ฝรั่งเห็นอะไรในสยามยุคพระเจ้าปราสาททอง

745
ภาพแผนที่เกาะซึ่งเป็นพระนครศรีอยุธยาราชธานีในอดีต/แฟ้มไฟล์ภาพไทยโพสต์

 ย้อนไปรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ขณะทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๒๑๗๓-๒๑๙๙ ยุคนั้นเริ่มมีฝรั่งมังค่าเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาแล้ว เป็นที่รู้กันว่าประเทศสยามในยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นมีความเจริญรุ่งเรือง มีต่างชาติเข้ามาค้าขายมากมาย

แล้วกรุงศรีฯ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งนับย้อนไปไม่กี่ปีนั้น มีความเจริญแค่ไหน  ชาวยุโรปมีมุมมองอย่างไร?

กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง จากจดหมายเหตุของ โยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทการค้าฮอลันดา (Joost Schouten, Manager of the Dutch East Indies Company) ประจำกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ที่เขียนขึ้นเป็นภาษาฮอลันดาเมื่อ ค.ศ.๑๖๓๖ ทำให้เห็นภาพกรุงศรียุคดังกล่าวได้พอควร

โยส เซาเต็น เข้ามาประจำอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมครั้งหนึ่ง และในต้นรัชกาลพระเจ้าปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็นเวลา ๘ ปีด้วยกัน ได้เคยเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าปราสาททองหลายครั้ง ในฐานะที่เป็นผู้เชิญพระราชสาสน์จากพระเจ้าแผ่นดินฮอลันดาเข้ามาถวาย

จดหมายเหตุระบุว่า ประเทศสยามเป็นราชอาณาจักรใหญ่ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ตั้งอยู่ในทวีปอาเซียทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรเรื่อยขึ้นไปจนถึงเส้นรุ้งที่ ๑๔ มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรหงสาวดีและอังวะ อาณาจักรสยามประกอบไปด้วยเมืองเล็กใหญ่มากมาย มีตลาดที่ซื้อขายและหมู่บ้านเหลือคณานับ บรรดาเมืองใหญ่ๆ นั้นคือ อยุธยา พิษณุโลก สวรรคโลก ลำปาง สัชนาลัย  กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตะนาวศรี นครศรีธรรมราช พัทลุง บางกอก เพชรบุรี ราชบุรี มะริด และเมืองอื่นๆ อีกมาก

พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ บรรดาขุนนางข้าราชการเจ้านายทั้งหลายทั้งปวงก็อยู่ที่พระนครศรีอยุธยานี้ เมืองนี้ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยา ท้องที่รอบนอกเป็นที่ราบไปทั่วทุกทิศ รอบกรุงศรีอยุธยามีกำแพงหินสร้างอย่างหนาแน่นแข็งแรง รอบกำแพงวัดได้ประมาณ ๒ ไมล์ฮอลันดา จึงเป็นนครหลวงที่กว้างขวางใหญ่มาก

ภายในพระนครมีโบสถ์วิหารวัดวาอารามสร้างขึ้นอยู่ติดๆ กัน ประชาชนพลเมืองผู้อยู่อาศัยก็มีอยู่อย่างหนาแน่น ภายในกำแพงเมืองมีถนนกว้างตัดตรงและยาวมาก และมีคลองขุดจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในพระนคร จึงสะดวกแก่การสัญจรไปมาได้ทั่วถึงกัน

นอกจากถนนและคลองยังมีคูเล็กๆ และตรอกซอยอีกเป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้ในฤดูน้ำเรือพายทั้งหลายทั้งปวงจึงสามารถที่จะผ่านเข้าผ่านออกติดต่อกันได้จนถึงหัวกะไดบ้าน บ้านที่อยู่อาศัยนั้นปลูกขึ้นตามแบบบ้านแขกอินเดีย แต่มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง พระนครศรีอยุธยานี้จึงเป็นนครที่โอ่อ่า เต็มไปด้วยโบสถ์วิหาร ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๓๐๐ และก่อสร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดารที่สุด โบสถ์วิหารเหล่านี้มีปรางค์ เจดีย์ และรูปปั้น รูปหล่ออย่างมากมาย ใช้ทองฉาบอยู่ภายนอกสีเหลืองอร่ามทั่วไปหมด

