“เกรด” เป็นแค่ตัวสะท้อนวิธีทำงานตัวหนึ่ง ไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จ

“เกรด” เป็นแค่ตัวสะท้อนวิธีทำงานตัวหนึ่งเท่านั้น

มีหลังไมค์ถามเรื่องการเรียนหนังสือในระบบของประเทศไทยมากมาย เป็นที่รู้กันว่า ระบบการศึกษาไทยมีปัญหา…และดูเหมือนว่ามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง(มั๊ง)

หมอคงไม่แสดงความคิดเห็นในระดับบนหรือในภาพใหญ่ เพราะมีผู้แสดงความคิดเห็นกันมามากมายแล้ว และเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ในระบบเขาก็รู้ๆกันอยู่แล้ว!!

หมอขอแสดงความคิดเห็น ในส่วนของหมอเอง และในฐานะแม่ลูก 2 คนที่เรียนหนังสืออยู่ แม้จะไม่ใช่โรงเรียนไทยแต่ก็เข้มข้นด้านวิชาการมากทีเดียว

หมอยึดหลักส่วนตัวแบบนี้ค่ะ
*ลูกไม่จำเป็นต้องสนใจเกรด(ว่าใครเก่ง ไม่เก่ง) แต่ไม่ได้แปลว่าลูกไม่ต้องมุ่งมั่นกับการเรียน

หมอซีเรียสกับความมุ่งมั่น...
ลูกต้องตั้งใจ ใส่ใจ และมีความอดทนที่จะฝึกฝน ยิ่งยากก็ต้องยิ่งฝึกฝน เพราะนี่คือ mind set ที่ลูกควรจะมีติดตัว และมันจะช่วยให้ลูกทำงานอะไรในโลกใบนี้ก็ได้

หมอซีเรียสกับการตั้งเป้าหมายของลูก แต่ไม่รบกวนหรือแทรกแซงความฝันของลูก

นั่นก็หมายความว่า ลูกควรจะต้องทำหรือเป็นในสิ่งที่ลูกถนัดและชอบ แต่หมอจะต้องติดตามว่า ความฝันของลูกนั้น ลูกเริ่มตั้งเป้าหมายอะไร(ตามวัย)

เพราะความฝัน จะเดินทางมาสู่เส้นทางของความจริงได้นั้น คนๆนั้นต้องรู้จักเอาความฝันมาตั้งเป้าหมาย(ตามวัย) เพื่อให้เกิดเส้นทาง เส้นทางที่นำความฝันมาเจอกับความจริง
(ไม่เช่นนั้น มันจะเป็นแค่ความฝันตลอดไป)

วิชาการหลายๆอย่างที่ลูกไม่ถนัด มันอาจไม่ใช่ความฝันลูก แต่เราสามารถใช้วิชาเหล่านั้นมาเพื่อ “ฝึกการตั้งเป้าหมายและวางแผนการเรียน” เพราะนี่คือวิธีการทำงานของทุกคนบนโลก และเราแม่ลูกก็รู้อยู่เต็มอกว่า เกรดคงไม่ได้ไปสวยกว่านี้หรอก แต่เราไม่เคยแคร์

ลูกสาววัย 10 ปีจะรู้ว่า แม่จริงจังกับเรื่อง “ความมุ่งมั่นและการกำหนดเป้าหมาย” มากกว่า เกรด ABCD และลูกก็จะรู้ว่า เมื่อเกรดออก แม่ก็แค่ยืมเอาเกรดที่ครูประเมินนั้น มาใช้เพื่อพูดคุยกับลูกว่า เกิดอะไรขึ้นกับเป้าหมายที่เราเคยกำหนดกัน เราได้เรียนรู้อะไร และเราจะกำหนดเป้าหมายใหม่อย่างไรดี

เกรดมีความหมายกับแม่และลูก ก็เพียงแค่ตัวช่วยอีกตัวสำหรับใช้ monitor การทำงานของตนเอง
เกรดไม่เคยมีความหมายว่า เก่ง หรือ ไม่เก่ง เลย เพราะแม่รู้เต็มอกว่า มันไม่เคยมีคุณค่าขนาดที่จะมาวัดค่าความเก่งใคร

*ลูกจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆเพิ่มเติม (ที่โรงเรียนอาจไม่สอน) จากคนเป็นแม่และครอบครัว นั่นคือทักษะชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของความลำบากและอดทน เช่น การทำอาหาร การทำสวน การทำงานบ้านฯ

หมอให้ความสำคัญกับเรื่อง ความฉลาดด้านการเข้าใจตนเอง (เพื่อลูกจะได้รู้จักและเข้าใจตนเอง) และความฉลาดด้านการเข้าใจผู้อื่น (เพื่อลูกจะได้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข)

ส่วนกีฬา แม่ก็จริงจังเช่นกัน เพราะสุขภาพดี จิตใจสบาย ร่างกายต้องแข็งแรง แม่งานยุ่งแค่ไหน ตอนเย็นๆ แม่ก็ต้องตีแบดหน้าบ้านกับลูก (ลดความอ้วนแม่ด้วย555)

*ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกคือสิ่งที่แม่ต้องมีให้ลูกทุกวัน แม่เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจต่างๆให้ลูกฟัง เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพราะแม่รู้ว่า “ความฝัน” ไม่ได้มีกันง่ายๆ เราในฐานะแม่ รู้อะไรมาก็ควรเล่า เผื่อเรื่องราวไหน อาจสะกิดให้ลูกเกิดแรงบันดาลใจ

แม่พร้อมฟังความทุกข์ใจของลูก แม่ชื่นชมในสิ่งดีๆของลูกที่มีมากมาย และแม่ก็ให้กำลังใจในยามที่ลูกเหนื่อยแสนเหนื่อย….

หมอเอง….หมอไม่เคยเห็นด้วยกับวิชาการที่มากมายในโรงเรียน เราอยู่ในยุคที่หมอคิดว่า ความรู้ในตำราอาจไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ แต่หมอคิดว่า ในขณะที่เราทำอะไรไม่ได้มากนัก (ประมาณว่าคงต้องจำยอม) เราก็สามารถเปลี่ยนวิธีการมอง “เกรด” ของลูกใหม่ได้

เกรด เป็นเพียง 1 ในหลายๆเครื่องมือที่สะท้อนการทำงานของลูกเท่านั้นเอง และมันไม่ควรมีคุณค่าที่จะวัดค่าความเก่งของใคร โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้!!

หมอเชื่อมั่นว่า ถ้าคนมีความมุ่งมั่นอดทน มีเป้าหมาย มีความความฝัน รู้จักและเข้าใจตนเอง รู้จักและเข้าใจคนอื่น สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี คนๆนี้ก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความสุขเป็นได้ ไม่ว่าเขาจะเรียนที่ไหน หรือมหาวิทยาลัยไหนก็ตาม!!

ปล. สำหรับโรงเรียนที่มีการบ้านมากมาย ทำจน 3-4 ทุ่ม หมอคิดว่า มันมากเกินเหตุ เพราะเด็กจะไม่เหลือเวลาไปพัฒนาทักษะอื่นๆ และไม่ได้ผ่อนคลาย..ที่สำคัญมันดึงเวลาคุณภาพของครอบครัวไปด้วย!!!

หากคุณครูหรือผู้ใหญ่ได้ยิน หากท่านยังทำอะไรไม่ได้มาก ก็ขอให้มองที่การบ้านก่อนก็ยังดี ขอบคุณมากๆค่ะ^-^

*แนะนำหนังสือภาพสร้างเสริมลักษณะนิสัยชุด “รัน” 7 เรื่อง และ “ทันทั่น 5 เรื่อง” เพื่อช่วยให้ลูกมองเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้ง่ายขึ้น
*แนวทางการเลี้ยงลูกเชิงบวก มีในหนังสือ “ปราบลูกดื้อ รับมือลูกกินยาก”

*สามารถสั่งซื้อหนังสือต่างๆได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ :
http://m.me/HappyParentingThai

หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก
#เลี้ยงลูกเชิงบวกทุกคนทำได
#การบ้านเยอะ #เรียนหนัก #เกรดไม่ดี #ความฉลาดด้านอื่นๆ