พระดังออกโรง เก็บบทเรียนกรณีหมิ่นศาสนา ระบุ เคร่งศาสนาต้องไม่หมิ่นคนอื่น

175

เราจะได้บทเรียนอะไรเมื่อเกิดการก้าวล่วงศาสนา?

ช่วงสัปดาห์นี้ในแวดวงศาสนาเป็นข่าวใหญ่ ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง
เกิดกรณีพิพาทของศาสนิกต่างศาสนา เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งนักการศาสนาทั้งหลายควรศึกษาไว้เพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเราควรพินิจพิเคราะห์ด้วยโยนิโสมนสิการและถอดบทเรียน ออกมา

1.ด้านปัจเจกบุคคล ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็เกิดกรณีปัญหาสาวกต่างศาสนากล่าวร้ายโจมตีกัน ซึ่งมักจะมีแนวคิดไปในแนวทางที่ค่อนข้างจะสุดโต่ง แต่คำถามสำคัญก็คือเมื่อเคร่งในศาสนาแล้วก็แปลว่าต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม เพราะเหตุที่ว่าเขาได้เข้าถึงศาสนธรรมในศาสนาของตนอย่างลึกซึ้ง จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฎิบัติตนเคร่งครัดตามหลักศาสนา ดังนั้นคุณธรรมที่สำคัญที่ควรจะมีติดตัวอยู่ตลอดเวลาคือจะต้องเป็นคนที่ประครองจิตได้ดี คนที่ประครองจิตได้ดี อธิบายง่ายๆ ก็คือคนดี หรือคนที่จิตใจดีนั่นเอง คนดีหรือคนที่จิตใจดีนั้นตรงกับหลักคำสอนในทุกศาสนา ก็คือคนที่พัฒนาตนเองแล้ว โดยเฉพาะพัฒนาทางด้านจิตใจ เพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี
แล้วคนดีในทุกวันนี้มองเห็นได้หรือไม่ อธิบายง่ายๆโดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาศัพท์ทางศาสนามาขยายความก็คือ ต้องรู้จักเคารพตนเอง เคารพผู้อื่น รู้เขารู้เรา ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น นี่เป็นพื้นฐานสุดแล้ว

2. ในระดับผู้สอน ในทุกศาสนาล้วนมีผู้สอนในศาสนาของตนเอง แต่เรียกให้แตกต่างกันไปเท่านั้นเอง เช่นพระสงฆ์ บาทหลวง ครูสอนศาสนา หรือนักพรต นักบวช เป็นต้น ผู้ที่มีหน้าที่อบรม พร่ำสอนในศาสนาของตน วันนี้ต้องช่วยกันหันหลังกลับมาคิดชนิด 360 องศาเลยทีเดียวว่า ในขณะที่เราพร่ำสอนให้ศาสนิกของตนเองให้เป็นคนดี มีคุณธรรมและยังขยายผลออกไปถึงคนหมู่มาก เพื่อสันติทั้งในระดับปัจเจก สังคม ประเทศชาติและชาวโลก เพราะอะไรจึงยังเกิดเหตุการณ์ เช่นนี้ขึ้น ที่สำคัญคือในวันนี้ผู้เทศน์ ผู้สอน ผู้อบรมทางศาสนาทั้งหลายควรจะหันหน้าเข้าหากันและทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาได้หรือยัง

3. ในระดับสาวก ควรแยกประเด็นให้ชัดเจนว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสาวกของแต่ละศาสนาคิดเห็นกันอย่างไร และเกิดผลอะไรขึ้นหลังจากนั้น ทั้งฝ่ายกระทำและฝ่ายผู้ถูกกระทำ และแม้แต่ฝ่ายผู้ถูกกระทำเองก็ต้องทบทวนด้วยว่า เหตุใดจึงถูกพาดพิงเช่นนั้น

ศาสนาทุกศาสนา ศาสดาล้วนสอนให้เป็นคนดี กาลเวลาล่วงไป สาวกในแต่ละศาสนาจะซึมซับเอาคำสอนมาใส่ตัวได้มากน้อยแค่ไหน นี่ต่างห่างคือบทกำหนดสันติในทุกสังคม ทุกระดับชั้น
ขณะเดียวกันอายุและการดำรงมั่นของแต่ละศาสนาก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของศาสนิกในแต่ละศาสนาว่าจะเข้มแข็งมั่นคงได้แค่ไหน เพียงไร ท่ามกลางภาวการณ์ที่มีการแข่งขันกันสูงในทุกสรรพสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่แวดวงของศาสนา

พระเมธีธรรมาจารย์
เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
6 เมษายน 2561