ย้อนอดีต :กบฏมากัสซาร์ จลาจลนองเลือดสมัยกรุงศรีอยุธยา

1737

‘มากัสซาร์’ เป็นชนเผ่าอาศัยบนหมู่เกาะทางตอนใต้สุดของอินโดนีเชียปัจจุบัน เป็นชนเผ่านักรบที่รบด้วยความเข้มแข็ง กลุ่มหนึ่งได้หลบหนีการรุกรานของพวกฮอลันดามายังกรุงศรีอยุธยา

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยาได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในมหานครนานาชาติ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุด ของเอเชียอาคเนย์ ทำให้มีชนชาติต่างๆ เข้ามาพำนักอาศัยเป็นอันมาก ทว่าการมีชนต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่เดิม เมื่อต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ กลุ่มชนต่างชาติที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด คือ ชาวเปอร์เซียซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทว่าเมื่อ ชายชาวกรีก นาม คอนสตันนิโนส เจอราคีส หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน เข้ามารับราชการและกลายเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ อำนาจของมุสลิมในสยามก็เริ่มเสื่อมถอย โดยเฉพาะหลังจากฟอลคอน ได้เป็นออกญาวิชเยนทร์แล้ว ตำแหน่งสำคัญเกี่ยวกับการค้าและการดูแลเมืองท่า ก็ถูกเปลี่ยนจากชาวมุสลิมมาอยู่ในมือชาวยุโรป


การสูญเสียอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้ขุนนางมุสลิมจำนวนมากไม่พอใจออกญาวิชาเยนทร์ขณะที่บางกลุ่มนั้น ถึงกับขัดเคืองในองค์สมเด็จพระนารายณ์ที่ไม่ทรงโปรดปรานพวกตนเช่นดังก่อน จึงทำให้ขุนนางกลุ่มหนึ่งวางแผนโค่นบัลลังก์ โดยยืมมือนักรบชาวมากัสซาร์ หรือที่เรียกตามสำเนียงอยุธยาพื้นว่า มักกะสัน ให้เป็นผู้ก่อการ

แต่เดิม ชาวมากัสซาร์ เป็นพวกมุสลิมบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย เป็นชนชาติที่ดุร้ายและเชี่ยวชาญในการรบ ต่อมา ถูกชาวฮอลันดาเข้ารุกรานจนต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเดิม พวกมากัสซาร์กลุ่มหนึ่งนำโดยหัวหน้าชื่อ เจ้าดาย ได้เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์จึงโปรดให้พวกนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวคลองตะเคียน นอกกำแพงพระนคร

ตามบันทึกของชาวต่างชาติในสมัยนั้น กล่าวไว้ว่า พวกมากัสซาร์มีความแข็งแกร่งและทรหดกว่าชนชาติอื่นๆ ทั้งยังมีนิสัยดุร้าย เหี้ยมโหด โดยพวกนี้มีธรรมเนียมชนิดหนึ่งชื่อ ลาม็อก ซึ่งหมายถึง ทำการในยามที่จนตรอกอย่างที่สุด โดยเมื่อเข้าลาม็อกแล้ว พวกมากัสซาร์จะสู้อย่างบ้าเลือดและจะสังหารทุกชีวิตที่พวกเขาพบเห็นไม่ว่าจะเป็น ผู้ชาย ผู้หญิง เด็กหรือ คนชรา

การก่อกบฎเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1686 (พ.ศ. 2229) โดยกลุ่มขุนนางมุสลิมที่วางแผนก่อการ ได้ส่งคนไปติดต่อกับรองหัวหน้าพวกมากัสซาร์ยุยงพรรคพวกกระด้างกระเดื่อง โดยทำเป็นบอกว่า ตนเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าแสดงสัญลักษณ์วิปริต เป็นนิมิตหมายว่า อาจเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อชาวมุสลิมทั้งปวงแลอาจเกิดเหตุร้ายต่อชาวมุสลิมทั้งหลายในสยาม ซึ่งที่รองหัวหน้าผู้นี้กล่าวดังนี้ ก็เพื่อทาบทามหาผู้ร่วมก่อการและก็สามารถระดมคนได้ดังตั้งใจ ทั้งหมดจึงตกลงนัดหมายวัน ที่จะบุกเข้าพระบรมมหาราชวังและปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ จากนั้นก็จะยกเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชาขึ้นเป็นกษัตริย์

