เปิดตำนานเมืองกระบุรี 120 ปีมาแล้ว อังกฤษเคยขอขุด”คอคอดกระ”

1614

เปิดตำนาน 19 กรกฎาคม 2401 – อังกฤษเข้ามาขอขุดคลองคอคอดกระ แต่หาผู้ลงทุนไม่ได้จึงล้มเลิกไป. คอคอดกระ คือส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายู กว้าง 66.7 กม.ในเขตระหว่างอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร กับอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง

สมัยโบราณ การเดินทางทางเรือ ไปทางด้านตะวันออกของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องผ่านช่องแคบมะละกา และช่องแคบซุนดา มักถูกโจรสลัดปล้น นักเดินทางจึงเลี่ยงไปใช้เส้นทางลัดทางบก

ทางลัดที่นิยมมากที่สุด คือคอคอดกระ จากตะกั่วป่าด้านตะวันตก ไปยังไชยา ด้านตะวันออก มีหลักฐานทางโบราณคดี แสดงว่ามีผู้นิยมใช้ตั้งแต่สมัยแรกที่ชาวอินเดียอพยพเข้าดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนักเดินทางจะต้องเจอโจรสลัดปล้น ยังต้องเจอด่านการเก็บภาษี จากอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีอำนาจเหนือช่องแคบมะละกา และช่องแคบซุนดา

ในสมัยอยุธยาตอนต้น นักเดินทางชาวยุโรป พ่อค้าชาวอังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส เดินทางมาค้าขายกับอยุธยา ไม่ต้องการเสียภาษีค่าผ่านช่องแคบมะละกา ยังเดินทางข้ามคาบสมุทรมลายู ตรงคอคอดกระ หรือบริเวณใกล้เคียงอยู่บ้าง

สมัยรัตนโกสินทร์ คอคอดกระ ยังมีความสำคัญในการเดินเรือ กล่าวคือ แม่น้ำกระบุรี มีกำเนิดจากลำธารที่ไหลจากพม่า ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านอำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น อำเภอเมืองระนอง ไปลงทะเลอันดามัน

ตำนานเมืองระนองว่า สมัยอยุธยาตอนต้น เชื้อสายเจ้าพระยานคร เมืองนครศรีธรรมราช ชื่อนายแก้ว พร้อมด้วยภรรยาชื่อน้อย บุตรชายสองคน ชื่อนายทอง และนายเทพ และไพร่พล อพยพจากนครศรีธรรมราช ไปหาที่ทำกินแห่งใหม่ ตั้งบ้านเรือนในที่ราบกว้างใหญ่ริมแม่น้ำ

ต่อมาคนในหมู่บ้านได้ออกไปหาปลาในแม่น้ำ ได้กระสีทองตัวหนึ่ง จึงนำมาให้นายแก้ว นายแก้วนำไปมอบให้เจ้าเมืองชุมพร และต่อมาได้ทูลเกล้าฯถวายกษัตริย์อยุธยา ทรงพอพระทัย ปูนบำเหน็จให้เจ้าเมืองชุมพร ส่วนนายแก้ว ได้บรรดาศักดิ์ เป็นพระแก้วโกรพ

หมู่บ้านที่นายแก้วปกครอง ได้ถูกยกขึ้นเป็นเมือง เรียกกันว่า เมืองกระ ชื่อเมืองกระบุรี ได้มาเพราะเหตุนี้

ในระหว่างเส้นทาง มีคลองจั่นไหลลงแม่น้ำกระบุรีที่ตำบลปากจั่น เดิมเคยเป็นชุมทางคมนาคมระหว่างเมืองชุมพรกับเมืองระนอง และเป็นท่าเรือกลไฟของเรือที่จะไปจังหวัดระนอง และภูเก็ต

แม่น้ำกระบุรี ตั้งแต่ตอนนี้จนออกทะเล เรียกว่า แม่น้ำปากจั่น และตรงที่เป็นแม่น้ำปากจั่น มีความสัมพันธ์กับคอคอดกระ อย่างแยกกันไม่ออก ด้วยเหตุ 2 ประการ

ประการแรก แม่น้ำปากจั่น เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุด ที่ไหลผ่านบริเวณคอคอดกระ ใช้เดินเรือได้ ประการที่สอง หลังอังกฤษปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า เมื่อ พ.ศ.2411 มีการถือเอาแม่น้ำปากจั่น เป็นเส้นกั้นพรมแดน

