พนักงาน ออกโรงต้านลดค่าไฟ ใช่หรือ? ไฟฟ้าเป็น’สาธารณูปโภค’ไม่ใช่ หวังกำไร

306

กรณี 3 องค์กร “การไฟฟ้า” ประกาศนัดรวมตัว เคลื่อนไหว ต่อต้าน มาตรการ ลดค่าไฟฟ้าช่วยเหลือประชาชน ของ กระทรวงพลังงาน กำลังถูกจับตามมองจากทุกฝ่าย
เหมาะสม หรือไม่ อย่างไร ?

เหตุผลที่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน จำเป็น ต้องงัดมาตรการพิเศษ มาช่วยเหลือประชาชนในยามนี้ ก็เนื่องมาจาก คำสั่ง ของ พรก.สถานการณ์ฉุกเแฺนฯ “ล็อกดาวน์” ให้อยู่แต่ในบ้าน ตั้งแต่ 1-20 เม.ย.63 ตามสโลแกน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และล่าสุด ได้ขยายยาวไปถึงสิ้นเดือน เม.ย.

แน่นอนที่สุด เมื่อคนอยู่บ้าน ค่าไฟฟ้า ย่อม “พุ่งพรวด” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือ แทนที่มีคนใช้ไฟมากขึ้น รายได้ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) ไม่ได้มีตัวเลข ขยับเพิ่มขึ้น

อันเนื่องมาจาก นโยบายพิเศษของ กระทรวงพลังงาน และ ย่อมส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้าน จาก คนกลุ่มหนึ่ง

ล่าสุด มีกระแสข่าวว่า องค์กรไฟฟ้า ทั้ง 3 แห่ง  นัดเคลื่อนไหว ร่วมกับ เครือข่ายรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องกับ สาธารณูปโภค หามาตรการตอบโต้ โดยนัดรวมพลกันที่ สำนักงานใหญ่ กฟผ.ในวันนี้ (22 เม.ย.)

การไฟฟ้า เป็นเรื่องใหญ่ และ กรณีที่กำลังออกมาเคลื่อนไหวใน สถานการณ์ฉุกเฉินฯ หลายฝ่ายมองว่า ถูกต้องหรือไม่

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม  โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “เห็นมาตรการช่วยเหลือการลดค่าไฟให้ประชาชน กับข่าวความลำบากของประชาชนตอนนี้แล้ว เลยลองไปดูฐานะการเงินของหน่วยงานเกี่ยวกับไฟฟ้าของรัฐ ดูง่ายๆ ของกรุงเทพฯ ก่อนนะครับ

มีหน่วยงานหลักสองหน่วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผลิตไฟ ขายให้การไฟฟ้านครหลวง  แล้วมาขายให้ประชาชน

กฟผ. > กฟน. > ประชาชน

จากข้อมูลงบฯ ปี 2561 (งบฯปี 62 ของ กฟน.ยังไม่เห็นครับ)

กฟผ. กำไรเบ็ดเสร็จ 48,776 ล้านบาท กำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร 284,223 ล้านบาท

กฟน. กำไรเบ็ดเสร็จ 9,025 ล้านบาท กำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร 95,742 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นค่าใช้จ่ายของทุกครัวเรือน ในช่วงวิกฤตที่ทุกคนลำบาก ขอให้รัฐช่วยประชาชนอย่างเต็มกำลัง อย่าตัดไฟชาวบ้าน อย่าไปห่วงเรื่องกำไร ขาดทุน ผมคิดว่านโยบายง่ายๆ คือ ปีนี้ห้ามมีกำไร ต้องช่วยคนลำบากก่อน

อย่าให้คำพูด “เราจะรอดไปด้วยกัน” เป็นแค่คำปลอบใจ ที่ประชาชนพูดกันเอง… ชัชชาติ ทิ้งท้าย

เรียกว่า เวลานี้นอกจากมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดความเดือดร้อนจากค่าไฟแพง รัฐบาลคงต้องลงมาจัดการกับต้นเหตุจากไฟฟ้าแพงด้วย

ขณะเดียวกัน “ท่านใหม่” ม.จ.จุลเจิม ยุคล เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องให้ดูกันลึกๆ ลงไป

เรื่องของไฟฟ้า เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ไฟฟ้าขึ้นเท่าตัว จริงไม่จริง ชาวบ้านเขามองกันว่า ต้นเหตุมันน่าจะมาจากการที่รัฐบาลให้คืนค่าประกัน มิเตอร์การใช้ไฟ… เงินที่การไฟฟ้าสำรองไว้แจกโบนัสพนักงาน มันหายไป จำเป็นต้องหาทางเอาคืน จะจริง จะเท็จ จริงไม่จริง ไม่ทราบ แต่ชาวบ้านเขาพูดกันนะครับ… ชาวไฟฟ้าย่อมรู้ดีกว่าผม และชาวบ้าน

พร้อม ตั้งข้อสงสัยว่า กระทรวงพลังงาน กฟผ. กฟน. กฟภ. เล่นอะไรกันอยู่ ไหนบอกว่า ซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่ลงทุนกันในประเทศ ลาว เขมร พม่า ค่าไฟฟ้าจะถูกลง เพราะ EGAT ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเอง

ตอนนี้ซื้อจากเอกชนบางส่วนมาขายให้ประชาชน แต่ทำไมถึงแพงจัง ส่วนต่าง ระหว่างผลิตเอง หรือซื้อจากเอกชนผลิต มันคงจะได้สมประโยชน์ทั้งคู่ (กินค่าคอมมิชชั่น จากการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ??? )

โดยเรียกร้องให้  ศรีสุวรรณ จรรยา ตรวจสอบ เส้นทางของการซื้อขายไฟฟ้าของรัฐ กับเอกชน ราคาซื้อขาย จากต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ จนถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับกรรมกัน

กรณีนี้ เป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้ กระจ่าง !