อัลคอวาริซมีย์ นักพีชคณิตที่โลกลืม

2662

……มักเป็นที่เข้าใจกันว่า ความก้าวหน้าทางด้านศิลปวิทยาการส่วนใหญ่ มีการคิดค้นโดยโลกตะวันตก ด้วยเหตุนี้เราจึงมักรู้จักแต่นักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปและอเมริกา แต่ในความเป็นจริงแล้วความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการความรู้ของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นมิได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นการรับช่วงจากชนกลุ่มอื่นที่มีวิทยาการก้าวหน้ากว่า แล้วถูกนำไปต่อยอดให้ได้ความรู้หรือวิทยาการใหม่ๆ

โลกตะวันตกก็เช่นเดียวกันครับ เป็นชนกลุ่มล่าสุดที่กำลังโลดแล่นอยู่บนลูกคลื่นของความก้าวหน้าทางวิทยาการความรู้ ที่จริงๆ แล้วรับช่วงมาจากโลกมุสลิมในยุคก่อนหน้านี้ หรือในโลกยุคกลาง (ค.ศ.350-1450) บทความนี้ผมจึงขอนำเสนอตัวอย่างบุคคลหนึ่งในโลกมุสลิมที่นำความก้าวหน้าและการพัฒนามาสู่โลกสมัยใหม่ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก

มุฮัมมัด อิบนุ มูซา อัลคอวาริซมีย์ หรือ อัลคอวาริซมีย์ เกิดในคอวาริซมฺ เขตการปกครองคุรอซาน ในเปอร์เซีย (ปัจจุบันมีชื่อว่าคีวา อยู่ในอุซเบกิซสถาน) ค.ศ.780-840. เป็นนักคณิตศาสตร์ที่โดดเด่นและเป็นผู้ประดิษฐ์พีชคณิต (วิชาคณิตศาสตร์ที่ว่าด้วยการแก้สมการ) การเรียกวิชาพีชคณิตว่า Algebra ซึ่งเป็นคำที่ชาวตะวันตกนำเอาไปใช้มีที่มาจากคำภาษาอาหรับว่า อัลญับรุ้ อันเป็นชื่อตำราที่อัลคอวาริซมีย์ได้แต่งขึ้นเป็นคนแรก

ศัพท์ Algebra (พีชคณิต) นั้นมีรากศัพท์มาจากชื่อหนังสือ Al-Jabr wa-al-Muqabilah ของเขา ซึ่งอัลคอวาริซมีย์ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของพีชคณิตอีกด้วย นอกจากนั้นหนังสือ Liber Algoritmi de numero Indorum ทำให้เกิดศัพท์ algorithm (อัลกอริทึม) ขึ้นในคณิตศาสตร์
นอกจากนี้แล้ว อัล คอวาริศมียังได้สร้างตารางค่า sine,เริ่มใช้ ระบบเลขฐานสิบ, ศึกษาระบบรูปภาคตัดกรวย(conic section), calculus of 2 error, ใช้เลข 0 เป็นทศนิยม เป็นต้น ตำราของท่านใช้ในสถาบันต่าง ๆ ถึงปี 1600

ตำรา “อัลญับรุ้ วัล มุกอบะละฮ์” มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมรดกทางวิชาการอย่างยิ่ง เพราะนักปราชญ์ชาวอาหรับได้อาศัยตำราเล่มนี้เป็นตำรามาตรฐานในการศึกษาวิชาพีชคณิต และชาวตะวันตกก็ได้รู้จักวิชาพีชคณิตจากตำราเล่มนี้

นอกจากนี้ อัลคอวาริซมีย์ ยังเป็นนักภูมิศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียง วิธีการคำนวณคณิตศาสตร์ของเขาเป็นการสังเคราะห์ความรู้ของชาวฮินดูและกรีก และความรู้พื้นฐานที่สำคัญในด้านวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คุณูปการที่สำคัญของเขาต่อคณิตศาสตร์คือ การสร้างระบบทศนิยม (decimal system)

เขาพบว่า ตัวเลขอาหรับนั้นดีกว่าตัวเลขแบบละตินและอินเดีย ซึ่งต่อมาตรรกะของเขาก็ได้รับการยืนยันจากความนิยมของทั่วโลกที่นำตัวเลขอารบิกไปใช้ นอกจากนี้เขายังใช้เครื่องหมายลบ (-) และตัวเลขศูนย์ (0) ในการแสดงวิธีการคำนวณอีกด้วย

ในด้านดาราศาสตร์นั้น เขาได้ทำตารางดาราศาสตร์ และการคำนวณรัศมีและเส้นรอบวงของโลก ซึ่งมีความแม่นยำอยู่ในระดับที่เรียกว่าใกล้เคียงกับการคำนวณในยุคสมัยใหม่เลยทีเดียว ตารางดาราศาสตร์ของเขาถูกนำมาใช้ต่อๆ มาอีกหลายศตวรรษ ในหลายๆ ประเทศตั้งแต่จีนไปจนถึงยุโรป

ในสาขาวิชาภูมิศาสตร์ หนังสือของเขาที่ชื่อ “Kitab Sural ul Arz” ยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในเยอรมันในรูปต้นฉบับที่เป็นลายมือ อีกเล่มหนึ่งคือ “Kitab Rasen ul Rubul Mamur” ซึ่งยังคงเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ได้รับความน่าเชื่อถือมาอย่างยาวนานในสาขาวิชาภูมิศาสตร์

แนวทางการศึกษาของเขา มีความเป็นระบบและมีเหตุผล เขาไม่เพียงศึกษาแบบบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ที่มีอยู่ในยุคนั้น โดยเฉพาะคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ยังนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปขยายผลต่อยอดจนเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล

ผู้คิดค้นศาสตร์ด้านเรขาคณิตและพีชคณิตคนนี้ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับตัวเลขคณิตศาสตร์ทางสังคมของคนคนหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า

1.เมื่อคนคนหนึ่งมีมารยาทที่ดีงาม (มีคุณธรรม) เท่ากับเขามี เลข 1
2.เมื่อเขามีความหล่อ ความสวยงามทางรูปร่างหน้าตา สรีระ เขาก็จะเพิ่มเลข 0 ถัดไป = 10
3.เมื่อใดที่เขามีทรัพย์สมบัติพัสถาน ก็เท่ากับเพิ่มเลขศูนย์อีกตัวต่อจากนั้น = 100
4.เมื่อใดที่เขามีฐานะ ศักดิ์ศรี และเกียรติยศ ก็เท่ากับเขาได้เพิ่มเลขศูนย์ขึ้นอีกตัวต่อจากนั้น = 1000
5.แต่น่าเสียดาย เมื่อใดที่เขาขาดเลข 1 ไปแค่ตัวเดียว คือขาดมารยาทที่ดีงาม ซึ่งทำให้คุณค่าแห่งความเป็นคนของเขาสูญเสียไป จึงทำให้เขาเหลือแต่เลขศูนย์ 0

ที่มา https://th.m.wikipedia.org/wiki/มุฮัมมัด_อิบน์_มูซา_อัลคอวาริซมีย์
http://www.komchadluek.net/news/politic/205581 เขียนโดยศราวุธ อารีย์