เมื่อฝั่งซ้ายเป็นของไทย ฝั่งขวาเป็นของพม่า ถ้ารัฐบาลไทยให้สัมปทานขุดคลองแค่ชาติใด โดยใช้แม่น้ำสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของคลอง ก็จะทำให้อังกฤษใช้สิทธิเป็นเจ้าของ นำไปสู่การขยายอิทธิพลของอังกฤษในดินแดนไทยได้อีกทางหนึ่ง

ความคิดริเริ่มขุดคลองลัดเชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ปรากฏในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท เรื่องนิราศเสด็จไปตีเมืองพม่า ทรงมีพระราชดำริ ให้ขุดคลองที่บริเวณกระบุรี ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์

ต่อมามีชาวตะวันตกหลายคน เสนอให้ขุดคลองผ่านคอคอดกระ พ.ศ.2399 กัปตันริชาร์ด ชาวอังกฤษ ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย สมัยรัชกาลที่ 4 ให้สำรวจคอคอดกระ โดยให้เหตุผลเสริมว่า กองทัพเรืออังกฤษในน่านน้ำจีน จะแล่นผ่านคลองกระมาอินเดียได้ทันท่วงที ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน

แต่โครงการนี้ก็เดินหน้าต่อไม่ได้ เหตุผลแรกไม่มีเงินทุน เหตุผลต่อมา ถ้าขุดคอคอดกระจะกระทบต่อสิงคโปร์ อาณานิคมสำคัญของ อังกฤษเอง

ปลายรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสเสนอขอสัมปทานขุดคอคอดกระ แต่รัฐบาลไทยไม่อนุญาต เพราะเกรงกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของไทย ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสขอ พร้อมตั้งสถานีเชื้อเพลิง โดยเสนอเงินค่าตอบแทนก้อนใหญ่ให้ไทย แต่อังกฤษก็คัดค้าน

ยังมีความพยายามจะขุดคอคอดกระ แต่อังกฤษก็ยืนยันคัดค้านเรื่อยมา พ.ศ.2440 อังกฤษตกลงในอนุสัญญาลับว่า ไทยจะไม่ยอมให้ชาติหนึ่งชาติใดเข้ามาเช่า หรือถือกรรมสิทธิ์ดินแดนไทยบริเวณใต้ตำบลบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ลงไป โดยอังกฤษไม่เห็นชอบเด็ดขาด

ด้วยข้อจำกัดนี้ พ.ศ.2451 ไทยปฏิเสธการขอสัมปทานขุดคอคอดกระ จากรัสเซีย อังกฤษขอสัมปทานขุด…เมื่อ พ.ศ.2457 แต่โครงการนี้ล้มเลิกไป เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมา พ.ศ.2477-2479 มีข่าวใหญ่ ญี่ปุ่นได้สัมปทานขุดจากรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นและไทย ต่างก็ออกมาปฏิเสธ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ต้องยอมทำสัญญา ไม่ขุดคอคอดกระ หากอังกฤษไม่ยินยอม

พ.ศ.2497 ไทยปลดเปลื้องพันธกรณีจากอังกฤษได้ ก็มีการรื้อฟื้นการขุดคอคอดกระเป็นระยะ ผู้รื้อฟื้นการขุดส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งต้องการใช้เป็นเส้นทางลัด ขนส่งน้ำมันจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลางไปยังญี่ปุ่น

ข้อเสนอของญี่ปุ่นล้มเหลวอีกครั้ง ใน พ.ศ.2533 ในสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แต่เมื่อไทยมีปัญหาเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีการเสนอขอขุดอีกครั้ง

ครั้งนี้นอกจากมีญี่ปุ่นเป็นแกนนำ ยังมีรัฐบาลอีกหลายชาติสนับสนุน

จนถึงต้นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ.2544 โครงการขุดคอคอดกระ ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีก ครั้งนี้มีการศึกษาพบว่า จะต้องใช้ทุนมหาศาล 5 แสนล้าน ถึง 8 แสนล้าน แต่ความพลิกผันทางการเมือง โครงการนี้ก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ จนกระทั่งถึงบัดนี้

ขอขอบคุณข้อมูลกับถาพจาก wikpedia.com Cr. เถกิงเดช วงศ์ณิชาบูล