เป็นพระมหานครที่สร้างอยู่ข้างฝั่งแม่น้ำ โดยมีผังเมืองวางไว้อย่างเป็นระเบียบ จึงเป็นนครที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีประชาชนหนาแน่น และเต็มไปด้วยสินค้าสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิตนำเข้ามาขายจากนานาประเทศ เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดในแถบนี้ของโลกที่จะมีเมืองหลวงใหญ่โตมโหฬารวิจิตรพิสดาร และสมบูรณ์พูนสุขเหมือนกับพระมหากษัตริย์ ณ ราชอาณาจักรนี้ พระนครศรีอยุธยาจึงอยู่ในภูมิฐานที่ดีและมั่นคง สุดวิสัยที่ข้าศึกศัตรูจะโจมตียึดครองได้ง่ายๆ เพราะทุกๆ ปีน้ำจะท่วมขึ้นมาถึง ๖ เดือนทั่วท้องที่นอกกำแพงเมือง จึง
เป็นการบังคับให้ศัตรูอยู่ไม่ได้ต้องล่าถอยทัพไปเอง

พระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์และข้าราชบริพารในราชอาณาจักรนี้ใหญ่โตมโหฬารยิ่งนัก  พระองค์ไม่ค่อยเสด็จออกให้ราษฎรสามัญได้ชมพระบารมีบ่อยนัก แม้แต่กับขุนนางและข้าราชการ พระองค์ยังเสด็จออกมาให้เข้าเฝ้าฯ ได้ตามวันเวลาที่มีกำหนดไว้เท่านั้น และก็ต้องเป็นในท้องพระโรงต่างๆ ในพระราชฐานเท่านั้น

เมื่อเวลาเสด็จออกพบขุนนาง พระองค์ทรงแต่งพระองค์ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีราคามาก ทรงสวมมงกุฎกษัตริย์และประทับอยู่บนพระเก้าอี้ทอง ขุนนางข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนต้องก้มกราบอยู่แทบพระบาท และในท้องพระโรงนั้นมีทหารถืออาวุธประมาณ ๓๐๐ คนเฝ้าอยู่ด้วย เพื่อคอยปกป้องพระองค์จากภยันตราย ชาวต่างชาติต่างภาษาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ก็จำต้องแสดงคารวะด้วยความพินอบพิเทา ต้องคุกเข่าลง พนมมือขึ้น และก้มศีรษะอยู่ตลอด

เมื่อจะกราบทูลสิ่งใดก็ต้องก้มลงกราบเสียก่อนและต้องใช้ถ้อยคำเพ็ดทูล เมื่อพระองค์ตรัสตอบอย่างใด ก็ต้องถืออย่างนั้นเสมือนโองการพระเป็นเจ้า ถ้าพระองค์จะมีคำสั่งสิ่งใดออกมาก็จำต้องปฏิบัติตามให้ครบทุกตัวอักษร

กำลังทหารทั้งทางบกทางเรือของพระมหากษัตริย์ประกอบไปด้วยกำลังจากประเทศราชหัวเมืองชั้นนอกและจากประชาชนในราชอาณาจักร แต่ทั้งนี้ยังมีชาวต่างประเทศเข้าอาสาสมัครเป็นทหารอยู่ด้วย

ในบรรดาทหารอาสาสมัครเหล่านี้ กองอาสาญี่ปุ่นมีจำนวน ๕๐๐ ถึง ๖๐๐ คน ได้รับการยกย่องนับถือจากนานาชาติข้างเคียงว่าเป็นพวกกล้าหาญ และพระมหากษัตริย์ก็โปรดปรานมาหลายรัชกาลแล้ว

