เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ปี พ.ศ. 2310 บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยสายเมืองที่เคยเป็นเมืองในสังกัด เมืองขึ้น เมืองในอารักขา และเมืองสวามิภักดิ์ของกรุงศรีอยุธยา ต่างการประกาศตนเป็นอิสระบ้าง ตั้งตนเป็นชุมชนอิสระบ้าง ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก, ชุมนุมเจ้าพระฝาง, ชุมนุมเจ้าพิมาย, ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และชุมนุมของพระเจ้าตากสินมหาราชเอง
การปราบชุมนุมต่างๆ เพื่อกอบกู้บ้านของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง แม้จะผ่านมาเป็นเวลานาน แต่ก็มีการบันทึก และการนำเสนอข้อมูลและประเด็นต่างๆ อยู่เป็นระยะ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ก็เป็นหนึ่งก็เป็นผู้หนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยใช้ชื่อบทความว่า “ลายแทงบนผ้าประเจียดของสมเด็จพระเจ้าตากสิน” (ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2538) อย่างไรก็ตามผู้เขียน (สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง) มิได้ระบุที่มาของผ้าประเจียด ส่วนบทความนี้ขอสรุปย่อมาเป็นอีกหนึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังนี้
ในบรรดาชุมนุมอิสระทั้ง 4 นี้ [ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก, เต้าพระฝาง, เจ้าพิมา และเจ้าพระยานครศรีธรรมราช]ชุมนุมที่นับว่าใหญ่ที่สุด และมีความสำคัญมากที่สุดต่อความเป็นเอกราช และความเป็นเอกภาพของราชอาณาจักรสยาม ก็คือ ชุมของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ที่มีหลวงสิทธิ์(หนู) อดีตมหาดเล็กรุ่นพี่ผู้หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นเจ้าเมืองอยู่
นอกจากจะมีฐานะเป็นหัวเมืองเอกในปักษ์ใต้ด้านทะเลตะวันออกของสยาม โดยมีอำนาจกำกับดูแลบรรดาหัวเมืองตรีในภาคใต้ด้านชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ชุมพรลงมาจดเมืองปัตตานีแล้ว แถมยังมีอำนาจควบคุมดูแลหัวเมืองที่เป็นเมืองขึ้น เมืองในอารักขา และเมืองสวามิภักดิ์ในดินแดนมลายูบางส่วนอีกด้วย
เพราะเหตุนี้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จึงมีราชทินนามบรรดาศักดิ์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเจ้าเมืองว่า “เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ชาติเดโชชัย มไหลัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยพาหะ”
ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงทรงมีพระราชดำริที่จะยกกองทัพลงไปปราบชุมนุมเจ้าพญานครศรีธรรมราชด้วยพระองค์เอง โดยทรงมอบหมายให้ “หลวงยกกระบัตรราชบุรี ( ท่านทองด้วง ผู้พี่) เพื่อนมหาดเล็กรุ่นเดียวกัน และนายสุจินดา(ท่านบุญมา ผู้น้อง) ที่ได้เข้ามาถวายตัวรับใช้สมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังจากได้ทรงปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ให้ร่วมกันยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้าพิมาย(โคราช)ตามลำดับ
ในการยกทัพลงไปปราบก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ 2312 นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงจัดเป็นกองทัพขนาดใหญ่มากทีเดียว เพื่อให้สมกับการที่จะปราบเจ้าพระยาเมืองที่ยิ่งใหญ่ กล่าวคือนอกจากจะมีพระองค์เองทรงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว ก็ยังมีพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด หรือ มะหมุด) เป็นแม่ทัพใหญ่อีกด้วย
