หน้าแรก บทความ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความแปลกหน้าของมุสลิม

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความแปลกหน้าของมุสลิม

602

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความแปลกหน้าของมุสลิม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความรู้เกี่ยวกับโรฮิงญาของผมทั้งคลุมเครือ และกะพร่องกะแพร่งเสียจนไม่อาจพูดถึงเขาได้เลย รู้อย่างเดียวว่า โศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ใหญ่ขนาดนี้ ไม่น่าจะเงียบหายไปเฉยๆ ได้ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างสงครามทั้งเย็นหรือร้อน ไม่ได้เกิดท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่อื่นใดในโลก สองอย่างนี้อาจบดบังโศกนาฏกรรมใหญ่ๆ ของมนุษย์อย่างที่เคยบดบังมาแล้วหลายหน ด้วยเหตุดังนั้น ฉากของโศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงตกอยู่ในลานบ้านของพม่าโดยตรง พม่าไม่อาจปิดบ้านได้อย่างแต่ก่อน ด้วยเหตุดังนั้น ท่าทีเฉยชาไม่ไยดีของพม่าคงไม่ช่วยให้รัฐบาลพลเรือนพม่ารอดตัวไปได้ในโลกภายนอก

ผมเข้าใจดีว่า รัฐบาลพลเรือนพม่ากำลังไต่ลวดเพื่อรักษาประชาธิปไตยให้รอด จึงหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่จะทำให้กองทัพกลับเข้ามายึดอำนาจอีก แต่ในการไต่ลวด อันตรายย่อมมีทั้งสองด้าน ปราศจากแรงหนุนอย่างแข็งขันของต่างชาติ กองทัพก็ยิ่งมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน และอาจยึดอำนาจได้โดยไม่ต้องเกรงนานาชาติลงทัณฑ์เหมือนกัน

ชะตากรรมอันเลวร้ายที่ชาวโรฮิงญาประสบอยู่ ทำให้ผมอดคิดถึงชาวมุสลิมในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ไปแล้วไม่ได้ ไม่เฉพาะแต่ในพม่า แต่มุสลิมในสังคมอื่นๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม ล้วนประสบกับการถูกหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเลือกปฏิบัติ และการแสดงความรังเกียจอย่างไร้อารยะในเกือบทุกสังคม

รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

ผมได้ยินคนไทยมักพูดถึงความรุนแรงที่เกิดในสามจังหวัดภาคใต้ ว่ามาจากความแตกต่างทางศาสนา ยิ่งหากเป็นเสียงจากรัฐไทยแล้ว ยิ่งเน้นเรื่องนี้มากและพยายามโฆษณาว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนา ได้รับความเคารพอย่างสมบูรณ์ในประเทศไทย ทั้งในทางกฎหมายและการปฏิบัติ

ผมไม่ทราบหรอกว่า ผู้พูดเชื่อสิ่งที่ตัวพูดหรือไม่ ผมอยากเตือนแต่เพียงว่า ศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์มีรากอันเดียวกัน ทั้งคัมภีร์และบัญญัติทางศาสนาก็ละม้ายกันมาก เหตุใดชาวคริสต์จึงไม่ถูกรังเกียจหรือกลั่นแกล้งในสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์เหมือนมุสลิม นอกจากนี้ เกือบทั้งโลก (ยกเว้นยุโรปในบางกรณี) ชาวมุสลิมและคนศาสนาอื่นเคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุข ไม่เฉพาะแต่ในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงในอินเดีย, ในจีน, หรือในบางชุมชนของแอฟริกาด้วย แม้แต่ชาวยุโรปเอง ที่รบก็รบกันไป แต่ก็มีพ่อค้ายุโรปเดินเรือไปค้าขายกับชาวมุสลิมในตะวันออกกลางเป็นปรกติ

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากสรุปในเบื้องต้นว่า อคติที่ชาวโลกมีต่อมุสลิมเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามเย็นนี้เอง (ในระหว่างสงครามเย็น อเมริกัน-อังกฤษ-ฝรั่งเศส อาจไม่ชอบนัสเซอร์แห่งอียิปต์, กัดดาฟีแห่งลิเบีย, ฯลฯ แต่ที่ไม่ชอบก็เพราะนโยบายของเขา ไม่เกี่ยวกับที่เขาเป็นมุสลิมแต่อย่างใด)