แต่ในรัชกาลปัจจุบันพวกทหารอาสาญี่ปุ่นได้ถูกฆ่าหรือขับไล่ให้ออกไปให้พ้นราชอาณาจักร (คือออกญาเสนาภิมุขและพวก) เพราะความทะเยอทะยานและหยิ่งจองหองของพวกญี่ปุ่นเหล่านี้ แต่มาในปีปัจจุบัน (ค.ศ.๑๖๓๖) พระมหากษัตรย์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพวกญี่ปุ่นให้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาอีกแล้ว จึงเห็นได้ว่ากำลังทหารส่วนใหญ่ของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นพวกทหารไทย ซึ่งพวกเหล่านี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อมไว้ โดยจะถูกเรียกให้เข้ากองทัพ ณ เวลาใดก็ได้

เมื่อมีพระบรมราชโองการให้เข้ากองทัพออกไปสู้รบ ทหารจะต้องหาอาวุธและพาหนะเอาเอง และออกไปทำการสู้รบกับศัตรูทันที โดยไม่ได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือนแต่อย่างใด

การเรียกผู้คนเข้ากองทัพ จะเรียกมากน้อยเพียงใดสุดแท้แต่ตำบลหนึ่ง เช่นใน ๑๐๐ คนเอาเพียงคนเดียวหรือ ๒ คน หรือ ๑๐ คน หรือ ๒๐ คน ก็ย่อมแล้วแต่ความจำเป็นและสภาพความเป็นอยู่ของตำบลนั้นๆ พวกที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับหัวหน้าของตนตามสังกัด

พระมหากษัตริย์พระองค์นี้โปรดปรานชาวต่างประเทศดุจพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ ระหว่างชาวฮอลันดาและชาวโปรตุเกสนั้น ชาวฮอลันดาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มากกว่า ในเรื่องนี้พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนเมื่อ ค.ศ.๑๖๒๔ (พระเจ้าทรงธรรม) ได้มีพระบรมราชโองการให้ยึดเรือสำเภาสเปญ ซึ่งดอนเฟอร์ดินันโด เด ซิลวา เป็นนายเรือ

ทั้งนี้เพราะสเปญได้มายึดเรือฮอลันดาลำหนึ่งในน่านน้ำสยาม พวกสเปญจึงได้รับโทษตามความผิดนั้น และเมื่อยึดได้เรือสเปญแล้ว พระองค์จึงโปรดให้มอบทั้งเรือทั้งสินค้าให้แก่บริษัทฮอลันดา การยึดเรือสเปญเช่นนี้เป็นเหตุให้เกิดสงครามขึ้นระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงมนิลาซึ่งประเทศสเปญได้ครอบครองอยู่ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทำให้บรรดาการเดินเรือระหว่างน่านน้ำไทยและน่านน้ำจีนได้รับความเสียหายเป็นอันมาก

การที่กษัตริย์สยามทรงมีพระคุณต่อชาติฮอลันดาเช่นนี้ ทำให้พวกเราชาวฮอลันดารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อพระองค์และต่อประเทศสยาม จึงใน ค.ศ.๑๖๓๕ (รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง) บริษัทของเราจึงส่งเรือรบ ๖ ลำเข้าช่วยประเทศสยามกระทำการโจมตีเมืองปัตตานี ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณนั้น

ทั่วราชอาณาจักรแห่งนี้ พระมหากษัตริย์ทรงมีช้างเชื่องประมาณ ๓๐๐๐ เชือก ช้างทุกๆ ตัวมีคนเลี้ยงคอยดูแลให้อาหารและนำไปอาบน้ำทุกวัน ช้างตัวหนึ่งๆ มีคนเลี้ยงประจำ ๒ ถึง ๓ คน จึงเห็นได้ว่ากษัตริย์สยามมีพระราชอำนาจไม่น้อยเลย ช้างเชื่องฝึกหัดแล้วเป็นสัตว์ที่มีราคา และบางตัวก็ได้รับการฝึกหัดให้เป็นช้างศึก ช้างทั้งตัวเมียตัวผู้ยังมีประโยชน์ในการลากจูงปืนใหญ่ขนสัมภาระในการสงครามและเสบียงอาหาร

