คืนความสุขมุสลิม Thailand Halal No. 1

36

คืนความสุขมุสลิม Thailand Halal No. 1

ภาพพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไหว้นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นประมุขของมุสลิมในประเทศไทย ในวันเป็นประธานเปิดงาน Thailand Halal assembly ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัล เวิร์ลนั้น เป็นภาพที่ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนทำมาก่อน แม้ว่าความเป็นทหารพล.อ.ประยุทธ์ ดูขึงขังแต่ภาพที่ออกมาสะท้อนความนอบน้อมและการให้เกียรติให้ความเคารพอย่างสูง เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ให้ความนอบน้อมต่อผู้นำ เท่ากับสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับมุสลิมทั่วประเทศด้วย เสียงสะท้อนถึงพล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นไปในแง่บวก เฉพาะในเพจ Mtoday ที่เป็นรายแรกที่นำเสนอภาพข่าวดังกล่าว มีคนเข้าชมมากกว่า 100,000 ครั้ง และมีคนแชร์และแสดงความเห็นอีกจำนวนมาก เป็นความประทับใจที่มุสลิมในประเทศไทยสะท้อนออกมา

จะว่าไปแล้ว ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา มุสลิมในประเทศไทยรู้สึกว้าเหว่พอสมควร เพราะขาดคนที่เข้ามาดูแลปัญหาให้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่มีส.ส.มุสลิมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว การผลักดันการแก้ปัญหาหลายๆ ด้านจึงดูเหมือนจะถูกมองข้าม ครั้นเมื่อถึงคราวรับสมัครรับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา มีมุสลิมที่เป็นระดับหัวกะทิสมัครจำนวนหลายคนเข้ารับสมัครแต่ไม่ได้รับการคัดสรรแม้แต่คนเดียว มุมมองของมุสลิมต่อ ผู้สรรหาจึงค่อนข้างเป็นลบ แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาอะไรออกมาทุกคนยอมรับในกติกา

การเข้ามาของ คสช. มุสลิมได้รับความสำคัญขึ้นมาบ้าง เมื่อจุฬาราชมนตรี ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยเจตนาดีว่า ต้องการตัวแทนมุสลิมเข้าไปร่วมร่างกฎหมาย แต่ด้วยตำแหน่งประมุขทางศาสนา จุฬาราชมนตรี จึงไม่เหมาะที่จะไปนั่งเป็นสมาชิกสนช. จึงได้ลาออกจากตำแหน่งท่ามกลางเสียงยกย่องจากทุกภาคส่วน ต่อมาได้มีการแต่งตั้งนายอนุมัติ อาหมัด อดีต ส.ว. สงขลา และรองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็น สนช. ทำให้อย่างน้อยก็มีมุสลิมที่เป็นตัวแทนจากองค์กรบริหารกิจการมุสลิมอยู่ในองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกรอบการบริหารประเทศ ต่อมาก็มีมุสลิม 4 คน ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอีก 1 คน คือ ดร.ปกรณ์ ปรียากรณ์ เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตำแหน่งที่มีความหมายในการวางกฎระเบียบของประเทศ

“ที่มองว่าเขาไม่ให้ความสำคัญกับมุสลิมนั้น ไม่จริง”  ดร.ปกรณ์ได้กล่าวในงานเลี้ยงแสดงความยินดีตอนได้รับตำแหน่ง

ไม่เพียงการเข้าไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายต่างๆ สิ่งสำคัญคือ การเข้าไปผลักดันกฎระเบียบที่เป็นความต้องการของมุสลิม ความต้องการที่มีกรอบการบริหารมุสลิมในประเทศไทยโดยราบรื่น ไม่มีปัญหาอุปสรรค ขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวทางอิสลามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ “ฮาลาล” เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจของคนมุสลิมในประเทศไทย แต่รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศด้วย

ข้อมูลจาก ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาลจำนวน 100,000 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งกว่า 90% ไม่ใช่มุสลิมเป็นเจ้าของเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศที่มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการส่งไปไปต่างประเทศ โดยประเทศไทยมียอดส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล 1.1 ล้านบาท แต่หากไม่รวมฮาลาลที่ส่งออกไปยังประเทศมุสลิมแล้วมูลค่ามีจำนวน 3.2 ล้านบาท และมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากหากมีการส่งเสริมผลักดันอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ

การส่งเสริมกิจการฮาลาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารอิสลามที่มีมาตรฐาน ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาความขัดแย้งเกิดจากความแตกต่างจากอาชีพ และความไม่เท่าเทียม จึงพร้อมคืนความสุขให้คนไทยทุกศาสนา

“การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนากิจการฮาลาลเพื่อแสดงศักยภาพของประเทศและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ซึ่งการส่งออกของไทยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าการส่งออกของไทยจะเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ยังมีปัญหาหลายอย่างในโลก มีการแข่งขันมากขึ้น จึงต้องสร้างหุ้นส่วนอาเซียนและสร้างศักยภาพในทุกด้าน โดยมีผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันและเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2558 จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และกว้างขึ้น เนื่องจากเกิดจากการรวมกลุ่มของประชาคมอาเซียน โดยชาวมุสลิมในประชาคมอาเซียนมีประมาณ 300 ล้านคน การค้าขายการลงทุนจึงต้องเน้นไปที่สินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารของชาวมุสลิมที่มีกระบวนการ การผลิตที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร

“ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาให้สินค้าของไทยมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ศาสนารับรอและวิทยาศาสตร์รองรับโดยจะต้องนำเอาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากขึ้น ที่สำคัญจะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง การผลิตอาหารของโลกต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ปัญหาหลายอย่างในโลกทำให้มีการแข่งขันมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างการเป็นหุ้นส่วน รวมพลังกันทุกด้านและแบ่งผลประโยชน์เท่าเทียม การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนรัฐบาลมีการเตรียมพร้อมทั้งสามเสาหลักที่ต้องขับเคลื่อนให้ทันเวลา โดยต้องเร่งสร้างความเชื่อมโยงในทุกด้าน หากเชื่อมโยงไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นต้องทำให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างความรักสามัคคีระหว่างประเทศอาเซียน เพราะไทยจะอยู่ประเทศเดียวไม่ได้ เราต้องนำพาอาเซียนไปพร้อมกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากความแตกต่างทางอาชีพ และความไม่เท่าเทียมกันจนนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่เราขอยืนยันว่า รัฐบาลจะคืนความสุขให้ประชาชนคนไทยทั้งชาวพุทธ มุสลิม หรือศาสนาใดก็ตามอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งใดที่ยังติดค้างผมจะรับไว้เพียงคนเดียว และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และวันเวลาที่เหลือจะแก้ไขปัญหาเพื่อลูกหลาน เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความสุข สงบ และสันติ” นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสแรกที่ได้คุยกับพี่น้องชาวมุสลิมในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ทั้งการขับเคลื่อนประเทศที่ตอนนี้เดินหน้าได้พอสมควร

2. การรักษาความปลอดภัยของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และ3. การปฏิรูปประเทศ ทั้ง 3 ส่วนนี้ประเทศเพื่อนบ้านก็มีความเข้าใจพอสมควร ซึ่งความเข้าใจนี้เกิดจากการร่วมมือของทุกคน วันนี้ผู้แทนของโอไอซีได้เข้ามาร่วมฟังด้วยขอยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลทุกอย่างให้ดีที่สุด

“ในหลวงทรงตรัสว่าประเทศไทยนั้นทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพในการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยด้วยความเท่าเทียมกัน โดยจะดูแลทุกศาสนาที่อยู่ในประเทศ และผมซึ่งเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะดูแลทุกคนให้ดีที่สุดเช่นกัน และหวังว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะยุติลงโดยเร็วที่สุด ด้วยความร่วมมือของเราทุกคนที่เป็นคนไทยและรัฐบาลจะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกลไกของกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับของสากลและจะไม่ทำอะไรที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวท่ามกลางบุคคลสำคัญในแวดวงมุสลิมไทยและต่างประเทศ อาทิ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ผู้แทนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี เอกอัคราชทูต ทูตานุทูตชาติอิสลาม และองค์กรนานาชาติเกี่ยวกับฮาลาล 47 ประเทศ หลังกล่าวจบได้รับเสียงปรบมือ รวมทั้งมีการร้องเพลง “คืนความสุข” ในรูปแบบการประสานเสียง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรบมือให้ทันทีที่จบเพลง รวมทั้งได้เดินชมบูธภายในงานที่มีมากว่า 200 บูธ ที่มีการจัดแสดง
สินค้าผลิตภัณฑ์และบริการฟฮาลาลทั้งอุปโภคและบริโภค ทั้งไทยและต่างประเทศภายใต้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

