“การเมือง” กับ “กองทัพ” ทำไม ถึงแยกกันไม่ออก

369

“ทำไมกองทัพต้องแทรกแซงการเมือง” เป็นคำถาม ที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งสำหรับ “การเมืองไทย” จากการทำรัฐประหาร ครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่ในโลกยุคใหม่อย่างศตวรรษที่ 21 ก็ยังดำรงอยู่ และ ยังไม่มีใครกล้าจะให้คำตอบว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

นายภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “The Military and DemocraticBacksliding in Thailand” ณ Universityof Leeds มองภาพ “ทำไม กองทัพ ต้องแทรกแซงการเมือง คนที่มีผลงานดี คนที่โชว์ศักยภาพดีเด่น ควรจะได้รับการส่งเสริม (Promote) ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ

นั่นคือหลักการที่เป็นอุดมคติของทหารอาชีพ แต่สิ่งที่ปรากฏในกองทัพไทย ขัดต่อหลัก Professional Military และ Meritocracy เช่น การเล่นพวกพ้อง การเอื้อต่อเครือญาติหรือคนสนิท ผู้ให้ข้อมูลบางท่านกล่าวอย่างน่าสนใจ โดยให้พยายามมองว่าการแต่งตั้งคนใกล้ชิดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่มันทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้

หลักการแต่งตั้งคนใกล้ชิดก็มีข้อดี คือ ทำให้เกิดความไว้วางใจกันในการทำงาน แต่ถ้าเกิดเรามองคำกล่าวอันนี้ มันก็สะท้อน หรือเปล่าว่า ระบบหรือกฎเกณฑ์ที่มีมันไม่เข้มแข็งพอ มันไม่ทำให้เกิดความไว้วางใจกันได้ คือแทนที่จะไว้วางใจกฎระเบียบกลับต้องเป็นการไว้วางใจคนใกล้ชิด มันก็สะท้อนถึงลักษณะที่ว่ามันไม่ใช่ความเป็นสมัยใหม่ มันไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นในระบบราชการ

ด้วยความที่บรรดานายทหารมักรู้จักกันมานาน เช่น ตั้งแต่สมัยเรียน จึงทำให้รู้กันเองว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง ใครสมควรหรือไม่สมควรจะได้เป็นผู้นำ แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้ทหารไม่ไว้ใจคนจากฝ่ายการเมืองด้วย “เหตุที่ทหารไม่พอใจหากนักการเมืองจะมายุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย เพราะทหารคิดว่านักการเมืองเป็นคนนอกไม่เข้าใจธรรมชาติของทหาร” นักการเมืองไม่มีทางรู้ว่าใครควรได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพเท่าทหาร

“เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปฏิรูปกองทัพ” เพราะกองทัพถูกมองในแง่ลบอย่างหนักจากประชาชน ถึงขั้นมีทหารบางนายไม่กล้าแต่งเครื่องแบบเดินในที่สาธารณะเพราะกลัวถูกประชาชนต่อว่า “แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครทำอะไรจริงจังเพื่อปฏิรูปกองทัพ มากเท่ากับที่มีการปฏิรูปการเมืองจนเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540” และคนสมัยนั้นมองว่าทหารคงไม่กลับมายุ่งกับการเมืองอีกแล้ว

“แม้รัฐธรรมนูญ 2540 จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่มองอีกมุมหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแฝงด้วยเจตนารมณ์ของชนชั้นนำอยู่มาก เช่น ความต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และความต้องการจำกัดอำนาจของรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมืองดีต่อชนชั้นนำอย่างไร มันจะช่วยให้ประชาชนไม่ทำการประท้วงอันนำมาสู่ความวุ่นวายในประเทศ

ชนชั้นนำมองว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพจะช่วยปกป้องสถานภาพ (Status Quo) หรือ สถานะอันสุขสบายของชนชั้นนำอยู่แล้ว ฉะนั้นประชาชนจะไม่ประท้วง ขณะเดียวกันชนชั้นนำก็ต้องการจำกัดอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญโดยให้อำนาจกับองค์กรอิสระซึ่งเป็นกลไกใหม่

