พูดคุยสันติภาพเส้นทางอีกยาวไกล 2 ฝ่ายขบวนการไม่มั่นใจภาครัฐ

46

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงาน “วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ครั้งที่ 3 เพื่อเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รายงานความคืบหน้าการพูดคุยสันติภาพ ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายมาราปาตานี และรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย

วันนี้ (28 ก.พ.59) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์, สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์, คณะวิทยาการจัดการ ม.สงขลานครินทร์, ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ, สถาบันพระปกเกล้าฯ, สภาประชาสังคมชายแดนใต้, วิทยาลัยประชาชน, ชุมชนศรัทธา, โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ, มูลนิธิซากาว่าเพื่อสันติภาพ ประเทศญี่ปุ่น และองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายหน่วยงาน ร่วมจัดงาน “วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ครั้งที่ 3 เพื่อเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งหลักได้รายงานความคืบหน้าการพูดคุยสันติภาพ ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลไทย, กลุ่มขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี และมีตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย จัดขึ้นที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ นักการศาสนา นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนกว่า 500 คน

หนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานคือการกล่าวดุลยปาถกจากคู่ขัดแย้งหลักทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายรัฐบาลไทยคือ พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข, ฝ่ายกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานีคือ นายอาวัง ญาบัต ประธานมารา ปาตานี และมีตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยคือ ดาโต๊ะ ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย

พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยกล่าวว่า การพูดคุยเป็นเรื่องยาก เปรียบได้กับการนำคนสองคนที่เกลียดกันมาพูดคุยเพื่อคืนดีกัน ซึ่งขณะนี้การพูดคุยเดินหน้าตามโรดแมป ใช้ระยะเวลา 3 ปี คาดจะสามารถบรรลุข้อตกลงและสร้างสันติสุขได้ในปี 2560 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และร่างกรอบกติกาการพูดคุย ซึ่งคืบหน้าแล้วร้อยละ 95 ปัจจัยหลักที่ทำให้การพูดคุยล่าช้าเนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีเสถียรภาพและความต่อเนื่อง ปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นมานานกว่า 11 ปี แต่เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว 7 รัฐบาล จึงทำให้กระบวนการพูดคุยเป็นไปอย่างล่าช้า

ด้านนายอาวัง ญาบัต ประธานมารา ปาตานี ตัวแทนกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานี ไม่มาร่วมงาน แต่ได้ส่งคลิปวีดิโอกล่าวดุลยปาถกตอนหนึ่งว่า การพูดคุยที่เริ่มขึ้นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินขึ้นแล้วสามครั้งแต่ไม่บรรลุผล ทั้งสองฝ่ายได้แสดงท่าทีความเป็นศัตรู และระบายความรู้สึกเชิงลบต่อกัน ซึ่งมองว่าไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ส่วนสาเหตุที่การพูดคุยหยุดชะงักคือ 1.กระบวนการพูดคุยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพไทย 2.กลุ่มนักต่อสู้ปาตานีบางกลุ่มยังขาดความเข้าใจที่ดีต่อการพูดคุย จึงไม่สนับสนุนกระบวนการพูดคุย 3.อุสตาส ฮัสซัน ตอยิบ ได้ถอนตัวจากตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น หลังจากที่ได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อต่อรัฐบาลไทย 4.รัฐบาลไทยเผชิญวิกฤติทางการเมืองและเกิดการรัฐประหารขึ้น จึงเป็นเหตุทำให้กระบวนการพูดคุยล่าช้า และยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มาราปาตานียังไม่มั่นใจในความมุ่งมั่นจริงจังของรัฐบาลไทยในการแสวงหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างยุติธรรม จึงขอให้รัฐบาลไทยแสดงบทบาทดังกล่าวด้วย เพื่อสันติภาพที่แท้จริงบนผืนแผ่นดินปาตานี

ขณะที่ ดาโต๊ะ ซัมซาซิม ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวก ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย ไม่มาร่วมงาน แต่ได้ส่งคลิปวีดิโอกล่าวตอนหนึ่งว่า การเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกการพูดคุยเป็นไปได้ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทการเป็นตัวกลางที่ไม่เหมาะสม โดยกล่าวหาว่ามาเลเซียมีวาระซ่อนเร้นในการช่วยเหลือให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอิสระจากไทย ซึ่งได้ยืนยันว่ามาเลเซียต้องการช่วยเหลือโดยเป็นตัวกลางที่เที่ยงตรงในฐานะเพื่อนบ้านของไทย และมีพรมแดนติดต่อกับปาตานี โดยไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ และจะแสดงบทบาทการเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกอย่างสุดความสามารถตราบที่ไม่กระทบกับผลประโยชน์ของมาเลเซีย

ภายหลังจากคู่ขัดแย้งหลักได้กล่าวดุลยปาถกแล้ว ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่แสดงความคิดเห็น ก่อนจะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรต่างๆอ่านแถลงการณ์สันติภาพ นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาสาธารณะสะท้อนย้อนคิดการนำเสนอข่าวสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสื่อมวลชนจากสำนักต่างๆ

ขอบคุณ มุฮัมหมัด รุสดี MCOT