บันทึกถึงป๊ะกับม๊ะ บันทึกทรงคุณค่าของอ.บรรจง บินกาซัน

212

ฮัจยียูฟี บินกาซัน บิดาอ.บรรจงบิน กาซัน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของสังคมมุสลิมไทย ได้เสียชีวิตด้วยวัย 90 ปี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 อ.บรรจง ได้เขียนบันทึกในเฟสบุคถึงบิดาและมารดา ผู้ล่วงลับ เล่าถึงการกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู ด้วยความยากลำบาก ด้วยอุดมการณ์ที่เต็มเปี่ยมที่ต้องการให้ลูกมีการศึกษาที่ได้ Mtoday เห็นว่า เป็นบันทึ่ทรงคุณค่าจึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ

คิดถึงป๊ะกับมะ
บรรจง บินกาซัน

ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวยากจน ป๊ะกับมะจบแค่ ป.4 มีลูกห้าคน ผมเป็นคนโต บ้านที่อาศัยอยู่เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนโปร่งบนที่ดินเช่าประมาณ 22 ตารางวา แม้ข้าวของจะไม่แพงเหมือนสมัยนี้ แต่รายได้ของป๊ะจากการเป็นช่างซ่อมจักรเย็บผ้าก็ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงลูก มะจึงต้องช่วยป๊ะหารายได้เสริมด้วยการรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ถึงกระนั้น ป๊ะกับมะก็ต้องใช้จ่ายอย่างกระเบียดกระเสียนเพื่อเก็บเงินไว้ให้ลูกเรียนหนังสือ ป๊ะย้ำกับพวกเราเสมอว่า ป๊ะไม่มีมรดกอะไรให้ลูก นอกจากการศึกษา ใครมือยาวสาวได้ก็สาวเอา
ป๊ะเตรียมผมให้เข้าเรียนชั้นประถมในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยการปลุกผมแต่เช้าตรู่ให้ขึ้นมาทำข้อสอบความรู้ทั่วไปเท่าที่ป๊ะจะหามาให้ผมตอบเพื่อสอบแข่งขันกับลูกคนอื่นๆที่มีอันจะกิน เมื่อสอบเข้าได้ ผมก็เรียนอยู่ในโรงเรียนนี้ตั้งแต่ประถม จนจบมัธยมปลาย
หลังบ้าน ป๊ะเลี้ยงกล้วยไม้ไว้ร้านหนึ่งซึ่งมีทั้งพันธุ์มาดามและแคทลียา เมื่อมันออกดอก

ป๊ะจะตัดไปขายที่ตลาดบางรักเป็นรายได้เสริม ผมจำได้ว่าตอนนั้น ดอกกล้วยไม้เป็นที่ต้องการมาก เพราะในเวลานั้นยังไม่มีใครทำฟาร์มกล้วยไม้เป็นอุตสาหกรรมเหมือนในปัจจุบัน ดอกของมันจึงมีราคาดีโดยเฉพาะในตอนปลายปี
ข้างร้านกล้วยไม้ ป๊ะปลูกต้นไม้ที่เราเรียกกันว่าต้นเชอรี่ มันออกผลตลอดทั้งปี ผลสุกของมันมีรสเปรี้ยว ป๊ะจึงเก็บเอามาเคี่ยวกับน้ำตาลเป็นแยมทาขนมปังให้เรากิน รสชาติแยมที่ป๊ะทำอร่อยกว่าแยมในปัจจุบันที่มีส่วนผสมของเยลละตินและกลิ่นสีของผลไม้อย่างเทียบกันไม่ได้
ใต้ร้านกล้วยไม้ มะเอาใบเตยมาปักไว้ ใบเตยได้รับน้ำผสมปุ๋ยที่ใช้รดกล้วยไม้ จึงแตกกองาม
วันเว้นวันจะมีแม่ค้าทำขนมมาขอซื้อเป็นประจำ
ใต้ถุนบ้าน ป๊ะทำกรงเลี้ยงไก่ไข่ไว้ประมาณ 10 ตัว มันออกไข่ให้เรากิน 6 – 7 ฟองทุกวัน

ที่บ้านจึงไม่ต้องซื้อไข่กิน เมื่อไก่ตายยกเล้า มะก็เอาเป็ดมาเลี้ยงแทน และมันก็ให้ไข่เรากินจนเหลือขาย หรือไม่ก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้าน
ในยามขาดเงินโดยเฉพาะตอนเปิดเทอม ป๊ะจะขอเบิกแต๊ะเอียล่วงหน้าจากเจ้าของบริษัทที่ป๊ะทำงาน ป๊ะระวังเรื่องการยืมเงินเป็นอย่างมาก จนใครๆคิดว่าป๊ะรวย และบางครั้งป๊ะถูกเพื่อนเรียกว่า “เสี่ยซุ่ม” โดยหารู้ไม่ว่าป๊ะไม่ต้องการเสียชื่อเสียงเรื่องเงินทอง และย้ำสอนพวกเราเสมอว่า อย่าให้เรื่องเงินต้องทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสีย ป๊ะมีคติว่า ถ้าไม่เป็นหนี้ก็ถือว่ารวยแล้ว

ป๊ะไม่กินเหล้าและไม่เล่นการพนัน สูบบุหรี่บ้าง แต่ก็เลิกได้ จึงไม่ต้องเสียเงินกับสิ่งเหล่านี้