ผมจึงเชื่อว่า อคติที่คนจำนวนมากในปัจจุบันมีต่อมุสลิมนั้น ไม่ได้มาจากหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลาม ผมคิดว่ามาจากความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ในโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก มีแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาต่างออกไปจากเดิม

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ที่เราแปล religion ว่าศาสนานั้น เป็นการเอาศัพท์บาลีมาใช้ให้ผิดความหมายไป เพราะ “สาสนา” ในภาษาบาลีแปลว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น คำว่า “พระศาสนา” ที่คนไทยโบราณใช้แปลว่า Buddhism (Theravadin School) จะเรียกคำสอนของพระเยซู หรือพระมะหะหมัดว่า “ศาสนา” ไม่ได้ แม้แต่จะเรียกพุทธศาสนามหายานหรือวัชรยานว่าศาสนาก็ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ

ไม่แต่เฉพาะภาษาไทยนะครับ ภาษาทั้งโลกไม่มีคำที่จะแปล religion ตามความหมายปัจจุบันได้ทั้งนั้น รวมทั้งภาษาฝรั่งเองด้วย คำละตินที่ฝรั่งเศสและอังกฤษแปลงมาใช้นี้แต่เดิมแปลว่าข้อผูกมัดหรือข้อบังคับควบคุมของพระเจ้า และผมเข้าใจว่าพระเจ้าองค์นั้นต้องชื่อพระยะโฮวาห์ด้วย จะมีชื่ออื่น เช่น อัลเลาะห์หรือวิษณุหรืออมิตาภะไม่ได้

คำ RELIGION ในความหมายที่ใช้ในปัจจุบันเพิ่งเกิดขึ้น เมื่อชาวยุโรปแยกส่วนที่เป็นความเชื่อ, พิธีกรรม และการจัดองค์กรสงฆ์ออกไปจากวิถีชีวิตและการจัดองค์กรของฆราวาส ก่อนหน้านี้ แม่มดหมอผีของยุโรปไม่ได้นับถือ “ศาสนา” ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นชาวคริสต์ที่ย่อหย่อน หรือเป็นสาวกซาตานที่ต่อต้านพระคริสต์ พวกเขาอยู่นอก “ชุมชน”, นอกสังคม, หรือนอกโลกของความเป็นมนุษย์ ต้องเอาเขากลับเข้ามา หรือเผาเขาทิ้งเสียเท่านั้น

และโลกที่จะนำแม่มดหมอผีกลับเข้ามานั้น ไม่ใช่เพียงความเชื่ออย่างเดียว แต่รวมถึงวิถีชีวิตของคริสเตียน พิธีกรรมที่ชาวคริสต์ปฏิบัติ รวมถึงเข้ามาอยู่ในองค์กรทางสังคมที่เป็นของชาวคริสต์ด้วย เช่น แต่งงานกันเบื้องหน้าพระเจ้า มีลูกก็ต้องรับศีลล้างบาป (ซึ่งส่วนหนึ่งคือการลงทะเบียนสมาชิกใหม่ไว้กับโบสถ์ ซึ่งเป็นองค์กรทางสังคมที่จำเป็น) เหมือนเป็นชาวพุทธไทยที่ไม่รู้จักวันศีลวันโกน ไม่ฟังเทศน์มหาชาติ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดองค์กรทางสังคมด้วย) แม้เชื่อพระนิพพานเหมือนกัน ก็กลายเป็นคนนอกรีตหรืออาจเป็นผีปอบ ไม่มีที่อยู่ในชุมชนมนุษย์อีกต่อไป

กลับไปดูคัมภีร์ศาสนาต่างๆ นับตั้งแต่ทัลมุด (TALMUD) ของยิว และ “ศาสตร์” ต่างๆ ของพราหมณ์ลงมาถึงพระไตรปิฎก, ไบเบิล, กุรอ่าน ฯลฯ ก็จะพบว่า ล้วนไม่ได้แยกลัทธิความเชื่อออกไปจากวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของศาสนิก ระบบปกครอง ไปจนถึงสถาปัตยกรรมและความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ (ซึ่งปัจจุบันถูกแยกออกไปเป็นวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิชาที่อ้างหน้าตายว่าไม่เกี่ยวอะไรกับความเชื่อทั้งสิ้น)

