36 ปี ปฏิวัติอิหร่าน

48

“อิหร่าน” ปฏิวัติสู่อิสลามเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางกระแสการปั่นกระแสความขัดแย้ง “สุนหนี่-ชีอะห์” แต่เอกอัคราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ยืนยันอิหร่านยื่นมือเป็นมิตรกับทุกฝ่ายและยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีกับมุสลิมในประเทศไทย

การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านเป็นผลพวงหนึ่งจากการเข้าไปแทรกแซงของสหรัฐฯ ที่ต้องการเข้าไปมีผลประโยชน์ในทรัพยากรน้ำมัน โดยไปสนับสนุนพระเจ้าชาร์ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สหรัฐฯ สนับสนุนการฝึกอาวุธให้กับกองกำลังที่สนับสนุนพระเจ้าชาร์ และเมื่อพระเจ้าชาร์เข้ามามีอำนาจกองกำลังส่วนนี้ก็ใช้อำนาจทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้ามอย่างรุนแรงก่อให้เกิดการต่อต้านของประชาชน อิหร่าน พระเจ้าชาร์ปกครองอิหร่านตามแนวทางตะวันตก ไม่เคร่งครัดในอิสลามและมีชีวิตที่ฟุ่งเฟ้อฟุ่มเฟือย และเป็นมหามิตรอย่างแนบแน่นกับสหรัฐฯ ที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันจากอิหร่าน พระเจ้าชาร์ได้กอบโกยทรัพย์สินจำนวนมากไปไว้ที่สหรัฐฯ การปกครองของพระเจ้าชาร์สร้างความไม่พอใจให้กับคนอิหร่านมีการวิพากษ์วิจารณ์และก่อหวอดประท้วง ซึ่งพระเจ้าชาร์ก็ใช้ไม้แข็งในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน หลายคนต้องหลบหนีไปอาศัยในต่างประเทศเพื่อหลบภัย รวมทั้งอยาตุลา โคมัยนี ซึ่งเป็นคนที่มีอิทธิพลสูงต่อคนอิหร่าน จนเมื่อการต่อต้านถึงขีดสุดคนอิหร่านทุกหย่อมหญ้าออกมาชุมนุมขับไล่พระเจ้าชาร์ จนที่สุดพระเจ้าชาร์ต้องลี้ภัยไปประเทศสหรัฐฯ อิหร่านได้มาปกครองตามแนวทางอิสลาม (ชีอะห์) และเปลี่ยนชื่อเป็น สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็ได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน และดำเนินมาตรการแทรกแซง บอยคอตตลอดระยะเวลา 36 ปี รวมทั้งการยุยงให้เกิดสงครามอิรัก-อิหร่านที่ดำเนินอยู่ถึง 8 ปี สร้างความเสียหายให้กับทั้ง 2 ประเทศมหาศาล อิหร่านพัฒนาประเทศ ท่ามกลางกระแสกดดัน แต่ก็สามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีจนทันสมัยในหลายๆด้าน โดยไม่ต้องพึงพาตะวันตก แต่อิหร่านก็เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับจีน และรัสเซีย
ฮุเซน กะมาลียอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การคว่ำบาตรของตะวันตกไม่มีผลอะไรกับอิหร่าน และไม่ได้เป็นข้ออ้างและไม่ได้เป็นวิธีการที่ดี การแก้ปัญหาทางการเมืองและมันขัดแย้งกับการที่ว่ามนุษย์ชาติจะมาคว่ำบาตรกัน “อิหร่านไม่ได้เป็นประเทศเล็กๆ และไม่ได้เป็นประเทศที่ไร้ความสามารถ เราเป็นประเทศ ที่มีความสามารถสูงและเราเป็นประเทศที่มีทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศของเรา ในหลายๆ งานอุตสาหกรรมเราเป็นผู้ผลิตเอง และวิธีการแก้ไขของประเทศเราก็คือยึดติดกับสิ่งที่ประเทศเรามี และใช้ในสิ่งที่เรามี และเราได้พึ่งและพิงไปที่ประชาชนของเราเพราะเราเชื่อประชาชนตัวเอง” เอกอัครราชทูตอิหร่าน กล่าวอย่างเชื่อมั่น เขายังบอกว่า การคว่ำบาตรเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและผิดมนุษยธรรมแต่เราก็เชื่อว่าประชาชนของเราพร้อมกับการรับมือ แต่ก็เป็นข้อดีที่เราถูกคว่ำบาตร เพราะเราอิหร่านสามารถพัฒนาตนเองให้ออกมาจากวิกฤตได้ จะเห็นได้จากผลงานและการพัฒนาประเทศของเรามีความเจริญมากกว่ายุคที่ไม่มีการคว่ำบาตรเสียอีก
“ที่สำคัญเรามีเพื่อนและมิตรอีกมากมายในโลกและเพื่อนที่ดีและมิตรนี้เป็นผู้ช่วยเหลือเรามาตลอดและผมจะขอย้ำอีกทีว่า การคว่ำบาตรนั้นไม่ได้เป็นวิธีที่ถูกต้องของการแก้ปัญหา และวิธีที่ถูกต้องและที่ดีที่สุดคือการพูดคุย เป็นวิธีที่ว่ารัฐบาลปัจจุบันของอิหร่านมุ่งหน้าและพร้อมที่จะพูดคุย และพร้อมที่จะไปพูดคุยกับประเทศที่คว่ำบาตรเราด้วย” เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย กล่าวและว่า กับสหรัฐฯ ถ้าเข้ามาพูดคุยอย่างมิตรเราก็พร้อมจะพูดคุย ไม่ใช่การข่มขู่ แต่ตอนนี้เราไม่ต้องการความสัมพันธ์กับอเมริกาเลย และเรายังหวังว่าเรายืนด้วยตัวเราเอง และเรายังมีเพื่อนอีกหลายประเทศ ส่วนปัญหาในตะวันออกกลาง การที่ซาอูดิอาระเบียออกมาใช้มาตรการราคาน้ำมันเพื่อต้องการทำลายเศรษฐกิจของอิหร่านตามที่มีการวิเคราะห์กัน เอกอัคราชทูตอิหร่าน กล่าวว่า อิหร่านได้ยื่นมือไปยังเพื่อนบ้านทุกประเทศเพื่อสร้างความเป็นมิตรเราไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร แต่ก็อยู่ที่ประเทศเหล่านั้นว่า จะเป็นมิตรกับเราหรือไม่ เราให้เกียรติกับทุกประเทศแต่เขาก็ต้องให้เกียรติเราด้วย เกี่ยวกับปัญหากลุ่มขบวนการไอเอสที่กำลัง สร้างความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ฮุเซน กะมาลียอน กล่าวว่า อิหร่านเป็นชาติแรกที่ออกมาประกาศว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่ก็มีบางประเทศให้การสนับสนุน และตอนนี้กลุ่มนี้ก็ยิ่งเป็นกลุ่มที่อันตราย คิดว่าทุกประเทศต้องร่วมมือกันในการปราบปรามกลุ่มนี้ “อิหร่านไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง เราเน้นการพูดคุย เน้นสันติภาพ แต่สำหรับกลุ่มไอเอสที่มีการวิเคราะห์ว่าเขามีแผนจะบุกอิหร่านนั้น เราได้ขีดเส้นไว้แล้วถ้า ไอเอสเข้ามาเราจัดการอย่างหนักแน่นอน เราประกาศ ไว้แล้ว และกลุ่มนี้ก็รู้ดีว่าเราเป็นอย่างไร” เอกอัคราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย กล่าว
ในปัญหาความขัดแย้งระหว่างชีอะห์กับสุนหนี่ ที่มีการโหมให้เกิดกระแสความเกลียดชังระหว่างกันนั้น เอกอัคราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยเห็นว่า เป็นแผนของมหาอำนาจที่ต้องการให้ชาติมุสลิมแตกแยกกัน และคนมุสลิมแตกแยกกัน เพื่อพวกเขาจะได้ประโยชน์จากความแตกแยกนี้ แต่สำหรับอิหร่านเราไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกับใคร  “อิหร่านไม่เคยแบ่งแยกว่าสุนหนี่หรือชีอะห์เราถือว่าเป็นมุสลิมเหมือนกัน และเราก็ได้ช่วยเหลือพี่น้องสุนหนี่อย่างกลุ่มฮามาส ก็เป็นสุนหนี่ ซึ่งอิหร่านก็ได้ไปช่วยเหลือ หรือพี่น้องในปาเลสไตน์เราก็ไปช่วยเหลือ ถามว่า พวกเขาเป็นชีอะห์หรือไม่ พวกเขาเป็นสุนหนี่ แต่เราก็เข้าไปช่วยเหลือ เพราะความเป็นมุสลิมด้วยกัน” เอกอัคราชทูตอิหร่าน กล่าวและว่า สำหรับประเทศไทยไม่มีปัญหาระหว่างอิหร่านกับพี่น้องมุสลิมในระเทศไทย เรามีสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย ทั้งที่เป็นส่วนบุคคลและองค์กร เรามีสัมพันธ์ที่ดีกับจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามฯ และกับศูนย์กลาง อิสลามแห่งประเทศไทย ตนก็ไปละหมาดบ่อยครั้ง ยืนยันว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพี่น้องมุสลิมประเทศไทยรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิหร่านก็เป็นมิตรที่ดีต่อกัน
เขากล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิหร่านที่มีมายาวนาน เราจะเห็นได้ว่าผู้นำของทั้ง 2 ประเทศมีความแน่วแน่และมีความมั่นคงที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมทาง หรือการเมือง เรามีความเข้าใจกันและมีความเชื่อใจกันระหว่าง ทั้ง 2 ประเทศ “เรามีความสัมพันธ์ทางการทูต 60 ปี แต่ความสัมพันธ์เรามีมาก่อนหน้านั้นหลายร้อยปี และในโอกาสความสัมพันธ์ครบรอบ 60 ปี เป็นโอกาสที่อิหร่านและไทยจะเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ และเพิ่มความร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ โดยอิหร่านมีโปรแกรมและแผนการทำงานในการที่จะร่วมมือกับประเทศไทย และหวังว่าในปี 2015 เราจะเริ่มทำทีละโครงการ เรามีแผนที่เชิญคณะรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกระทรวงวัฒนธรรมให้เข้ามาเยือนกันระหว่าง 2 ประเทศ และการจัดพิมพ์หนังสือและนิตยสารที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของไทยและอิหร่านและงานอีเว้นต์ต่างๆ ที่จะจัดขึ้นระหว่างสัปดาห์วัฒนธรรม” เขา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เอกอัคราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับประเทศไทยอยู่ภายใต้ขอบเขตขององค์กรระหว่างประเทศ (ที่มีมติแซงชั่นอิหร่านที่ไทยต้องปฏิบัติตาม) ทำให้ความสัมพันธ์อย่างด้านเศรษฐกิจไม่ราบรื่นนัก เพราะบางอย่างจะต้องซื้อขายผ่านคนกลาง ซื้อขายโดยตรงไม่ได้ ทำให้มีราคาแพงขึ้น ตรงนี้ถือเป็นอุปสรรค แต่เราก็พยายามให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558