โรงเรียนรัฐ“จัดการศึกษาสองระบบ” สัมฤทธิ์แห่งนวัตกรรมการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

95


 

ปัญหาโรงเรียนของรัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดเนื่องมาจากเด็กส่วนใหญ่เป็นมุสลิม การเรียนโรงเรียนของรัฐทำให้ไม่ได้เรียนศาสนาจึงมีแนวคิดจัดสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนรัฐ เริ่มต้นที่โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม ที่อำเภอแว้ง ได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากผู้ปกครองและชุมชน

 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดโครงการ ทายาทตาดีกา ที่โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม อ.แว้ง จ.นราธิวาส โครงการทายาทตาดีกา เป็นโครงการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม นายนิรัตน์ นราฤทธิพันธ์ ได้คิดให้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนและช่วยเหลือชุมชนด้านการศึกษา โดยเป็นโครงการที่เปิดให้นักเรียนของโรงเรียนสมัครเป็นจิตอาสาสมัครเป็นครูสอนนักเรียนในศูนย์อิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ตามชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งอำเภอจำนวน 37 แห่ง โดยมีนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรเข้าไปสอนในตาดีกา โดยตาดีกาขนาดใหญ่ใช้นักเรียน 2 คน ตาดีกาขนาดเล็กศูนย์ละ 1 คนประกอบกับโครงการคุตบะห์สัญจร โดยเด็กนักเรียนผู้ชายไปฝึกอ่านคุตบะห์ตามมัสยิดต่างๆ ในอำเภอแว้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในชุมชนว่านักเรียนที่เรียนสองระบบในโรงเรียนของรัฐมีความรู้ไม่ด้อยกว่าสถาบันการศึกษาของเอกชน

ทั้งนี้นายภาณุเห็นด้วยในแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม ได้ชื่นชมการดำเนินงานของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่สามารถจัดการศึกษาและส่งเสริมการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น และประสบความสำเร็จ จึงให้เป็นโรงเรียนต้นแบบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้นายภาณุยังได้มอบเครื่องดนตรีวงโยธวาทิตให้กับโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม งบประมาณ 819,000 กว่าบาท เพื่อฝึกฝนให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการเล่นดนตรี การเรียนรู้การทำงานเป็นหมู่คณะ มีความสามัคคี และเพื่อให้การบริการชุมชน

หลังจากนั้นนายภาณุ ได้เปิดงานอาซูรอสัมพันธ์ เฉลิมพระเกียรติ 88 พรรษา ซึ่งนายนิรัตน์ นราฤทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม เป็นประธานจัดงาน เป็นกิจกรรมที่ทางโรงเรียนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จัดขึ้นมาตามประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การจัดการศึกษา และมีส่วนร่วมในกิจสำคัญ รวมทั้งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชาวบ้าน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักมีผู้ปกครอง และชาวบ้านเข้าร่วมมากกว่า 1,800 คน โดยนายภาณุได้ร่วมกวนอาซูรอด้วย

สำหรับโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม เป็นโรงเรียนต้นแบบในการนำหลักสูตรอิสลามศึกษาไปสอนควบคู่กับหลักสูตรสามัญของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนสังกัดสำนังานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ได้เพิ่มหลักสูตรอิสลามในทุกชั้นเรียน สัปดาห์ละ 10 คาบๆ ละ 45 นาที โดยสอนสามัญในช่วงเช้า และสอนศาสนาในช่วงบ่าย จำนวน 6 คาบ ตั้งแต่ เวลา 13.30-16.00 น. โดยมีการสอนสามัญ 25 ห้องเรียน สอนศาสนา 20 ห้องเรียน

“ซึ่งหลังเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษา มีนักเรียนเข้ามาเรียนเพิ่มปีละประมาณ 100 คน โดยในปีการศึกษา 2558 มีนักเรียนทั้งหมด 910 คน” นายนิรัตน์ นราฤทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวและว่า การเรียนศาสนาที่โรงเรียนรัฐอย่างเวียงสุวรรณวิทยาคม อาจจะยังไม่อาจเทียบเคียงกับโรงเรียนสอนศาสนาของเอกชน แต่นักเรียนสามารถไปเรียนต่อด้านศาสนาในต่างประเทศได้ แต่ในสายสามัญจะมีความพร้อมมากกว่า เด็กที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ทุกคน และโรงเรียนได้รับรางวัลต่างๆ ในระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น จึงได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม เปิดสอน 2 ระบบตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นนวัตกรรมการศึกษาของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องการตอบสนองความต้องการของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการเรียนศาสนาควบคู่สามัญ เหมือนกับโรงเรียนเอกชน และเป็นการแก้ปัญหาเด็กนักเรียนลดลง จากเดิม 800 คนเหลือ 300 คน ภายใน 2-3 ปี ส่วนใหญ่หันไปเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคมได้เปิดสอนศาสนาใน 3 ระดับ คือ ระดับต้น (อิบตีดาอียะห์) เทียบได้ ป.1-6 ระดับกลาง (มูตะวัชซีเฏาะฮ์) เทียบกับชั้นม.1-3 และระดับสูง(ซานะวีย์) เทียบระดับม.4-6 ซึ่งการปรับหลักสูตรทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี

นอกจากนี้ยังมีโครงการฝึกอบรมเด็กนักเรียนที่กำลังจะจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องออกจากบ้านไปศึกษาต่อได้ผ่านการฝึกอบรมก่อนแต่งงานเพื่อได้เรียนรู้ชีวิตครอบครัว ใครที่จะแต่งงานจะต้องมีใบประกาศนียบัตรจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

นอกจากสอน 2 หลักสูตรแล้วโรงเรียนเวียงสุวรรณฯ ยังจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเปิดเป็นศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยภายในโรงเรียนมีการจัดกิจกรรม การเลี้ยงแพะ เพาะเห็ด บ่อเลี้ยงปลา ทำปุ๋ย ปลูกผัก เป็นต้น และยังเปิดแผนการเรียนพละ-การงาน เพื่อดึงนักเรียนที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนแต่ชอบทำงานมาทำกิจกรรม ซึ่งเขาจะชอบทำงาน แต่ไม่ชอบเรียน เป็นการสร้างความรู้อีกด้านหนึ่งตามศักยภาพที่ตนเองสนใจ โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม จึงเป็นตัวอย่างการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

นายนิรัตน์ นราฤทธิพันธ์ กล่าวว่า โรงเรียนมีพันธกิจที่ตรงกัน คือ ถ้านักเรียนอยากเรียนต้องได้เรียน ทางโรงเรียนจะดูแลลูกของท่านเสมือนลูกของเรา และได้กำหนดเป้าหมายของวิสัยทัศน์ว่า ภายในปี 2560 โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคมจะต้องอยู่ในความเชื่อมั่นศรัทธาของชุมชน

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2558