ทว่าก่อนเวลาลงมือไม่นาน ได้มีขุนนางผู้หนึ่งในกลุ่มก่อการ คิดกลับใจนำความไปแจ้งออกญาวิชเยนทร์ จึงได้มีการจับกุมพวกขุนนางที่เป็นต้นคิด และได้เตรียมกำลังพลเพื่อพร้อมรับมือพวกมากัสซาร์

ซึ่งเมื่อพวกมากัสซาร์รู้ว่าแผนก่อกบฎล้มเหลว จึงเกิดคร้ามเกรงและขอเจรจา โดยยื่นเงื่อนไขว่า รองหัวหน้ามากัสซาร์กับนักรบ 50 คนจะอพยพออกไปจากสยาม ขอเพียงเจ้าพระยาวิชเยนทร์จะไม่เอาโทษพวกญาติพี่น้องที่ยังอยู่ในสยาม

ออกญาวิชาเยนทร์ตอบตกลง พวกมากัสซาร์ จึงลงเรือสำเภาลำหนึ่งแล่นออกจากพระนคร ทว่าเมื่อเรือไปถึงป้อมที่เมืองบางกอก กลับพบว่าโซ่ที่ขึงขวางกั้นแม่น้ำนั้นยังไม่ได้ถูกนำออกไป เนื่องจากออกญาวิชาเยนทร์ได้ลอบสั่งการให้ ออกพระศักดิสงคราม หรือเชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์แบง นายทหารชาวฝรั่งเศส จับกุมกบฏไว้ทั้งหมด

เมื่อเห็นว่า ถูกหักหลัง พวกมากัสซาร์จึงชักกริชสู้กับกองทหารของฟอร์แบงอย่างบ้าเลือด ชาวมากัสซาร์ 20 คนถูกสังหารที่ป้อม ขณะที่ฝ่ายอยุธยาก็เสียทหารไปเกือบ 100 นาย ส่วนพวกที่เหลือได้หนีขึ้นฝั่งและไล่ฆ่าชาวบ้านทุกคนที่พบเห็นไม่เว้นพระภิกษุ เด็ก และสตรี บันทึกของชาวต่างชาติ เล่าว่า พวกมากัสซาร์บุกเข้าไปในวัดแห่งหนึ่งและฆ่าพระตายทั้งวัด จนเลือดนองทั่วลานวัด

ทางด้านฟอร์แบง หลังจากที่รวบรวมทหารที่เสียขวัญเข้าเป็นหมวดเป็นกองได้แล้ว ก็นำทหารออกไล่ล่าพวกมากัสซาร์ ซึ่งกว่าที่ กองทหารของฟอร์แบงจะจัดการกับพวกกบฏได้ทั้งหมด ก็มีชาวบ้านที่เมืองบางกอกถูกฆ่าตายไปเกือบ 400 คน

แต่มีกบฏบางคนสามารถหนีกลับมาถึงอยุธยาได้และแจ้งกับพรรคพวกที่หมู่บ้านถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พวกมากัสซาร์จึงระดมนักรบหลายร้อยเตรียมโต้ตอบ ทว่าเวลานั้นออกญาวิชาเยนทร์ได้ระดมทหาร 7,000 นาย พร้อมเรือ 200 ลำ และนายทหารชาวยุโรปอีก 60 นาย ยกมาโจมตีหมู่บ้าน

บันทึกบาทหลวงฝรั่งเศสที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา เวลานั้น เล่าว่า เมื่อออกญาวิชเยนทร์นำกองหน้าของทหารหลวงขึ้นฝั่ง กัปตัน ยูดัล ชาวอังกฤษได้ขว้างระเบิดใส่หมู่บ้านมากัสซาร์เพื่อข่มขวัญ ทว่าอีกฝ่ายกลับกรูกันออกมาพร้อมหอกและกริชอย่างดุร้ายและเข้าโจมตีกองทหารหลวงที่เริ่มเสียขวัญเมื่อเห็นความดุร้ายของพวกมากัสซาร์ จากนั้น หลังปะทะกันไม่นาน พวกทหารก็แตกหนีลงเรือ บ้างก็โดดหนีลงน้ำ ส่วนกัปตันยูดัลปักหลักสู้ จนถูกพวกมากัสซาร์รุมแทงด้วยกริชจนตาย ขณะที่กัปตันโคทส์ นายเรืออังกฤษ คนสนิทของออกญาวิชเยนทร์หลัดตกเรือจมน้ำตายเพราะใส่เกราะ

ออกญาวิชเยนทร์ตกใจจนทำอะไรไม่ถูก เมื่อเห็นพวกมากัสซาร์บุกมา เเต่เคราะห์ดีที่ทหารคนสนิทจับโยนลงน้ำ จึงรอดตาย ทว่าพวกมากัสซาร์ก็ยังว่ายน้ำคาบหอกตามมา พวกทหารบนเรือเอาปืนยิงพวกนักรบที่ว่ายน้ำตามฆ่าออกญาวิชเยนทร์ ส่วนตัวออกญานั้นหมดแรงปีนขึ้นเรือไม่ไหว ได้แต่เกาะท้ายเรือแล้วให้พวกทหารเร่งพาหนีกลับค่าย

หลังการโจมตีครั้งแรกล้มเหลว ฝ่ายอยุธยาจึงวางแผนใหม่ โดยส่งคนไปลอบวางขวากบนทางที่พวกมากัสซาร์จะออกจากหมู่บ้าน จากนั้นใช้กองเรือเข้าไปริมฝั่งใกล้หมู่บ้านตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง แล้วใช้ธนูเพลิงระดมยิงพร้อมกับขว้างลูกแตกเข้าไป จนเกิดไฟไหม้ทั่วหมู่บ้าน เมื่อพวกนักรบกรูกันออกมา ก็เหยียบขวาก ได้รับบาดเจ็บเป็นอันมาก จากนั้น ฝ่ายอยุธยาก็ยกพลเข้าล้อมหมู่บ้านและเข้าโจมตี

การรบดำเนินไปอย่างดุเดือด ไพร่พลทั้ง 2 ฝ่ายล้มตายหลายร้อยนาย เจ้าดายผู้นำพวกมากัสซาร์ถูกยิงตายระหว่างการรบ ส่วนพวกผู้หญิง เด็ก คนแก่ในหมู่บ้านถูกไฟคลอกตายเกือบหมด

จากบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสเล่าว่า อยุธยาต้องสูญเสียไพร่พลไปเกือบ 1,000 นาย กว่าจะทำลายหมู่บ้าน มากัสซาร์ ได้

เมื่อเหตุการณ์จบลง ราชสำนักได้นำนักรบมากัสซาร์ที่ถูกจับได้ มาลงโทษประหาร ด้วยการให้เสือกิน ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสชื่อเดอเบสต์ ที่มาดูการประหารได้บันทึกว่า ชาวสยามนำพวกมากัสซาร์มาขึงพืดบนลานดินแล้วปล่อยเสือโคร่งหลายตัวที่ล่ามเอาไว้ออกมา โดยค่อยๆผ่อนโซ่ทีละน้อย ให้เสือเริ่มแทะกินเท้าและมือก่อน จากนั้น จึงให้ฉีกกินสะโพก หน้าท้องทั้งเป็นจนขาดใจตาย

เหตุการณ์กบฏมากัสซาร์ หรือ กบฏมักกะสัน ทำให้ราชสำนักอยุธยาไม่ไว้วางใจกลุ่มขุนนางชาวมุสลิมอีกต่อไปทำให้อำนาจของเหล่าขุนนางมุสลิมในสยามที่เคยเฟื่องฟูมาแต่ครั้งต้นรัชกาล ต้องปิดฉากลง

ส่วนออกญาวิชเยนทร์ที่เป็นผู้นำในการปราบกบฏครั้งนี้ ก็ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดโดยได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ รั้งตำแหน่งสมุหนายก

Cr KomKid.com