เปิดกันชัดๆ! การเมืองกลุ่มไหนทำแบงก์อิสลามพัง! เดินหน้าต่อจะต้องทำอย่างไร

60
กลับมาเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งว่า จะยุบไอแบงก์หรือไม่ หลังนายกฯ ตั้งเป็นคำถามว่า จะยุบหรืออยู่ต่อ แต่ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจก็คือ ทำไมไอแบงก์ถึงเจ๊ง เป็นเพราะระบบหรือการบริหารและใครเป็นคนทำเจ๊ง ไปหาคำตอบกัน..

 “มีการโอนหนี้เสีย 48,000 ล้านบาทไปให้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) ซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่บริหารแทน เป็นข้อสรุปว่า ไม่มีการยุบไอแบงก์แน่นอน” ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล อดีตประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือ “ไอแบงก์” กล่าวยืนยัน แม้นายกรัฐมนตรีจะตีกลับการเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาทก็ตาม
“การขออนุมัติการเพิ่มทุนยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่นายกฯ ต้องการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเพิ่มรายละเอียดบางประการ ไม่ใช่เป็นการตีกลับข้อเสนอ เพราะเป็นแนวทางที่ได้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือซุปเปอร์บอร์ดแล้ว ซึ่งการขายหนี้เสียเพื่อไม่ให้ธนาคารมีปัญหาต้องถูกตรวจสอบ เพราะหากธาคารบริหารเอง เมื่อมีการแฮร์คัทหนี้มาก จะส่งผลต่อผู้บริหารธนาคาร
“ยืนยันได้ว่าไม่มีการปิดธนาคารอิสลามฯแน่นอน เพราะได้มีการแก้ปัญหามาพอสมครแล้ว” ดร.สมชาย กล่าว
ปัญหาของธนาคารอิสลามฯ อยู่ตรงจุดไหน อดีตประธานบอร์ดให้ข้อมูลว่า สมัยที่ตนเข้าไปประมาณปี 2550 ธนาคารอิสลามฯ มีสาขา 30-40 สาขา มีพนักงาน 300-400 คน แต่เมือออกมาประมาณปี 2552 ธนาคารได้ขยายกิจการเร็วมาก ภายใน 2-3 ปี ขยายสาขา 130 สาขา มีพนักงาน 3,000-4,000 คน บางสาขามีค่าเช่าแพง แต่ไม่มีคนใช้บริการน้อยมาก อาทิ สาขาเซ็นทรัลพระราม 9 ก็ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมขยายสาขาเร็วขนาดนั้น
“ธนาคารอิสลามฯ มีขนาดผู้ใช้บริการที่เล็ก การขยายไปยังพื้นที่ๆ ไม่มีมุสลิม ทำให้มีปัญหาในการใช้บริการ ตอนที่ผมเข้าไปธนาคารมีภาวะขาดทุนประมาณ 700 ล้านเนื่องจากปริมาณผู้ใช้บริการมีน้อย ธรรมชาติของมุสลิมไม่กู้เงินมากนัก แต่ได้พยายามพัฒนาศักยภาพของธนาคารจนกลับมาได้กำไรประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี จากนั้นก็เกษียณอายุ ต้องพ้นจากบอร์ด แต่ก็พยายามเข้าไปให้คำแนะนำ หรือท้วงติงบางอย่าง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก” พล.ท.สมชาย กล่าว
พล.ท.สมชาย กล่าวว่า เมื่อมีการโอนหนี้เสียออกไป ธนาคารอิสลามฯ ก็สะอาด การเพิ่มทุนเข้ามาก็จะทำให้มีเงินทุนในการบริหาร จะทำให้สามารถขายหุ้นให้กับพันธมิตรได้ เมื่อขายได้เงินที่รัฐลงไปก็จะได้กลับคืนมา
“การหาพันธมิตรต่างชาติมาร่วมทุนที่ผ่านมาประสบปัญหา เนื่องจากมีการดีลกันอย่างเป็นทางการ แต่ธนาคารมีปัญหามาก ต่างชาติไม่ยอมรับ หากจะทำให้สำเร็จ ต้องใช้ “ดีลพิเศษ” (Special Deal) ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องเงินลงทุนเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่หมายถึงเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ เช่น การเพิ่มเงื่อนไขให้เขาซื้อข้าวเรา ซื้อยางพาราเรา เป็นต้น ที่ผ่านมา บาห์เรนสนใจเข้ามาร่วมทุน แต่รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้องการทุนจากดูไบ ซึ่งไม่เข้าใจธรรมชาติของการลงทุน ดูไบ เป็นการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม แต่บาห์เรนเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางทาง
