ศ.ชัยวัฒน์–ผศ.เดชา ชี้ทักษะวัฒนธรรมช่วยจัดการความขัดแย้ง แต่รัฐผลิตซ้ำความไม่เข้าใจชายแดนใต้

175

ถอดบทบรรยายพิเศษ “ทักษะวัฒนธรรม ทางเลือกการจัดการความขัดแย้ง” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ แนะรัฐควรเลือกเจ้าหน้าที่ที่ได้รางวัลสิทธิมนุษยชนดีเด่นลงไปทำงานในชายแดนใต้ เพื่อเหตุซ้อมทรมานและเงื่อนไขความรุนแรง ผศ.ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า เผยคู่มือข้าราชการชี้ว่ารัฐไทยผลิตซ้ำความไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจในความเป็นอื่นและไม่เคารพในความแตกต่าง

ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2559ที่ผ่านมา ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการณ์เรื่อง “ทักษะวัฒนธรรมกับการจัดการความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้” โดยมีตัวแทนนักวิชาการและภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้และส่วนกลางเข้าร่วมอบรม 30 คน ณ โรงแรมหาดใหญ่ฮอลิเดย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาการอบรมครั้งมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง ทักษะวัฒนธรรม ทางเลือกในการจัดการความขัดแย้ง โดยศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกัน
• ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : วัฒนธรรมเหมือนปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็นแต่สั่งเราได้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์เริ่มด้วยการเล่าถึงอาหารเช้าที่ตนไปรับประทานมานั่นก็คือโรตีน้ำแกงซึ่งคำถามที่เขาเจอและทำให้ประหลาดใจก็คือ จะรับโรตีกับน้ำแกงอย่างเดียวหรือมีเนื้อด้วย ทำให้เขารู้ว่ามีคนที่สั่งทำแกงเปล่าๆ โดยไม่ใส่เนื้อด้วย ซึ่งก็อาจจะรับประทานง่ายกว่า ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นคือ ร้านโรตีอยู่ติดกับบริเวณมัสยิดปาทาน แต่เมื่อเขาถามคนแถวนั้นถึงชื่อมัสยิดก็ได้คำตอบว่าเป็นมัสยิดปากีสถาน ซึ่งทั้งสองคำนั้นต่างกัน เนื่องจากปาทานคือเชื้อชาติ ขณะที่ความหมายของคำว่าปากีสถานนั้นสื่อถึงประเทศ ซึ่งเพิ่งมีไม่นาน แต่เพราะเหตุใดทำไมถึงเรียกมัสยิดปากีสถาน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าทักษะวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
แล้ววัฒนธรรมคืออะไร? วัฒนธรรมมีรากมาจากราวศตวรรษที่ 18 จากยุครู้แจ้ง และพูดถึงความสามารถของมนุษย์ที่จะพัฒนาต่อไปได้ สำหรับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์แล้ว วัฒนธรรมคือรถบรรทุก ของที่ใส่ลงในรถบรรทุกนี้มีข้อถกเถียงหลากหลาย แต่ก็เป็นของที่เห็นร่วมกัน ของบางอย่างที่สามารถแบ่งปันได้ เรียนรู้ได้ ถ่ายทอดได้ บางคนอาจบอกว่าเป็นวิถีชีวิต แต่เมื่อมองถึงคำว่าวิถีชีวิตแล้วบางมุมก็คือศาสนา
ขณะเดียวกันนั้น ศาสนากับวัฒนธรรมก็ถูกแยกจากกัน ฉะนั้นแล้วการเดินทางของคำในรถบรรทุกนี้ จึงบรรทุกด้วยอะไรหลายอย่าง หากสอนว่าวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตแล้ว ความเข้าใจเรื่องวิถีชีวิตในมุมมองของอิสลามคือดีน (ศาสนา) ซึ่งก็คือความเป็นมุสลิม ตรงนี้จึงหมายความว่า การเลือกต่างๆ เช่น เลือกร้านอาหารฮาลาลเอง ก็มาจากวัฒนธรรมของมุสลิม
ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า เพื่อนของท่านเปรียบ วัฒนธรรมเหมือนปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็นของมนุษย์ เมื่อเราตัดสินใจอะไรไม่ได้ ปุ่มกลางหลังนี้จะถูกกด เช่น สมมติว่าตนหลงทาง ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ และตรงข้างหน้าทางหนึ่งจะเป็นศาลเจ้า อีกทางเป็นมัสยิด แน่นอนว่าตนจะเลือกไปถามทางมัสยิดก่อน เป็นต้น สิ่งที่ทำออกมาโดยอัตโนมัตินั่นเองคือปุ่มกลางหลัง

ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า ในบางสถานการณ์ เมื่อมีผลไม้ตั้งหรืออาหารบนโต๊ะ วัฒนธรรมที่ให้ผู้ใหญ่หรือคนที่มียศสูงกว่าทานก่อน เช่น คนที่เป็นทหารก็จะทำให้คนในโต๊ะที่เหลือไม่ยอมกินผลไม้หรืออาหารเหล่านั้นหากคนที่มียศสูงกว่ายังไม่ได้กิน

• วัฒนธรรมเป็นสิ่งทรงพลัง แต่ในกรณีทมทขัดแย้งถึงตายมันจะวุ่นถ้าไม่รู้จักมันศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า ความน่าสนใจของวัฒนธรรมคือเป็นของที่ทำงานโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงพลังมหาศาล ถ้าเราไม่รู้จักหรือทำไม่ถูกตามสิ่งนั้น แน่นอนว่าจะมีผล แต่ก็อาจไม่เป็นไรในสภาพทั่วไป หากแต่ว่าในกรณีที่เป็นความขัดแย้งถึงตายนั้น มันวุ่นหรือยุ่งยากกว่านั้น หากมีคนทำงานโดยไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ แต่ในชีวิตของคนเรานั้น เรามีทักษะวัฒนธรรมบางอย่างตั้งแต่เกิดมาอยู่แล้ว
เมื่อกล่าวถึงการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อครั้งทำงานวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่นี้ สิ่งที่สนใจคือ นโยบายของรัฐ การเลือกคนลงไปปฏิบัติหน้าที่ หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547
“คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วฝ่ายรัฐจะเลือก เจ้าหน้าที่แบบไหนลงไป รัฐก็คิดว่าต้องส่งคนไปปราบ ขอเสนอว่าการคิดแบบนี้ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว หากทำเช่นนี้ปัญหาก็จะยิ่งยากขึ้น ซึ่งตนขอเสนอเกณฑ์ในการเลือกเจ้าหน้าที่ว่าควรเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนดีเด่น เนื่องจากหากเลือกเช่นนี้ก็ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าระดับการซ้อมทรมานจะลดลง เงื่อนไขของความรุนแรงก็จะลดลง” ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว
• เดชา ตั้งสีฟ้า : คู่มือข้าราชการ ผลิตซ้ำความไม่เข้าใจผศ.ดร.เดชากล่าวถึงงานวิจัยที่ตนเคยทำและมีศ.ดร.ชัยวัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งศึกษาคู่มือข้าราชการในพื้นที่ 14 เล่ม ตั้งแต่ฉบับปี 2537-2549 สิ่งที่เห็นคือ เนื้อหาของทุกฉบับแทบไม่ต่างกัน มีเพียงสองฉบับที่ต่าง สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ มีการคัดลอกเนื้อหา ซึ่งแสดงถึงความไม่ใส่ใจที่จะพยายามเข้าใจ

ผศ.ดร.เดชากล่าวว่า จากคู่มือนี้ชี้ให้เห็นว่าในกระบวนการกล่อมเกลาผู้คนให้ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น คู่มือจะเป็นตัวช่วยให้ทำความเข้าใจว่าควรปฏิบัติอย่างไร แต่เวลาผ่านมาคู่มือกลับมีการผลิตซ้ำ คัดลอก ซึ่งแสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานของรัฐบาล

ผศ.ดร.เดชามองว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงการวางตำแหน่งแห่งที่ที่รัฐไทยเข้าใจต่อประเด็นนี้ว่าไม่ได้รู้สึกว่ามีความสำคัญ ซึ่งส่วนนี้ มีโครงครอบทางวัฒนธรรมที่ครอบสังคมไทยและรัฐไทยเอาไว้ และปฏิบัติตามโครงครอบนั้นโดยไม่รู้ตัว การไม่ใส่ใจที่ออกมาผ่านคู่มือนั้นยังสะท้อนโครงครอบที่มองไม่เห็นความสำคัญเอาไว้

“อาจจะกล่าวได้ว่า ตลอดประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา สำหรับรัฐไทยแล้วสามจังหวัดชายแดนใต้หรือห้าจังหวัดชายแดนใต้นี้เป็นเพียงผู้คนที่รัฐต้องปกและครองเอาไว้ ไม่ใช่ในฐานะกลุ่มคนที่เท่าเทียม หมายความว่า อาจบอกได้หรือไม่ว่าสำหรับรัฐไทยแล้ว รัฐไม่ใส่ใจที่จะมีความเป็นอื่น และไม่เคารพความแตกต่าง” ผศ.ดร.เดชากล่าวผศ.ดร.เดชากล่าว่า มีสิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ ความใส่ใจในกระบวนการตัดสินใจดำเนินนโยบายของรัฐ และความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารต่อคนที่ไม่ใช่มุสลิมเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน และนั่นคือที่มาที่จะต้องจัดอบรมทักษะวัฒนธรรม
• รัฐไทยเองเห็นตัวเองมากกว่าจะมองอีกด้านของกระจก ผศ.ดร.เดชากล่าวอีกว่า จากหนังสือปรัชญาจีนเล่มหนึ่งที่ระบุว่า พวกเราเติบโตและ ในที่สุดได้เรียนรู้ทางวัฒนธรรม ในบรรยากาศทางวัฒนธรรมชุดหนึ่ง ซึ่งได้กล่อมเกลาเราให้มีโลกทัศน์ชุดหนึ่ง เราทุกคนหวังว่าโลกทัศน์นั้นจะช่วยให้เรากระจ่างในการเดินทางของชีวิตของเรา ด้วยมิติทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อการก้าวไปข้างหน้า ด้วยแสงวัฒนธรรมที่สว่างจ้า เราทุกคนพยายามมองผ่านหน้าต่างไปสู่วัฒนธรรมที่ต่างจากเรา แสงดังกล่าวนี้ทำให้หน้าต่างกลายเป็นกระจก เพราะมีแสงเราถึงรู้ว่าหน้าต่างมีกระจก

“แทนที่เราจะเห็นคนอื่น กระจกทำให้เห็นตัวเรา” ในส่วนนี้ ผศ.ดร.เดชา จึงบอกว่า หากมองในมุมนี้ต่อคู่มือแล้ว ก็จะเห็นว่ารัฐไทยเองก็เห็นตัวเองมากกว่าจะมองถึงอีกด้านของกระจก แทนที่จะเห็นความเป็นอื่น กระจกกลับทำให้รัฐไทยอยู่ภายใต้กรงขังของตัวเอง เวลาที่รัฐไทยพยายามสนใจคนมุสลิม รัฐไทยเอาเข้ามาในเงาของตัวเอง แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนอื่นสอนให้รัฐไทยรู้ว่าควรเป็นอย่างไร
“มีหลากวิธีการที่จะสามารถปฏิบัติต่อกระจกในแบบที่ทำให้เรารู้ว่า เราควรทำอย่างไร” คือคำถามทิ้งท้ายของ ผศ.ดร.เดชา

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม 2559