ราชวงศ์ก็ไม่เว้น! แขวนคอเจ้าชายคูเวต ความผิดฆาตกรรมผู้อื่น

931

คูเวตซิตี้ –  ทางการคูเวตแถลงผ่านสำนักข่าวทางการ KUNA เมื่อวันพุธ ที่ 25 ว่า มีการแขวนคอผู้กระทำความผิด 7 ราย 2 ในจำนวนนั้นเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่ปกครองประเทศคูเวต และหญิงที่มีความผิดฐานทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายสิบคนต้องเสียชีวิต จากเหตุเพลิงไหม้ที่เธอตั้งใจก่อขึ้น อีก 2 คนเป็นชาวอียิปต์ ที่เหลือเป็นชาวบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และเอธิโอเปีย
สมาชิกราชวงศ์คูเวตคนแรกที่ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการแขวนคอ คือ ชี้ค ฟัยซาล อับดุลเลาะฮ์ อัล-ซาบะฮ์ ซึ่งมีความผิดฐานยิงหลานชายจนเสียชีวิต ผู้ตายเป็นสมาชิกราชวงศ์เช่นกัน เหตุเกิดเมื่อปี 2010 จากสาเหตุความขัดแย้ง และความผิดอีกกระทงหนึ่ง คือ การมีอาวุธผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง

ชาวคูเวตที่ถูกประหารชีวิตอีกคนหนึ่งเป็นหญิง ชื่อ นัสรอ อัล-อิเนซี เธอมีความผิดฐานวางเพลิงเต็นท์ที่จัดงานแต่งงานระหว่างสามี กับภรรยาคนที่ 2 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 57 ราย ในจำนวนนี้มีผู้หญิง และเด็กรวมอยู่หลายคน เหตุเกิดในปี 2009 นัสรอ ซึ่งมีอายุ 23 ปี ในตอนนั้น สาดน้ำมันเบนซินใส่เต็นท์ที่กำลังมีคนเฉลิมฉลองการแต่งงานอยู่ภายใน และจุดไฟเผา ซึ่งนับเป็นการก่อเหตุสังหารหมู่ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศคูเวต

Jakatia Pawa นักโทษหญิงชาวฟิลิปินส์ที่ถูกประหาร มีอาชีพทำงานบ้าน เธอมีความผิดฐานฆาตกรรมลูกสาวของเจ้านายชาวคูเวต และแม้ทางการฟิลิปปินส์จะร้องขออภัยโทษให้กับเธอจนวินาทีสุดท้าย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เธอมีลูกที่รออยู่ที่ฟิลิปปินส์ 2 คน
มีชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 240,000 คน ทำงาน และอาศัยอยู่ในประเทศคูเวต หลายคนในจำนวนนี้ทำงานเป็นแม่บ้าน หรือคนช่วยงานในบ้าน

ชาวเอธิโอเปียอีกคนหนึ่งที่ถูกประหาร เป็นหญิงทำงานบ้านเช่นกัน เธอมีความผิดฐานสังหารสมาชิกครอบครัวนายจ้าง ชาวอียิปต์ 2 คน มีความผิดฐานฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนชาวบังคลาเทศ มีความผิดฐานลักพาตัว และข่มขืน

คูเวตกลับมาใช้การประหารชีวิตเป็นการลงโทษสูงสุด ในปี 2013 หลังจากเว้นวรรคไปนาน 6 ปี โดยในเดือนเมษายน ปีดังกล่าว ได้มีการประหารชีวิตผู้ก่อเหตุฆาตกรรม 3 ราย อีก 2 เดือนต่อมา มีการประหารชีวิตชาวอียิปต์ 2 รายที่ก่อเหตุลักพาตัว และฆาตกรรม หนึ่งในชาวอียิปต์ที่ถูกประหารคือ Hajaj Saadi ซึ่งมีความผิดฐานลักพาตัว และข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ถึง 17 ราย

คูเวตเริ่มใช้การลงโทษประหารด้วยการแขวนคอ ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1960 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้ทำการแขวนคอนักโทษไปแล้ว 80 ราย เป็นชาย 74 ราย หญิง 6 ราย ส่วนมากมีความผิดฐานฆาตกรรม และลักลอบค้ายาเสพติด องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ประณามอย่างรุนแรง หลังจากคูเวตหันกลับมาใช้การแขวนคอเป็นการลงโทษขั้นสูงสุด อีกครั้งหนึ่ง
จนถึงขณะนี้ ยังมีคิวนักโทษที่ต้องถูกประหารชีวิตอีก 50 ราย

ที่มา: www.arabnews.com

muslimthaipost