ความคิดว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับโลกนี้โลกหน้า, ศีลธรรมทางศาสนา, พิธีกรรม ฯลฯ ที่แยกออกไปจากวิถีชีวิตปรกติ และเรียกว่าศาสนา เป็นความคิดใหม่ที่เกิดในยุโรปตะวันตกก่อน ฝรั่งเรียกว่า secularism หมายความว่าแยกเอาส่วนใหญ่ของวิถีชีวิตเข้ามาอยู่ในฆราวาสวิสัย ไม่เฉพาะแต่การบริหารรัฐอย่างเดียว แต่รวมถึงการกินการนอนการเรียนและการงานของแต่ละคนด้วย ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจแต่ละคน จะไปบังคับกันไม่ได้

(อาจยกเว้นประเทศที่เป็นหรือเคยเป็นคอมมิวนิสต์กระมัง เพราะลัทธิมาร์กซ์ช่วยขจัดมุมมองทางศาสนาออกไปจากความรู้ความเข้าใจโลก แรงกว่าวิทยาศาสตร์เสียอีก แต่ผมก็ไม่แน่ใจครับว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ จะมีประสิทธิภาพถึงขนาดนั้นจริง)

แม้กระนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อจักรวรรดินิยมตะวันตกขยายเข้าครอบงำเอเชีย ก็ทำให้ทุกศาสนาในสังคมเอเชียอาศัยฐานทางศาสนาของตนในการปรับตัว ด้วยจุดมุ่งหมายให้เกิดความเข้มแข็งในด้านต่างๆ ทั้งการทหาร, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม ทัดเทียมกับสังคมตะวันตก

ขอให้สังเกตด้วยว่า ทำไมต้องอาศัยฐานทางศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น เหตุผลไม่ใช่เพราะคนเอเชียเคร่งศาสนามากกว่าคนยุโรป แต่เพราะอย่างที่พูดมาแต่ต้นแล้วว่า ศาสนากับทุกด้านของวิถีชีวิตแยกออกจากกันไม่ได้ (เหมือนกับที่สังคมยุโรปก็เคยเป็นก่อนความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในศตวรรษที่ 17-18) ฉะนั้น ไม่ว่าจะปรับอะไรก็ไม่พ้นพ้องพานกับศาสนาไปทุกที

และด้วยเหตุดังนั้นฮินดู, อิสลาม, พุทธ และขงจื๊อจึงถูกปรับเปลี่ยนด้วยอิทธิพลวิทยาศาสตร์และปัจเจกชนนิยมในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้างทั้งสิ้น หมายความว่าศาสนาถูกแยกออกไปจากวิถีชีวิตปรกติของคนเอเชีย แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ชีวิตอยู่ในแดนฆราวาสวิสัยเต็มที่เท่าฝรั่ง มีความลักลั่นในวิธีคิด บางครั้งก็เห็นศาสนาเป็นเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัว บางครั้งก็ไม่ยอมให้เป็นส่วนตัวขนาดนั้น

อันที่จริง กว่าศาสนาในยุโรปจะถูกแยกออกไปจากวิถีชีวิตฆราวาสได้ขนาดนั้น ก็ต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษ ดังนั้น จึงจะคาดหวังให้คนเอเชียปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาให้เหมือนยุโรปได้ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะศาสนาในสังคมโบราณทั้งหลายสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับความจำเป็นในการดำรงชีวิตหลายอย่าง (มากกว่าแค่ตายแล้วไปไหน) ยกตัวอย่างในยุโรป หากไม่มีรัฐสมัยใหม่เข้ามาทำสำมะโนครัวแทนวัด ซึ่งเคยเป็นผู้จดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนแต่งงาน ฯลฯ มาก่อน จะเอาตัวเลขอะไรไปเก็บภาษี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอาศัยวัดเป็นคนทำให้บางส่วน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กว่าที่ยุโรปจะสามารถแยกศาสนาออกไปจากส่วนใหญ่ของชีวิตได้ ก็ต้องมีสถาบันทางการเมือง, สังคม และเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง ที่อาจเข้ามาทำหน้าที่แทนศาสนา สถาบันใหม่ๆ เหล่านี้ยังไม่เกิดในเอเชีย นอกจากผิวสีของนายที่เปลี่ยนเป็นขาวเท่านั้น

ในอินเดีย ระบบวรรณะไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและแรงงานในชุมชนด้วย จู่ๆ จะให้เลิกระบบวรรณะโดยไม่ได้สร้างตลาดงานที่เปิดกว้างแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คงมีคนอดตายเป็นล้าน ส่วนบ้านของเศรษฐีที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์หรือกษัตริย์คงเหม็นขี้น่าดู เพราะไม่มีจัณฑาลเลี้ยงหมาไว้ทำความสะอาดบริเวณที่จัดไว้ให้ขี้ของหมู่บ้าน เพราะครอบครัวจัณฑาลไม่ได้รับแบ่งข้าวจากคนอื่นในหมู่บ้านอีก จึงอดตายไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว นอกจากนายเปลี่ยนสีผิวแล้ว สังคมและเศรษฐกิจเอเชียก็เปลี่ยนไปด้วย ถึงไม่ได้สมาทานลัทธิปัจเจกชนนิยมเต็มที่ แต่ผู้คนก็หลุดออกจากพันธนาการของประเพณี, ครอบครัวและตระกูล, วัด และชุมชนมากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้สมัยใหม่ที่วางอยู่บนรากฐานการเข้าใจโลกแบบวิทยาศาสตร์ เพื่ออาจทำมาหากินในเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ ศาสนาตามความหมายสมัยใหม่ คือเป็นอีก “ห้อง” หนึ่งของชีวิตที่อาจแยกออกเป็นหลายห้องได้เท่านั้น จึงกลายเป็นความเข้าใจของชาวเอเชียไปด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น “ศาสนา” ในความเข้าใจของคนสมัยใหม่ในเอเชีย จึงหดแคบลงเหลือแต่เพียงแก่นแท้ของคำสอนทางอภิปรัชญา ไม่รวมพิธีกรรม, นักบวช, อิทธิปาฏิหาริย์, อารมณ์ความรู้สึกหรือแรงศรัทธา, ผีสางนางไม้, ฯลฯ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ เพราะสิ่งเหล่านั้นคือสะพานที่เชื่อม “ศาสนา” เข้ากับวิถีชีวิตส่วนอื่นๆ ของคนในสังคมโบราณ (เช่น เณรพลายแก้วได้เมียเพราะขึ้นเทศน์มหาชาติ) เมื่อศาสนาไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงถึงชีวิตส่วนอื่นแล้ว บริวารวัตถุของศาสนาเหล่านั้นก็หมดหน้าที่ไปด้วย

ทั้งหมดนี้ นำเรามาสู่ข้อสังเกตสำคัญอย่างหนึ่งคือ ในบรรดาศาสนาของเอเชียทั้งหมด (ไม่เว้นแม้แต่ศาสนาผี) ต่างก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพียงส่วนเดียวหรือห้องเดียวในชีวิตของผู้คน ยกเว้นแต่ศาสนาอิสลาม

ไม่ใช่ไม่แบ่งแยกออกไปเสียเลยนะครับ ก็มีบ้าง และมากน้อยต่างกันตามแต่ชาวมุสลิมแต่ละคนในแต่ละวัฒนธรรม แต่โดยรวมแล้วยังนับถือศาสนาเหมือนในสังคมโบราณ คือไม่ได้แยกออกไปจากวิถีชีวิต หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือถูกกระทบด้วยกระบวนการทำให้อยู่ในแดนฆราวาสวิสัยน้อยกว่าศาสนิกของศาสนาอื่น ผมเคยได้ยินนักปราชญ์มุสลิมตั้งข้อระแวงสงสัยกับ secularization มาก จนเหมือนเป็นยุทธวิธีที่จะทำลายศาสนาอิสลามเอาเลย

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ผมไม่มีพื้นที่พอจะอธิบาย และถึงมีพอ ความเข้าใจผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังคลุมเครือเกินกว่าจะอธิบายได้ แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับที่ผมอยากชวนให้คิดว่าทำไมมุสลิมจึงถูกคนที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลกไม่ไว้วางใจ ถูกผลักออกไปเป็น “คนอื่น” ง่าย จนถึงมีอคติในทางร้ายแก่มุสลิม

(ยังไม่จบ)