อย่างไรก็ตาม “เมื่อรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 ที่ได้เสียงในสภาแบบเด็ดขาดทำให้ฝ่ายค้านต้องไปหาวิธีต่อสู้ทางอื่น” ประกอบกับ “ทักษิณพยายามแทรกแซงกองทัพ” เช่น ผลักดันให้ญาติผู้พี่ของตนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งค่อนข้างจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในกองทัพเอง รวมถึงผลักดันให้นายทหารที่เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 อันเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของตนขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพจึงทำให้ทหารกลับมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไปโดยปริยาย

กับคำถามที่ว่า “รัฐประหาร 2549 เป็นไปตามแผนของชนชั้นนำหรือไม่ หากเชื่อว่าชนชั้นนำมีแผนในการรัฐประหารครั้งนี้” คำตอบคือ “ไม่เป็นไปตามแผนทั้งหมด” ถึงขั้นที่มีบางคนบอกว่า “เสียของ” ด้วยซ้ำไปเพราะแม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะเพิ่มอำนาจให้สถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การยุบพรรคไทยรักไทย การเปลี่ยนแปลงระบบแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพ เพื่อจำกัดอำนาจรัฐบาลในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร แต่อีกด้านหนึ่ง การรัฐประหารนำไปสู่การต่อสู้ของฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งอย่างหนักแน่นขึ้นกว่าเดิม

เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง เรียกร้องให้จำกัดอำนาจสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการอ้างความชอบธรรมแบบไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การปฏิรูปประเทศ อนึ่ง มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น 1.การเงียบของคนเสื้อแดง ทั้งที่เชื่อกันว่าต้องออกมาต่อต้าน คสช.2.มีผู้สนับสนุนรัฐประหาร 2557 ทั้งที่ไม่เคยสนับสนุนรัฐประหารครั้งก่อนๆ

“ปัจจุบันถ้าคุณไปดูยุทธศาสตร์ของกองทัพ ยุทธศาสตร์ชาติ ความมั่นคงภายในของชาติมันรวมถึงความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติด้วย การเมืองเหลือง-แดงมันถูกรวมเข้าไปด้วย การปลูกฝังความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การสร้างความมั่นคง ความยากจนถือว่าเป็นภัยคุกคามด้วย ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม คนบุกป่า คนเข้าเมืองผิดกฎหมายผู้อพยพ สารพัดปัญหาถูกรวมเข้าไปอยู่ในนิยามความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น”

“เราเคยชินกับวาทกรรมนักการเมืองรังแกข้าราชการ แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าข้าราชการนั้นสมควรถูกลงโทษจริงหรือไม่ หรือว่าจริงๆ มันเป็นอำนาจของนักการเมืองที่จะโยกย้ายได้ ปลดได้”

มันมีความกลัวรัฐบาลที่มาจากกองทัพ ซึ่งสื่อบ้านเราไม่ยอมรับว่าเรามีความกลัว แต่สื่อรู้ดีว่าถ้าวิจารณ์กองทัพมากๆ จะเกิดอะไรขึ้นสื่อยังจำได้ดี ในอดีต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช แค่วิจารณ์ผู้นำทหารก็มีทหารหลายร้อยคนไปบุกที่บ้านจนประตูรั้วเกือบพัง เวลาเราพูดถึง 2 มาตรฐานของสังคมไทยมันมีมากกว่าเรื่องของระบบตุลาการ มันรวมถึงทัศนคติ บรรทัดฐาน กฎกติกาต่างๆ ที่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการมีต่อนักการเมือง

กองทัพไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนประชาธิปไตย แต่ต้องออกไปจากการเมือง ทำงานเป็นทหารอาชีพ ดูแลงานด้านความมั่นคง ปกป้องประเทศตามบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน !