World HAPEX 2015 ส่งเสริมฮาลาลไทยสู่อาเซียน

33


 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันฮาลาล ได้งานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล 2558 หรือ World HAPEX 2015 เพื่อส่งเสริมฮาลาลไทยสู่อาเซียน  มีการสัมมนาทางวิชาการ และการออกบูธแสดงสินค้า

การจัดงาน World HAPEX 2015 ระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน ประสบความสำเร็จอย่างงดงามอีกครั้ง ทั้งด้านวิชาการและการแสดงสินค้า ในการเปิดมีมกุฎราชกุมารแห่งรัฐเปอลิส ประเทศมาเลเซีย นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ม.ล.ปนัดดา
ดิษสกุล รัฐมนตรีประจำนักรัฐมนตรี และเลขาธิการ International Islamic Halal Organization ร่วมเป็นเกียรติ มีการออกบูธและการจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคัก

อาจารย์สืบศักดิ์ กลิ่นสอน ผอ.สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มอ. เป็นสถาบันการศึกษาหลักในภาคใต้ ประกอบด้วย 5 วิทยาเขต กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ สงขลา (วิทยาเขตหาดใหญ่) ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต มีความพร้อมในการส่งเสริมให้ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร สินค้า และบริการที่ถูกต้อง    ตามหลักศาสนาอิสลาม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ได้ให้ความสำคัญในกิจการด้านนี้ ด้วยการจัดตั้งให้มี   สถาบันฮาลาล ทั้งที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และปัตตานี เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร และขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการฮาลาลโดยเฉพาะ ในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการนำองค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาบูรณาการให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สร้างโอกาสให้ประชากรมุสลิมในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายสินค้า/บริการด้านฮาลาล

“การจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล 2558 ครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดงานครั้งที่ 5 ของสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยกำหนดแนวคิดในการจัดงาน ครั้งนี้ว่า : AEC จะก้าวไปสู่แหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามให้กับมุสลิมทั่วโลก หรือ “AEC : An Integrity Halal Hub for Muslims around the World”

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือในกลุ่ม AEC ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการด้านฮาลาล เพื่อป้อนสู่ตลาดโลก เป็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าบริโภค อุปโภค และบริการด้านฮาลาลในระดับประเทศและนานาชาติ กระตุ้นผู้ผลิตสินค้าบริโภค อุปโภค และบริการด้านฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความตื่นตัวและสร้างโอกาสในการเผยแพร่แหล่งผลิตและผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้เป็นที่รู้จักทั้งมุสลิมและศาสนิกอื่นมากยิ่งขึ้น กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน การขยายธุรกิจที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เชื่อมโยงกับประเทศมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ

“ยกระดับผู้ประกอบการฮาลาลไทย เปิดโอกาสให้มีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ และการเจรจาความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านฮาลาลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ”

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนกันยายน 2558