ก่อนหน้านั้น ได้มีมีพิธีลงนาม MRA ระหว่างศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และองค์กรระหว่างประเทศ 12 ประเทศ และลงนามใน MOU ความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนากิจการฮาลาลกับองค์กรในประเทศไทย 10 องค์กร เพื่อรร่วมกับขับเคลื่อนธุรกิจฮาลาลในประเทศไทย

ผลิตภัณฑ์ฮาลาล สามารถขยายตลาดได้จำนวนมหาศาล ประเทศมุสลิมมีประชากรรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,900 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 25% ของประชากรโลก คาดว่าภายในปี 2030 ประชากรมุสลิมจะเพิ่มเป็น 2.2 พันล้านคน โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่กำลังจะกลายเป็นประชาคมเดียวกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 มีประชากรมุสลิมครึ่งหนึ่ง ประมาณ 300 ล้าน โดยประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ผลิตอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศยกตัวอย่าง ประเทศซาอุดิอาระเบีย ผลิตเนื้อไก่ได้ 400.000 เหรียญแต่ความต้องการบริโภค มากถึง 900,000 เหรียญต่อปี กลุ่มประเทศ EU แม้มีประชากรมุสลิม 12 ล้านคน แต่ความต้องการอาหารฮาหารมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี กลุ่มประเทศในแอฟริกาเกือบ 300 ล้านคน ประชากรมุสลิมซึ่งเป็นกลุ่มคนบริโภคจำนวนมหาศาลเหล่านี้ส่งผลให้โอกาสของการส่งสินค้าฮาลาลไทยมีโอกาสสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันอยู่ที่ศักยภาพของการผลิตและการสร้างความเชื่อมั่นในตรา “ฮาลาล” ที่ได้เปิดแบรนด์ใหม่ Daimon Halal

ดร.วินัย ดะห์ลัน รองประธานคณะกรรมการ กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันพัฒนาฮาลาลไทยและผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จำนวนประชากรมุสลิมที่มีจำนวนมหาศาลทำให้ตลาดสินค้าฮาลาลทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค ตั้งแต่เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ซอสปรุงอาหาร น้ำผลไม้ เสื้อผ้า รวมถึงภาคบริการ เช่น ธนาคาร โรงแรม โรงพยาบาล มีความต้องการเพิ่มขึ้น และอาหารฮาลาลที่มุสลิมบริโภคก็มีขยายตัวเพิ่มขึ้น

การส่งออกสินค้าฮาลาลไทยไปต่างประเทศ ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อปี เป็นอันดับ 5 ของการส่งออกอาหารฮาลาลของโลก รองจากบราซิล สหรัฐฯ อเมริกา เป็นต้น โดยไทยส่งออกไปยัง 57 ประเทศ

“ยืนยันว่า ฮาลาลไทย มีระบบการรับรองฮาลาลอันดับ 1 ของโลกไทย และมีโอกาสที่จะก้าวเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกฮาลาล หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังและเร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริหารรวมทั้งสร้างสัญญะ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อชาวมุสลิมทั่วโลก ภายใต้แบรนด์ Thailand Daimond Halal หรือฮาลาลเพชรจากประเทศไทย การจัดงาน Thailand Halal assembly มีกลุ่มเป้าหมายมาร่วมงานมากกว่า 5,000 คน ทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานฮาลาลไทยต่อประชาคมโลก คาดว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านฮาลาลขยายตัว 15-20% ในปี 25558” ดร.วินัย กล่าว

ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฮาลาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีอุตสาหกรรมอาหาร 1 ใน 10 ของโลก และติด 1 ใน 5 ประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลของโลก อาหารไทย มี 3 ชนิดที่เอ็นอาหารยอดนิยมของโลก เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่เป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวของนยักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นเมดิคอลฮับของเอเชีย และกำลังเป็นฮาลาลฮับ ประเทศไทยมีมุสลิม 5.5 ล้านคนจากจำนวนประชากร 70 ล้านคน มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาประเทศ มีเสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักศาสนา และมีระบบการบริหารจัดการกันเองในรูปแบบคณะกรรมการอิสลามฯ ในหลายระดับ

