขายทั้งอาหารและของรับประทานตามรถเข็น
รวมทั้งพวกเขารู้สึกว่า “ถูกหลงลืม” อันเนื่องมาจาก อยู่หลังอาคารที่บดบังความเป็นชุมชนมุสลิมของพวกเขาให้อยู่หลบๆ และเงียบๆ อีกทั้งการท่องเที่ยวและนิทรรศการต่างๆ ใน่ายเก่าของกรุงเทพฯ ก็แทบจะไม่ปรากฏเรื่องราวของชาวมุสลิมที่มีรากเหง้าร่วมกันกับคนกรุงเทพมหานครกลุ่มอื่นๆ และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญทัดเทียมกับชาวสยามกลุ่มอื่นๆ เช่นกัน
บริเวณรอบและภายในพระนครของเราเต็มไปด้วยย่านหัตถกรรม งานฝีมือช่างชั้นสูง เราสูญเสียช่างทองที่สืบเชื้อสายและสืบงานฝีมือในชุมชนมุสลิมย่านเก่าของกรุงเทพฯ ไปหมดแล้วในทุกวันนี้ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณตาประเสริฐ เจริญราชกุมารที่เสียชีวิตไปหลังจากให้สัมภาษณ์ถึงงานช่างทองและความเป็นมาของชุมชนมัสยิดตึกดินไปเพียง ๑ เดือนก่อนหน้านี้เท่านั้น ทุกวันนี้งานช่างฝีมือที่เรียกรวมๆ ว่างานช่างสิบหมู่ที่เคยได้รับการอุปถัมม์จากราชสำนักก็สูญหายไปมาก ก่อนที่จะมีการสร้างวิทยาลัยในวังหรือศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ งานช่างฝีมือตามชุมชนต่างๆ ในและรอบพระนครของเราสลายไปตามกาลเวลาและไม่มีผู้ใดสามารถสืบทอดได้ แต่หลายสิ่งสูญไปแล้วเพราะงานฝีมือมีราคาแพงและอาจไม่ต้องตามสมัยนิยม รูปแบบชีวิตต่างเปลี่ยนไปและไม่สามารถที่จะปรับตัวได้กับสภาพชีวิตวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ช่างชั้นสูงในพระนครหายไปแทบหมดแล้ว วันนี้แค่เสียดายอาจจะยังไม่พอจะเอ่ย
จากความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองในช่วงต้นกรุงฯ ก็พอเห็นแล้วว่า บ้านเมืองในยุคสร้างกันใหม่ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองนั้น การสงครามส่วนใหญ่เป็นการช่วงชิงทรัพยากรบุคคลเพื่อมาเป็นพลเมืองของตนเองเป็นสิ่งสำคัญเหนือกว่าอื่นใด
ยุคสมัยของรัตนโกสินทร์คือการปรุงใหม่ในหลากหลายวัฒนธรม โดยผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่มีที่มาอันหลากหลาย หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นคือผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูมุสลิมจากหัวเมืองทางคาบสมุทร และผู้คนเหล่านี้คือคนสร้างชาติสู่ยุคสมัยใหม่ [Modern Siam] หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ทศวรรษต่อมา
บรรณานุกรม
กรมไปรษณีย์และโทรเลข. สารบาญชี ส่วนที่ ๒ คือราษฎรในจังหวัด ถนน แลตรอก จ.ศ. ๑๒๔๕ เล่มที่ ๑-๔. สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๑.
ไพโรจน์ สาลีรัตน์. ช่างทองหมู่บ้านตรอกสุเหร่า. ปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๑๕.
อารีฟิน บินจิ. ปาตานี..สุลต่านมลายู เชื้อสายฟากิฮฺ อาลี มัลบารี ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม, จัดพิมพ์โดย มูลนิธิอิสลามภาคใต้, พฤษภาคม ๒๕๕๘.
สัมภาษณ์
โอภาส มิตรมานะ. มัสยิดจักรพงษ์, เกิด พ.ศ. ๒๔๙๗ อายุ ๖๑ ปี, สัมภาษณ์ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘.
มานิดา แตงอ่อน. มัสยิดจักรพงษ์, เกิด พ.ศ. ๒๔๖๘ อายุ ๙๐ ปี, สัมภาษณ์ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘.
ประเสริฐ เจริญราชกุมาร. มัสยิดตึกดิน, เกิด พ.ศ. ๒๔๖๙ อายุ ๘๙ ปี (เสียชีวิตแล้ว), สัมภาษณ์ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘.
ทำนุ เหล็งขยัน. มัสยิดตึกดิน, อายุ ๕๗ ปี, สัมภาษณ์ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘.
หะริน สิริคาดีญา. มัสยิดมหานาค, อายุ ๗๓ ปี, สัมภาษณ์ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘.
นิวัฒน์ วงษ์มณี. มัสยิดมหานาค, อายุ ๗๕ ปี, สัมภาษณ์ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘.
สมบัติ จันทร์ไทย. มัสยิดมหานาค, อายุ ๖๓ ปี, สัมภาษณ์ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘.
สมาน เมฆลอย. มัสยิดมหานาค, อายุ ๕๕ ปี, สัมภาษณ์ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