มะเคยถูกเพื่อนบ้านชวนให้ซื้อหวย แต่ป๊ะบอกมะให้เก็บเงินที่จะซื้อไว้ใส่กระปุกทุกงวด สามสี่เดือนก็จะได้รางวัลเอง และก็จริงอย่างที่ป๊ะพูด
เมื่อมะกำลังจะติดการใช้ผงชูรสในการทำอาหารเพราะการโฆษณา ผมบอกมะว่า ฝีมือของมะอร่อยแล้ว ไม่ต้องใช้ผงชูรส ผมพูดล้อเล่นกับมะว่า ถ้ามะไม่มีเสน่ห์ปลายจวัก มะก็มีลูกไม่ถึงห้าคนหรอก เท่านั้นเอง มะก็เลิกใช้ผงชูรส
ขณะที่อยู่ในชั้นประถมปลายและมัธยมต้น ช่วงปิดเรียนภาคฤดูร้อนเป็นช่วงที่เด็กๆเล่นว่าวกันแทบทุกแห่งและมีการแข่งขันตัดว่าวกัน ผมก็เป็นคนชอบเล่นว่าว แต่ผมไม่ยอมเสียเงินซื้อว่าว ผมทำว่าวเล่นเองโดยไปเก็บแกนตับจากมุงหลังคาที่ชาวบ้านทิ้งไว้ มาเหลาเป็นโครงและซื้อกระดาษว่าวมาแปะ กระดาษว่าวแผ่นหนึ่งทำว่าวได้สี่ตัว ทำหลายตัวก็ขายได้หลายบาท ปิดเทอม ผมจึงมีเงินเก็บเป็นของตัวเองบ้าง

เมื่อเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย ทุกวันเสาร์และระหว่างปิดภาคเรียน ผมจะไปช่วยน้าชายที่เปิดร้านรับบรรจุหีบห่อให้พวกทหารอเมริกันที่มาพักในเมืองไทยระหว่างสงครามเวียตนาม ค่าแรงขั้นต่ำในตอนนั้นวันละ 20 บาท แต่สิ่งที่ได้มากกว่าค่าแรงในการทำงานก็คือ ผมได้มีโอกาสฝึกสนทนากับฝรั่งต่างชาติที่มาใช้บริการ โดยไม่ต้องไปเสียงสตางค์เรียนถึงเมืองนอก

เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย เพื่อนร่วมชั้นแทบทั้งหมดไปเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยกัน จำได้ว่าค่าเรียนกวดวิชาช่วงสั้นๆเวลานั้นเป็นเงิน 300 บาท มันไม่มากสำหรับคนมีฐานะ แต่สำหรับบ้านผมแล้ว มันเป็นเงินจำนวนมาก มะบอกให้ผมไปเรียนกวดวิชา จะหาเงินมาให้ เพราะมะอยากเห็นลูกเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แต่ผมบอกมะว่าให้เก็บเงินไว้เป็นรางวัลแก่ผมเมื่อผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ดีกว่า ผมจะไปทำงานที่ร้านของน้าชายและกลับมาดูหนังสือในตอนเย็น แต่เมื่อผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ผมก็ไม่ได้เรียกร้องรางวัลอะไรจากมะ

ระหว่างที่เรียนในปีสอง มีคนมาติดต่อให้ผมไปช่วยสอนชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ต้องการฝึกพูดและอ่านภาษาไทยในตอนเย็น ชาวอเมริกันคนนี้เคยเรียนภาษาไทยจนสามารถอ่านและพูดได้บ้างแล้ว แต่ยังต้องการประสบการณ์ในการพูดมากขึ้น ผมได้ค่าจ้างไปนั่งคุยภาษาไทยกับฝรั่งเป็นเงิน 75 บาทต่อสองชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดีมากในเวลานั้น แต่ที่สำคัญก็คือการได้เป็นผู้ฝึกชาวอเมริกันคนนั้นให้พูดภาษาไทย ได้ทำให้ผมมีทักษะในการพูดคุยและฟังภาษาอังกฤษมากขึ้น จนหลายคนคิดว่าผมจบมาจากต่างประเทศ
แม้จะจบแค่ ป.4 และมีฐานะยากจน แต่ป๊ะกับมะก็สามารถกัดฟันเลี้ยงดูและส่งเสียลูกเรียน

จนจบขั้นอุดมศึกษาทุกคน โดยไม่เป็นหนี้ใคร

ในวันที่ผมรับปริญญา ความภาคภูมิใจในความสำเร็จของลูกทำให้มะกล่าวว่า มะมีลูกน้อยเกินไป
ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท ในขณะที่ผมจบการปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้นของข้าราชการในขณะนั้นคือ 1,250 บาท ถ้าจะพูดกันในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ผมกล้าพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า ป๊ะกับมะของผมเป็นผู้ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง

วันนี้ มรดกการศึกษาที่ป๊ะและมะให้ผมไว้ นอกจากจะตกถึงผมแล้ว ยังแตกหน่อ ออกช่อเป็นหนังสือนับร้อยเล่ม เป็นวิทยาทานสู่ผู้คนอีกมากมาย
หลับให้สบายนะครับ ป๊ะ กับ มะ ทุกครั้งหลังนมาซ ผมไม่เคยลืมที่จะขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺว่า

“ร็อบบิฆฟิรฺลี วะลิวาลิดัยย่ะ วัรฺฮัมฮุมา กะมา ร็อบบะยานี เศาะฆีรอ”
(ข้าแต่พระผู้อภิบาล โปรดอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ และแก่บิดามารดาของข้าพระองค์ และโปรดทรงเมตตาแก่ท่านทั้งสอง ดุจดังที่ท่านทั้งสองเลี้ยงดูข้าพระองค์เมื่อครั้งเยาว์วัยด้วยเทอญ…อามีน)

ครอบครับอ.บรรจง บินกาซัน