การเงิน ตอนที่นายกฯ เดินทางไปเยือนได้เสนอให้เจรจากับผู้นำบาห์เรน ไม่รู้ว่า ได้เจรจาหรือเปล่า” อดีตประธานไอแบงก์ ระบุ
นอกจากปัญหาในการบริหารงานแล้ว ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล ยังเห็นว่า ธนาคารอิสลามฯ ยังมีปัญหาภายใน ที่มีความจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนหากยังคงต้องการให้ธนาคารแห่งนี้ดำเนินการต่อไปได้ โดยปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับทัศนคติของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กรของไอแบงก์เอง
“การรับพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมเข้ามาบริหารและทำงานนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาให้ไอแบงก์ ในสมัยผมเป็นประธานธนาคารฯ นั้น สัดส่วนพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมมี 40 เปอร์เซนต์ ขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซนต์”
“การเข้ามาของพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิมซึ่งหลายคนไม่เข้าใจวัฒนธรรมและปรัชญาธนาคารอิสลามฯ บางคนก็เคยชินกับระบบดอกเบี้ย บางคนเอาหมูมารับประทานในสำนักงาน บางคนเมื่อเลิกงานก็แต่งชุดพนักงานไปดื่มสุรา ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของไอแบงก์ในสายตามุสลิม” อดีตประธานไอแบงก์กล่าว
“มิหนำซ้ำบางคนที่ทำงานในไอแบงก์แต่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อมุสลิม ขณะที่มุสลิมเองที่ทำงานในไอแบงก์ก็ไม่มี Service Mind” ศ.พลโท.ดร.สมชาย กล่าวและว่า “สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การบริการของธนาคารอิสลามฯ ออกมาแย่”
“บวกกับระบบเอกสารของธนาคารที่ไม่พัฒนา ทำให้การบริการล่าช้า เช่นทำให้การปล่อยสินเชื่อล่าช้ากว่าเมื่อเทียบกับธนาคารโดยทั่วไป จึงทำให้ลูกค้าไม่อยากมาใช้บริการกับธนาคาร”
“ทัศนคติของคนที่นี่จะต้องเปลี่ยน วัฒนธรรมขององค์กรก็ต้องปรับ หากยังต้องการให้ธนาคารอิสลามฯ ยังคงอยู่” ศ.พลโท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล เน้นย้ำ
“ขณะเดียวกันลูกค้ามุสลิมก็ต้องปรับตัวด้วย นักธุรกิจมุสลิมบางคนไม่มีแผนธุรกิจ (Business Plan) คิดว่านุ่งโสร่งเข้าไปขอกู้จากธนาคารอิสลามแล้วก็จะได้ พอเขาไม่ให้ก็ออกมาพูดโจมตี” ศ.พลโท.ดร.สมชาย กล่าว
พล.ท.สมชาย ยังกล่าวว่า ผู้บริหารธนาคารฯ ก็ต้องปรับแนวทางการหารายได้ของธนาคารด้วย “ธนาคารพานิชย์ทั่วไปเขามีรายได้จากการบริการ (Service) พอๆ กับการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้นทุนน้อยแต่กำไรมาก ดังนั้นผู้บริหารก็จะต้องปรับเปลี่ยน อย่าคิดหาและพึ่งรายได้จากการปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะไม่อาจทำให้ธนาคารอยู่รอดได้” ข้อสรุปจากการให้สัมภาษณ์จากพล.ท.ดร.สมชาย ยืนยันว่าธนาคารอิสลามฯ ไม่ปิดตัวแน่นอน แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารโดยการสร้่างวัฒนธรรมองค์กรใหม่สร้างให้พนักงานมีความกระตือรื้อร้นในการ
ให้บริการเพื่อสร้่างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรต่อไป
Mtoday ได้ตรวจสอบไทม์ไลน์การบริหารธนาคารอิสลามฯ ไล่เรียงจากการยุคของพล.ท.สมชาย พบว่า ในช่วงนั้นมีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารต่อด้วยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ปัญหาได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่การบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ ธนาคารอิสลามฯ มีหนี้เสียมากกว่า 40,000 ล้านบาทในยุคนั้น เมื่อตรวจสอบลึกลงไปว่า ทำไมธนาคารที่มียอดเงินฝากและยอดเงินกู้ไม่มากนัก ทำไมถึงมีหนี้เสียจากเงินกู้ได้มากถึง 40,000 ล้านก็พบว่า ยุคนั้นผู้บริหารธนาคารสนิทกับฝ่ายการเมืองระดับสูง สามารถดึงเงินมาเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาท การมีเงินเพิ่มทุนเข้ามา 10,000 ล้านบาท จึงมีการขยายสาขาอย่างบ้าเลือด ซึ่งไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไรจากการขยายสาขาหรือไม่
อีกด้านหนึ่ง เมื่อขอจากฝ่ายการเมืองได้ ฝ่ายการเมืองก็ขอจากธนาคารได้ สิ่งที่ฝ่ายเมืองขอก็คือ การให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับพรรคพวกตัวเองอย่างบ้าเลือดเช่นเดียวกัน โดยที่หลักทรัพย์ค้ำประกันมีไม่ถึงวงเงินกู้เหมือนกับที่นักการเมืองกลุ่ม 16 ทำไว้กับธนาคาร BBC มีการอภิปรายถล่มกันดุเดือดในสภาฯ ส่งผลให้ BBC ต้องล่มสลาย แตกต่างกันตรงที่กับแบงก์อิสลามฯ ฝ่ายที่เคยอภิปรายกับฝ่ายที่ถูกอภิปรายมาจับมือกันทำลาย ไอแบงก์ในยุคมีปัญหา ส่วนใหญ่เกิดในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มที่เข้ามาบริหารเป็นกลุ่มที่เคยทำให้ BBC ล่มสลายมาแล้วจับมือกับแกนนำรัฐบาลในยุคนนั้น ซึ่งหากไล่เรียงสินเชื่อที่มีปัญหาจะพบว่าเป็นทุนใกล้ชิดนักการเมือง อาทิ
– หัวหน้ากลุ่มการเมือง มีหนี้เสียจากการไปลงทุนกิจการโรงแรมในภูเก็ตมากกว่า 1,000 ล้านบาท
– กลุ่มบริษัทกระดาษขนาดใหญ่ สร้างหนี้เสียไว้มากกว่า 2,000 ล้านบาท
– ยังมีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้ชิดนักการเมืองอีกหลายแห่ง ช่วยกันปู้ยี่ปู้ยำธนาคารอิสลาม กลายเป็นหนี้เสียมากกว่า 40,000 ล้านบาท
ธนาคารอิสลามฯ ที่มีปัญหาจึงไม่ใช่มาจากโครงสร้างหรือระบบของธนาคารมีปัญหา แต่มาจากผู้บริหารธนาคารบางยุคร่วมมือกับนักการเมือง ปล่อยกู้จนเกิดหนี้มากมาย และไม่อาจแก้ได้เพราะทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยกว่าสินเชื่อ ในขณะที่หนี้เสียจากการกู้ยืมของทุนมุสลิมมีเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจผิดว่า การกู้เงินเป็นการให้เปล่าของรัฐเพื่อชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมแม้การตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดจะดำเนินอยู่แต่มีความล่าช้า ที่สำคัญไม่อาจสาวถึงนักการเมืองตัวใหญ่ที่ยังคงโลดแล่นอยู่ต่อไป ทำได้เพียงแต่บอกสังคมให้รับรู้ว่า ใครคือผู้ทำลายธนาคารอิสลาม ทำให้ชื่อของคำว่า “อิสลาม” เสียหาย

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับที่ 64 ประจำเดือนเมษายน 2560