“นิกะห์” อย่างถูกต้องตามหลักการของอิสลาม แก้ปัญหาสังคมได้จริงหรือ ?

2624

คำว่านิกะห์ ( نِكَاحٌ ) เป็นคำภาษาอาหรับที่สังคมมุสลิมคุ้นหูและทราบกันดี ว่าหมายถึง “การแต่งงาน หรือ การสมรส” ซึ่งในทางภาษาแล้วคำๆนี้แต่เดิมทีมีความหมายว่า “การรวมกัน”แต่จะแก้ปัญหาสังคมได้หรือไม่

“นิกะห์” หมายถึง การแต่งงาน คือ การที่คนสองคนตัดสินใจร่วมชีวิตและครองคู่เป็นสามีภรรยากัน แต่ในทางนิติบัญญัตินั้นนักนิติศาสตร์อิสลามได้ให้นิยามนิกะห์ว่า “นิกะห์คือข้อตกลงที่อนุญาติให้ทั้งสองฝ่าย (เจ้าบ่าวและเจ้าสาว) อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายอิสลาม” ส่วนคำว่าวะลีมะฮ์ ( وَلِيْمَةٌ ) ที่เราได้ยินอยู่เป็นประจำก็เป็นคำภาษาอาหรับเช่นเดียวกันซึ่งในพจนานุกรมให้ความหมายคำๆนี้เอาไว้ว่า วะลีมะฮ์หมายถึง “การเลี้ยงอาหารค่ำรับรอง หรือการเลี้ยงอาหารเนื่องในงานมงคลสมรส” ซึ่งเรามักจะได้ยินการเรียกงานฉลองมงคลสมรสโดยการนำคำทั้งสองมาสนธิกันว่า “งานวะลีมะตุนนิกะห์” ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาไทยโดยสรุปว่า “งานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส” นั่นเอง

สังคมยุคปัจจุบันมีค่านิยมของสังคมหลายอย่างที่ทำให้คนหนุ่มสาวมากมายไม่มีโอกาสได้แต่งงานเมื่อถึงวัยอันควร ไม่ว่าจะเป็นค่าสินสอดที่แพงลิบลิ่ว สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้จะดีนักทำให้คนหนุ่มสาวแต่งงานช้าลง หรือค่านิยมอยู่ก่อนแต่งที่ทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสลามต่อต้านมาโดยตลอด ผลพวงของปัญหานี้ลุกลามบานปลายทำให้จำนวนประชากรในบางประเทศขาดความสมดุล และในที่สุดบางประเทศต้องเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากข้อมูลประชากรของประเทศไทยปี 2558 จำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 65,203,979 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,569,021 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของประชากรทั้งหมด แปลว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ผลที่ตามมาของประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหากเป็นประเทศกำลังพัฒนาเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ปัจจัยการผลิตทางด้านแรงงานลดลง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวมากขึ้น การลงทุนการออมน้อยลง ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) หรือรายได้ประชาชาติน้อยลง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นขณะที่งบประมาณรายได้ลดลง รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณด้านสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุมากขึ้น อีกทั้งเกิดปัญหาสังคมตามมา เช่น ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง สภาพจิตใจย่ำแย่ และความเสื่อมโทรมทางร่างกาย จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่

มีรายงานประชากรโลก ประจำปี 2560 ของสหประชาชาติ แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงไทย 1 คน ให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยแล้ว 1.46 คน ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะลดลงจากประมาณ 69 ล้านคน เหลือประมาณ 65 ล้านคนในปี 2593 และประมาณ 47 ล้านคนในปี 2643 นอกจากนี้ไทยยังติดอยู่ใน 10 ประเทศที่มีประชากรแออัดมากสุด แต่มีอัตราการเกิดหรือเจริญพันธุ์ที่สามารถทดแทนจำนวนประชากรที่มีอยู่ต่ำสุดร่วมกับจีน สหรัฐ บราซิล รัสเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม เยอรมนี อิหร่าน และสหราชอาณาจักร

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าหลายประเทศกำลังประสบกับปัญหาอัตราการเกิดของจำนวนประชากรที่ไม่สามารถทดแทนจำนวนประชากรที่มีอยู่เดิมได้อย่างสมดุล จนทำให้บางประเทศต้องออกกฏหมายหลายฉบับเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนของตนแต่งงานและมีบุตรเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศตน ซึ่งบางประเทศถึงขั้นออกกฏหมายสนับสนุนให้ผู้ชายมีภรรยาคนที่สอง และถ้าภรรยาคนแรกไม่ยินยอมถือว่ากระทำผิดตามกฏหมายกันเลยทีเดียว

ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานนั้นพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงเรียกร้องบรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลายที่มีความพร้อมให้ทำการสมรสกับสุภาพสตรีที่ดีและเหมาะสมกับพวกเขาเอาไว้ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน อาทิเช่น โองการที่ 3 ของซูเราะฮ์อันนิซาอ์ ความว่า
قال الله تعالى : ” فَانكِحُوا مَا طَابَ لَكُم مِّنَ النِّسَاءِ مَثْنَىٰ وَثُلَاثَ وَرُبَاعَ ۖ فَإِنْ خِفْتُمْ أَلَّا تَعْدِلُوا فَوَاحِدَةً أَوْ مَا مَلَكَتْ أَيْمَانُكُمْ ۚ ذَٰلِكَ أَدْنَىٰ أَلَّا تَعُولُوا ” النساء /3
ความว่า “พวกท่านทั้งหลายจงแต่งงานกับสตรีที่ดี สองคน หรือสามคน หรือสี่คน แต่ถ้าหากพวกท่านเกรงว่าจะให้ความยุติธรรมแก่พวกนางเหล่านั้นไม่ได้ ก็จงแต่งงานกับสุภาพสตรีเพียงคนเดียว หรือไม่ก็หญิงที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครองอยู่ นั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ยิ่งกว่าในการที่พวกเจ้าจะไม่ลำเอียง”

และโองการที่ 21 ของซูเราะฮ์อัรรูม ความว่า
قال الله تعالى : ” وَمِنْ آيَاتِهِ أَنْ خَلَقَ لَكُم مِّنْ أَنفُسِكُمْ أَزْوَاجًا لِّتَسْكُنُوا إِلَيْهَا وَجَعَلَ بَيْنَكُم مَّوَدَّةً وَرَحْمَةً ۚ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ ” الروم / 21
ความว่า “และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ พระองค์ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับนาง และพระองค์ทรงบันดาลให้เกิดความรักใคร่และความเมตตาขึ้นระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในการนี้แน่นอนย่อมเป็นสัญญาณแก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญ”

ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ก็เช่นเดียวกันท่านได้เรียกร้องบรรดาชายหนุ่มที่มีความพร้อมให้ทำการสมรสเมื่อถึงวัยอันควรเอาไว้ในตัวบทอัลหะดีษหลายต่อหลายบท อาทิเช่น ตัวบทอัลหะดีษที่รายงานโดยท่านอับดุลเลาะฮ์ บินมัสอูด (ร.ฏ.) ที่ได้กล่าวว่า
عنْ عَبْدِاللَّهِ بْنِ مَسْعُودٍ : قَالَ لَنَا رَسُولُ اللَّهِ ﷺ: يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ، مَنِ اسْتَطَاعَ مِنْكُمُ الْبَاءَةَ فَلْيَتَزَوَّجْ، فَإِنَّهُ أَغَضُّ لِلْبَصَرِ، وَأَحْصَنُ لِلْفَرْجِ، وَمَنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْهِ بِالصَّوْمِ؛ فَإِنَّهُ لَهُ وِجَاءٌ. مُتَّفَقٌ عَلَيْهِ.

ความว่า “ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.)ได้กล่าวกับพวกเราว่า โอ้บรรดาชายหนุ่มทั้งหลาย บุคคลใดในหมู่พวกเจ้านั้นมีความสามารถ(ในการครองคู่ โดยมีค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน) ก็จงแต่งงานเถิด เพราะแท้จริงการแต่งงานจะช่วยลดสายตาให้ต่ำลง อีกทั้งยังเป็นการสงวนอวัยวะเพศ และผู้ใดที่ไม่มีความสามารถก็จงถือศีลอดเสียเถิด เพราะการถือศีลอดสามารถยับยั้งอารมณ์ใคร่ได้” รายงานโดย บุคอรีย์และมุสลิม

ถ้าเราได้ศึกษาหลักการของอิสลามอย่างเจาะลึก เราก็จะพบว่าการสมรส หรือนิกะห์อย่างถูกต้องตามหลักการของอิสลามนั้นประโยชน์ของมันนั้นมิได้ส่งผลสะท้อนกลับมายังตัวบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังส่งผลสะท้อนกลับมายังสังคมในภาพรวมอีกด้วย เราลองมาศึกษาประโยชน์บางประการของการนิกะห์

1. ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีหลักการสอดคล้องกับธรรมชาติไม่ฝืนหรือขัดกับกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ดังนั้นการนิกะห์ หรือการแต่งงานเป็นการตอบรับคำเรียกร้องของธรรมชาติ พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดิน มีทั้งเพศชายและเพศหญิงซึ่งทั้งสองมีความต้องการซึ่งกันและกันเพื่อครองคู่กันอย่างมีความสุข อีกทั้งการแต่งงานยังมีส่วนช่วยลดปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ว่าท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) พยายามสนับสนุนให้ชายหนุ่มที่มีความพร้อมแต่งงาน ไม่สนับสนุนให้ครองตนเป็นโสด ดังมีรายงานจากท่านสะมุเราะฮ์ (ร.ฏ.) กล่าวว่า
عَنْ سَمُرَةَ رضي الله عنه ” أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَهَى عَنْ التَّبَتُّلِ ”
ความว่า “แท้จริงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ห้าม (ไม่สนับสนุน) ให้ครองตนเป็นโสด”

2. การนิกะห์มีส่วนช่วยทำให้จำนวนประชากรในสังคมมีความสมดุลทดแทนกันได้อย่างเหมาะสมและลงตัว อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดเชื้อสาย ขยายวงศ์วานและเผ่าพันธ์มนุษย์ให้คงอยู่ต่อไป ดังที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวเอาไว้ในอัลหะดีษบทหนึ่งความว่า
قَالَ رسول الله صلى الله عليهوسلم : «تَزَوَّجُوا الْوَدُودَ الْوَلُودَ فَإِنِّي مُكَاثِرٌ بِكُمُ الأُمَمَ يوم القيامة » رواه أبو داود
ความว่า “ท่านทั้งหลายจงแต่งงานกับสุภาพสตรีที่ท่านทั้งหลายพึงพอใจในตัวนางและรักนาง และสุภาพสตรีที่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ แท้จริงเรานั้นปรารถนาที่จะให้อุมมะฮ์ของเรามีจำนวนมากๆในวันกิยามะฮ์” รายงานโดยอะบูดาวูด

3. การนิกะห์ช่วยทำให้จิตใจสงบนิ่งมั่นคง มีความสุข และที่สำคัญที่สุดสามีภรรยาเปรียบเสมือนที่พักทางใจซึ่งกันและกัน เมื่อสังคมเล็กๆ (หมายถึงครอบครัว) มีความมั่นคงสงบสุข สังคมใหญ่ก็จะสงบสุขมั่นคงตามไปด้วย พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)ทรงตรัสถึงเรื่องนี้เอาไว้ในโองการที่ 187 ของซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ ความว่า
قال الله تعالى : “هُنَّ لِبَاسٌ لَّكُمْ وَأَنتُمْ لِبَاسٌ لَّهُنَّ ” البقرة / 187
ความว่า “พวกเธอนั้นเปรียบเสมือนอาภรณ์ของพวกเจ้า และพวกเจ้าก็เปรียบเสมือนอาภรณ์ของพวกเธอ”

4. การนิกะห์ยังช่วยรักษาคุณธรรมจริยธรรมของผู้คนทั้งหลายไม่ให้ตกอยู่ในความเหลวแหลก และตกต่ำ เช่น การผิดประเวณี การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การแพร่กระจายของโรคร้าย ดังที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ในอัลหะดีษบทหนึ่งความว่า
قال صلى الله عليه وسلم: ” إِذَا جَاءَكُمْ مَنْ تَرْضَوْنَ دِيْنَهُ وَخُلُقَهُ فَزَوِّجُوْهُ إِلَّا تَفْعَلُوْهُ تَكُنْ فِتْنَةٌ فِي الْأَرْضِ وَفَسَادٌ كَبِيْرٌ ” رواه الترمذي
ความว่า “เมื่อมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ท่านทั้งหลายพึงพอใจในศาสนาและจรรยามารยาทของเขามาหาพวกท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงแต่งงานให้กับเขาเถิด ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว ฟิตนะฮ์ (ความชั่วร้าย) และความเสียหายอย่างใหญ่หลวงก็จะเกิดขึ้นในพื้นพิภพนี้อย่างแน่นอน” รายงานโดยติรมีซีย์
นี่คือคุณประโยชน์บางประการของการนิกะห์ตามแบบฉบับของอิสลาม ซึ่งเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสังคมมากมายที่กำลังรุมเร้าเราอยู่