“เราเริ่มต้นการรับรองฮาลาลตั้งแต่ปี 1949 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระบบตรวจสอบและรับรองมีกระบวนการถึง 6 ขั้นตอน รวมทั้งมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลทำหน้าที่ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนให้เห็นถึงความมีมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ฮาลาล ที่จะเชื่อมั่นได้ ขณะเดียวกัน ในการผลิตก็มีมาตรฐานอุตสาหกรรมด้วย” ดร.ปกรณ์กล่าว และว่า ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทยรับรองถึงความปลอดภัยสำหรับมุสลิม มีภาพลักษณ์ที่ดี มีธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า

ดร.ปกรณ์กล่าว และว่า ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทยรับรองถึงความปลอดภัยสำหรับมุสลิม มีภาพลักษณ์ที่ดี มีธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า

ไม่เพียงผลิตภัณฑ์ สำหรับการบริโภคแต่ “ฮาลาล” ครอบคลุมเกือบทุกส่วนในการดำเนินชีวิตของมุสลิม รวมถึง “การเงินฮาลาล” ธนาคารอิสลามและสหกรณ์อิสลาม เป็นสถาบันการเงินที่ได้รับการยอมรับว่า “ฮาลาล” คือ ไม่เกี่ยวพันกับดอกเบี้ยที่เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา อ.อรุณ บุญชม อดีตประธานคณะกรรมการชารีอะห์ และดร.อณัส อมาตยกุล ประธานคณะกรรมการชารีอะห์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้บริการตามหลักการศาสนา ปราศจากดอกเบี้ย ทั้งคนฝากและคนกู้เงิน เป็นธนาคารที่จะรองรับการลงทุนของมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในกิจการฮาลาล และธนาคารก็มีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุน ส่งเสริมกิจการฮาลาลอย่างเต็มที่

เช่นเดียวกับมนตรี มุขตารี ประธานชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหกรณ์เป็นสถาบันการเงินที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สามารถช่วยส่งเสริมการลงทุนของชาวบ้านในระดับรากหญ้าหรือเอสเอ็มอีได้เป็นอย่างดี เป็นรูปแบบสถาบันการเงินที่มุสลิมให้ความนิยม จะเห็นได้จากตัวเลขเงินฝากของสหกรณ์อิสลามเมื่อปี 2552 มีจำนวน 3,000 ล้านบาทซึ่งปัจจุบันตัวเลขได้เพิ่มขึ้นมากกว่านั้น

อีกด้านหนึ่ง ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทย มีบริการด้านการท่องเที่ยวฮาลาล ทั้งที่เป็นของมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมเพียงพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศมุสลิม ไม่เพียงจังหวัดภาคใต้ 5 จังหวัด สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ฝั่งอันดามัน กระบี่ พังงา ภูเก็ตด้วย รวมถึงกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวมีส่วนในการพัฒนาสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยคาดว่า ในปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา 29 ล้านคน

“มีความตั้งใจตั้งแต่เข้ามาว่า จะผลักดันการท่องเที่ยวแบบฮาลาล ซึ่งจะผลักดันทั้งการให้บริการและการทำการตลาด ซึ่งเรากำลังจะเข้าสู่อาเซียนจะมีนักท่องเที่ยวมุสลิมเข้ามาจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่เป็นมุสลิมที่มีมาตรฐานเป็นที่เชิดหน้าชูตาที่จะรองรับนักเที่ยวกลุ่มฮาลาลได้เป็นอย่างดี” นายอิทธิฤทธิ์ กล่าว

การบริหารกิจการฮาลาลในปัจจุบันมีมุสลิมที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ ทำหน้าที่บริหาร ทั้งในภาคการผลิต การตรวจสอบ ตลอดจนการท่องเที่ยว และการรักษาพยาบาล และภาครัฐเองก็ให้การสนับสนุนอยู่พอสมควร หากร่วมมือกันอย่างจริงจัง การที่ฮาลาลไทยจะก้าวไปสู่อันดับ 1 ก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม แม้ฮาลาล จะมีมุสลิมเป็นเจ้าของน้อย แต่แต่ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเกือบทุกภาคส่วน หากฮาลาลไทยได้รับการยอมรับ แน่นอนว่า มุสลิมก็ย่อมได้รัยอานิสงค์ที่ดีได้ “คืนความสุข” อย่างยั่งยืน

หมายเหตุ : ข้อมูลจากนิตยสาร M TODAY ฉบับประจำเดือนมกราคม 2558