ชาวสยามมีร่างกายสมส่วน ผิวค่อนข้างจะน้ำตาลระหว่างดำกับเหลือง ชาวสยามเป็นทหารที่ดีไม่ได้ แต่บางครั้งก็โหดร้ายทารุณกับพวกเชลยศึกเหมือนกัน ชาวสยามมีท่าทางหยิ่งจองหอง แต่เมื่อมีกิจธุระต้องติดต่อกันก็สุภาพเรียบร้อยและมีกิริยาอัชฌาสัย คนพวกนี้ชอบสนุก ตามธรรมชาติเป็นคนขลาด ขี้ระแวง มีนิสัยประจบ ชอบหลอกลวงและพูดไม่จริงอย่างที่สุด

ชายชาวสยามมีนิสัยเกียจคร้านไม่ชอบทำงาน ดังนั้นงานการทั้งหลายทั้งปวงหญิงจึงต้องทำ ผู้หญิงที่นี่มีร่างกายแข็งแรง ความสวยงามนั้นปานกลาง งานในนาก็ดี หรือในบ้านก็ดี หญิงสยามทำด้วยความขยันขันแข็งอย่างยิ่ง และมักจะทำร่วมกับข้าทาสบริวาร ส่วนชายนั้นไม่ค่อยได้ทำอะไร นอกจากราชการงานทหารและก็ออกไปเดินเล่นหาความเพลิดเพลินเท่านั้น

ทั้งหญิงชายแต่งตัวด้วยผ้าผ่อนน้อยชิ้น เพราะประเทศนี้เป็นประเทศร้อน เขาชอบผ้าสีต่างๆ นุ่งสำหรับส่วนล่างของร่างกาย ส่วนบนนั้นชายใส่เสื้อชั้นในแขนครึ่งท่อน ส่วนหญิงนั้นมีผ้าบางๆ พาดไหล่หรือปิดหน้าอก บนศีรษะมักจะมีปิ่นทองปักผมไว้และสวมแหวนทองที่นิ้วมือ การแต่งกายเช่นนี้แต่งด้วยกันทั้งคนจนคนมีจึงยากที่จะดูว่าใครรวยใครจน นอกจากจะรู้ราคาชนิดผ้าที่นุ่งห่มนั้น

วิธีสังเกตคนมั่งมีและมีอำนาจราชศักดิ์สังเกตได้ง่ายจากผู้คนในขบวนที่ห้อมล้อมเจ้านายของเขา  ราษฎรสามัญเดินไปตามถนนมีข้าทาสคนหนึ่งหรือสองคนตามมา คนมั่งมีมีข้าทาสบริวารมากกว่านี้  ส่วนผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจราชศักดิ์มักจะมีบริวารติดตามมาด้วยถึง ๓๐ คน หรือมากกว่าก็มี

บ้านของชาวสยามสร้างด้วยไม้หรือไม้ไผ่ตามแบบชาวอินเดีย หลังคาบ้านนั้นใช้จากหรือกระเบื้องมุง เขามักยกพื้นบ้านให้สูงกว่าพื้นดินราว ๓ ถึง ๔ ฟุต บ้านหนึ่งๆ มีประตู ๑ บาน หน้าต่างหลายบาน  เครื่องแต่งบ้านนั้นมีน้อย มีเท่าที่จำเป็นสำหรับการหลับนอน บริโภคอาหารและการหุงต้มเท่านั้น

อาหารของชาวสยามไม่ฟุ่มเฟือยและมีน้อยสิ่ง ตามปกติมีข้าว ปลา และผัก ส่วนเครื่องดื่มตามปกตินั้น เขาดื่มแต่น้ำอย่างเดียว แต่ในวันหยุดชาวสยามกินอาหารกันฟุ่มเฟือย และชาวบ้านก็ดื่มสุราอย่างเมามาย

นั่นคือสยามและพระนครศรีอยุธยายุคพระเจ้าปราสาททอง ในสายตาของ โยส เซาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดา ซึ่งพบว่ามีทั้งการชื่นชม และชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่อง แต่จากหลายบันทึกของชาวตะวันตกมีประเด็นหนึ่งที่ตรงกันนั้นคือ พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีขนาดใหญ่ และมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้.

Source:https://www.thaipost.net/main/detail/14821