กฎหมาย’คู่ชีวิต’ ‘มุสลิม’ไม่เห็นด้วย ชี้ผิดหลักศาสนา แนะส.ส.มุสลิมแสดงท่าทีชัด

1836

รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี แสดงท่าทีคัดค้านการออกกฎหมายคู่ชีวิต ให้หญิงแต่งหญิง หรือชายแต่งชาย ระบุจะนำไปสู่ความผิดอีกหลายอย่าง แนะส.ส.มุสลิม แสดงท่าทีชัดเจนไม่เห็นด้วย

อาจารย์ประสาน ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวกับMtoday ถึงกรณีคณะรัฐมนตรี มีมติให้ออกกฎหมาย คู่ชีวิต ให้กลุ่มชายรักชายและหญิงรักหญิง อยู่ร่วมกันแบบสามีภรรยาว่า ในฐานะมุสลิมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะขัดต่อหลักการศาสนา ที่พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างชายและหญิง ซึ่งในวิชาฟิกฮ์ จะมีคำว่า คน 2 เพศ คือ มีเพศชายและหญิงในคนๆเดียวกัน แต่ไม่มีเพศที่3 ที่มีการแปลงเพศจากชายเป็นหญิง

‘การยอมรับ หญิงรักหญิงหรือชายรักชาย เป็นวิบัติ เพราะเป็นการยอมรับในเรื่องชายรักชาย หญิงรักหญิง ผิดจากที่พระเจ้าสร้างมา หรือผิดจากธรรมชาติ ทุกวันนี้ มนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติหลายอย่าง อาทิ ป่าไม้ ด้วยเหตุผลตามแต่จะอ้าง และสิ่งนี้ก็ถือเป็นการทำลายธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่บอกว่า คนกลุ่มนี้มีอยู่แล้ว ต้องการให้มีสิทธิ์ตามกฎหมายนั้น ที่มีอยู่แล้วก็ให้มีไป แต่การออกกฎหมายรองรับ ถือเป็นการสนับสนุน เป็นวิบัติ คนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มาจากสภาพแวดล้อมกล่อมเกลาให้เป็นอย่างนั้น การออกกฎหมายมารองรับในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา จึงไม่อาจยอมรับได้ และจะนำไปสู่การกระทำผิดอีกหลายอย่าง อาทิ การรับบุตรบุญธรรมที่เสมือนเป็นบุตรตัวเอง ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ และการรับมรดก เป็นต้น’นายประสาน กล่าว

ส่วนการกำหนดท่าทีนั้น อาจารย์ประสาน กล่าวว่า คงไม่คัดค้าน แต่ชี้แจงให้ทราบว่า เป็นสิ่งที่ศาสนาห้าม ในส่วนของมุสลิม ยังไม่มีการประชุมกำหนดท่าทีอะไร แต่ในส่วนของชาวคริสต์ ทราบว่า ได้มีการล่ารายชื่อคัดค้านตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ในส่วนของมุสลิม สิ่งที่ทำคือ ตามที่นบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) สอนไว้ คือ ให้ใช้อำนาจยับยั้ง แต่กรณีคนไทยไม่มีอำนาจในการยับยั้ง ก็ให้ใช้วาจาในการคัดค้าน ไม่เห็นด้วย หากทำไม่สำเร็จก็ให้ดุอาว์ ทำใจไม่ยอมรับ

สำหรับส.ส.มุสลิม ที่จะต้องลงมติในสภาผู้แทนราษฎร อาจารย์ประสาน กล่าวว่า สิ่งที่ส.ส.จะต้องทำก็คือ การแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยในพรรค เมื่อกฎหมายเข้าสภาฯก็ให้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยในสภาฯ เมื่อถึงเวลาลงมติ หากพรรคมีมติ ก็ขอให้สงวนท่าที

‘คิดว่า ส.ส.มุสลิม จะทราบดีกว่าสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนา หากไปลงมติเห็นด้วย จะถือว่า มีความผิดด้วย’ อาจารย์ประสาน ให้คำแนะนำ