ในการเดินทัพล่องใต้ชุดแรกนั้น ทรงมีพระราชโองการให้แบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 ให้จัดเป็นหน่วยลำเลียงเสบียงอาหารแห้ง, เครื่องสรรพวุธ และยุทธศาสตร์ภาระต่างๆ ลงเรือล่องใต้ไปก่อน เมื่อไปถึงเมืองไชยาแล้วให้จอดเรือแวะพักที่แหลมโพธิ์ ซึ่งอยู่ทางตะวันของตำบลพุมเรียง เมืองไชยา โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินจะทรงนำกองกำลังทัพหลวงล่องเรือตามลงไปภายหลัง
ส่วนที่ 2 ให้เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์เป็นแม่ทัพ นำทัพเดินทางลงใต้ทางบก โดยมีพระยายมราช เป็นปลัดพับ พระยาศิริพิพัฒน์และพระยาเพชร์บุรีเป็นนายกองคุมทหาร 5000 คน บ่ายหน้าเดินทัพลงใต้ ซึ่งปรากฏว่าในระหว่างเดินทางลงใต้มาถึงเมืองชุมพร นายมั่นซึ่งคลุมกองอาสาสมัครชาวชุมพร สู้รบแบบกองโจรกับพม่ามาแล้ว ในระหว่างสงครามพม่า มาขอเข้าร่วมอยู่ในกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่มีพระยาจักรี(หมุด) เป็นแม่ทัพ ซึ่งท่านแม่ทัพก็รับไว้ด้วยดี
เมื่อกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินเดินทางลงมาโดยทางเรือจนถึงแหลมโพธิ์เมืองไชยาแล้วก็ส่งผิดเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องหยุดพักกองทัพอยู่ที่เมืองไชยา อย่างน้อยอีกสัก 1 เดือน ทั้งนี้ก็เพราะว่ากองทัพภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาจักรี ซึ่งเดินทางลงมาโดยทางบกนั้น ได้มีจำนวนกำลังพลในกองทัพเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในขณะเดินทางมาถึงเมืองชุมพร ชาวเมืองชุมพรที่เคยเป็นกองอาสาสมัครได้สู้รบกับพม่า ภายใต้การนำของนายมั่น ในระหว่างสงครามได้พากันมาขอสมัครเข้าอยู่ในกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วย เพื่อรบกับกองทัพของเมืองนครฯ
นอกจากนั้นเมื่อพระยาจักรีศรีองครักษ์นำทัพมาถึงเมืองไชยา ปรากฏว่าพระศรีราชสงคราม(บุญชู) ปลัดเมืองไชยา ที่รักษาการแทนเจ้าเมืองที่หลบหนีเข้าป่าไปแล้วนั้น เป็นญาติสนิทกับพระยาจักรีศรีองครักษ์ผู้เป็นแม่ทัพอีกด้วย ดังนั้น พวกญาติพี่น้องของปลัดเมืองไชยาและผู้รักชาติชาวไชยาจึงพากันมาขออาสาสมัครเข้าอยู่ในกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เชื่อมรางจะต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชของบ้านเมือง ทำให้เกิดความจำเป็นต้องต่อเรือเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้เป็นพาหนะลำเลียงกำลังพลและเสบียงอาหารที่ได้เพิ่มมากขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 1 เดือนซึ่งผลปรากฏว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความสำเร็จสมตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินทุกประการ
ก่อนเสด็จออกจากเมืองไชยาเพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงได้พระราชทานนามแก่ท่าเรือที่แหลมโพธิ์แห่งนี้ว่า “ท่าชัยชนะ” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สถานที่ต่อเรือที่แหลมโพธิ์เมืองไชยา และการเดินทัพเพื่อไปทำศึกกับเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป
ในโอกาสนี้เองก่อนเคลื่อนพลออกเดินทางโดยทางเรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำผ้าประเจียดที่ลงเลขยันต์ และผ่านพิธีปลุกเสกมาแล้วเป็นอย่างดี ออกแจกจ่ายแก่บรรดาแม่ทัพนายกองตลอดจนหัวหมู่ พร้อมกับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่ได้มาจากวัดศรีโพธิ์ในเมืองไชยาแก่เหล่าทหารและไพร่พลทั้งปวง ที่ต่างก็พากันเพื่อเสริมและเชื่อมั่นในชัยชนะของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
สิ่งที่น่าสนใจ คือว่าอักขระเลขยันต์และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เขียนลงบนผืนผ้าประเจียดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำมาแจกจ่ายให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกองตลอดจนหัวหมู่ พร้อมกับการประพรหมน้ำพระพุทธมนต์ที่ได้จากวัดศรีโพธิ์แห่งเมืองไชยา นั้น ประกอบด้วยสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายที่มีความสำคัญๆ ว่ากระไรบ้าง ซึ่งขออธิบายให้ฟังดังต่อไปนี้
ก่อนอื่นขอเรียนให้ทราบก่อนว่า “ลายแทงบนผ้าประเจียดของสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ผืนนี้คือลายแทงที่แจ้งให้ทราบถึงลักษณะการจัดกองทัพหลวงที่มีสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด การจัด “ทัพหลวง” แบบนี้โดยปกติจะมีกองทัพนำหน้าที่เรียกว่า “ทัพหน้า” และมีกองทัพตามหลังอีกท่านหนึ่งที่เรียกว่า “ทัพหลัง” ซึ่งก็มีแม่ทัพเป็นของตนเองอีกเช่นกัน
การจัด “กองทัพหลวง” ตามภาพลายแทงบนผ้าประเจียดผืนนี้ เมื่อพิจารณาโดยละเอียดถึงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายของผ้าประเจียดแล้วก็จะบอกได้ว่าเป็นการจัดทัพแบบ “จตุรงคเสนา” อันเป็นการจัดทัพหลวงตามแบบซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ. ศ. 2133-48 )
คำว่า “จตุรงคเสนา” นี้เป็นคำศัพท์ในภาษาสันสกฤต(จตุร +องค+เสนา) แปลว่า “เสนามีองค์สี่” ซึ่งหมายถึงเสนาบดีประจำท้าวช้างทั้ง 4 เท้า เพื่อป้องกันภัยให้แก่ช้างศึก ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระมหาอุปราช ที่กำลังกระทำยุทธหัตถีกันอยู่ แล้วต่อมาทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยา จึงได้นำเอา “เสนามีองค์สี่” นี้มาตั้งเป็นนามฐานันดรศักดิ์ ของทหารคนสนิทแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีราชทินนามบรรดาศักดิ์ต่างๆ กันตามลำดับของฐานันดรที่มีอยู่ 4 ลำดับชั้นด้วยกันดังนี้คือ
1.ชั้นไพร่พล ได้แก่ 1.ไอ้อิน 2.ไอ้จันท์ 3.ไอ้มั่น 4.ไอ้คง
2.ชั้นหัวหมู่ ได้แก่ 1.จ่าเรศวร์ 2.จ่ารงค์ 3.จ่ายง 4.จ่ายวด
3.ชั้นนายหมวด ได้แก่ 1.นายกวด 2.นายเสน่ห์ 3.นายเล่ห์อาวุธ 4.นายสุจินดา
4.ชั้นนายกอง ได้แก่ 1.หลวงศักดิ์ 2.หลวงสิทธิ์ 3.หลวงฤทธิ์ 4.หลวงเดช
ทีนี้เรามาดูกันว่า ในจำนวนจตุรงคเสนาหรือเสนามีองค์สี่นี้มีใคร ยืนอยู่ตรงไหนบนลายแทงของผ้าประเจียดผืนนี้บ้าง ซึ่งจะพบว่ามีดังนี้ (โปรดดูตามลำดับตัวเลข)
1-2-3-4 คือ = หลวงศักดิ์, หลวงสิทธิ์, หลวงฤทธิ์, หลวงเดช
5-6-7-8 คือ = จ่าเรศวร์, จ่ารงค์, จ่ายง, จ่ายวด
9-10-11-12 คือ = นายกวด,นายเสน่ห์, นายเลห์อาวุธ, นายสุจินดา
13-14-15-16 คือ = คือ ไอ้อิน, ไอ้จันท์, ไอ้มั่น, ไอ้คง
17 = ธงช้าง คือ ธงนำขบวนเสด็จและดาบหน้า
18 = ธงริ้ว คือ ธงตามหลังขบวนเสด็จและดาบหลัง
19-20 = เรียกว่า “วชิรปราการ” หรือ “กำแพงเพชร์” เป็นแถวอารักขาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
21 = เสือในช่องกลาง คือ สมเด็จตากสินซึ่งทรงพระราชสมภพเมื่อปี จ.ศ.1096 ตรงกับปีขาล พ. ศ. 2277
อย่างไรก็ดีโปรดสังเกตดูให้ดีๆ จะเห็นว่า ตรงกลางของ “กำแพงเพชร์” (หมายเลข 19 และ 20) มีการลงอักขระเป็นบรรทัดยาวด้วยตัวอักษร “อารบิค” ที่เห็นได้อย่างชัดเจนซึ่งเมื่อได้สอบถามโต๊ะครูผู้มีความรู้ในเรื่องผ้ายันต์และอักขระอารบิกเป็นอย่างดีแล้ว ท่านดะโต๊ะก็ได้อธิบายให้ฟังว่า อักขระอารบิกที่จะลึกอยู่นั้น เป็นคำสวดสรรเสริญพระเจ้าและเป็นคำขอพรจากพระเจ้าตามคำสั่งของพระนะบีมูฮัมหมัด (ซอล) เพื่อขอความคุ้มครองปลอดภัยและขอให้ประสบชัยชนะในการยุทธ์
ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นจริงจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเยี่ยม ดังที่ได้เล่ามาทั้งหมดนี้แล้ว
ศิลปวัฒนธรรม 2 สิงหาคม 2562