2 กลุ่มชาวจะนะ’ค้านหัวชนฝา-ร่วมพัฒนา’เมืองต้นแบบอุตสาหกรรม

964

การเปิดเวที รับฟังความเห็นเมืองต้นอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เกิดปรากฏการณ์ชาวจะนะ 2 ฝั่งเคลื่อนไหว ฝ่ายหนึ่ง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น คัดค้านโครงการ ส่วนฝ่ายหนึ่ง กลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ ขอมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยจัดตั้งสหกรณ์ จัดตั้งโรงไฟฟ้า

วันที่ 11 ก.ค.63 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้จัดเวที รับฟังความเห็นโครงการเมืองต้นแบบ 4 หรือโครงการ “จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยมีการเคลื่อนไหว 3 เวที เวทีหลักจัดขึ้นขึ้นที่โรงเรียนจะนะวิทยา ขณะที่ บริเวณ อบต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ขณะที่กลุ่มตัดค้าน เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จัดเวทีอ่านแถลงการณ์หน้าโรงเรียนจะนะวิทยา คัดค้านโครงการ

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น นำโดย น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ที่ทางกลุ่มชูเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ในการคัดค้าน ตั้งฉายาว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” เป็นตัวแทนหลักของชาวบ้านในการคัดค้านโครงการ ได้มาออกมารวมตัวกันที่หน้าหอนาฬิกาสามแยกอำเภอจะนะนับร้อยคน เพื่อประกาศจุดยืน

น.ส.ไครียะห์ ได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยกเลิกมติ ครม.นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงวิถีชีวิตของชาวจะนะ จากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก

ระบุว่า โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ศอ.บต.เดินหน้าโครงการโดยไม่สนใจฟังเสียงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม 16,700 ไร่ ในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอจะนะ ทั้งที่พวกเราได้แสดงเหตุผลมาอย่างต่อเนื่องว่า โครงการนี้มีความไม่ชอบธรรมในหลายประการ อย่างเช่น

1. การเริ่มต้นโครงการนี้ได้ใช้อำนาจของรัฐบาล และของ ศอ.บต. ดำเนินการอย่างรวบรัดขั้นตอน โดยการอนุมัติโครงการ พร้อมอนุมัติงบประมาณเบื้องต้น 18,000 กว่าล้านบาท แล้วมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภายหลัง อันถือเป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่สวยงาม และไม่สามารถยอมรับได้ แต่กลับอ้างถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่ตนเองสร้างขึ้น(พิธีกรรม) ดังที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการ ซึ่งโครงการคือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับประเทศ แต่ไม่ให้สนใจรับฟังความคิดเห็นประชาชนชาวจังหวัดสงขลาทั้งหมด แต่จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่ 3 ตำบลเท่านั้น และคนที่ไม่เห็นด้วยในพื้นที่นี้จะถูกปิดกั้นด้วยเช่นกัน

2. เห็นได้ชัดว่า โครงการนี้คือการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน โดยการใช้ ศอ.บต. ซึ่งกุมอำนาจการบริหารราชการและความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกขับเคลื่อน และได้ใช้วิธีการพิเศษที่ไม่สนใจขั้นตอนตามกฎหมายปกติเพื่อจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ และยังอ้างถึงความเจริญด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่ผลประโยชน์หลักจะตกอยู่กับทุนเฉพาะกลุ่มและนายหน้าซื้อขายที่ดินเท่านั้น

3. โครงการนี้จะสร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง อันรวมถึงสภาพอากาศจากมลพิษโรงงานจำนวนมาก และน้ำเสียที่จะปล่อยลงสู่ทะเล ที่จะทำลายระบบนิเวศน์โดยรวมของทะเลจังหวัดสงขลา อันเป็นแหล่งสัตว์น้ำทะเลที่สำคัญของพวกเรา และจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบล ของอำเภอจะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

พวกเราต้องประสบกับวิบากกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า จากผู้ที่ต้องการกอบโกยประโยชน์ในพื้นที่จากกลุ่มทุนภายนอกมาตลอด 20 ปีมานี้ มาวันนี้เขาได้ใช้กลไกของรัฐที่มีความเข้มแข็งอย่าง ศอ.บต. เขามากดทับพวกเรา จนแทบจะดิ้นรนอะไรไม่ได้ แม้แต่การส่งเสียงที่จะบอกถึงความทุกข์ยากที่กำลังจะเกิดขึ้น

พวกเราไม่ต้องอยู่ในความขัดแย้งใดๆ ที่ ศอ.บต. กำลังสร้างขึ้นในครั้งนี้ โดยการจับมือกับกลุ่มทุนเหล่านั้นแล้วแบ่งแยกเราเป็นสองฝ่าย ทั้งที่ ศอ.บต. คือองค์กรที่ต้องทำหน้าที่จัดการความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้หมดหายไป ซึ่งทุกคนรับทราบดี แต่ครั้งนี้เห็นได้ถึงความผิดปกติขององค์กรนี้อย่างชัดเจน เสมือนเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง

ก่อนหน้า ไครียะห์ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลให้ทบทวนโครงการรวมถึงการ เดินทางมาหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ระบุว่า จะคัดค้านโครงการนี้ให้ถึงที่สุด

จากนั้นทั้งหมดจึงได้เคลื่อนขบวนไปยังตัวเมืองจะนะ และไปตั้งเวทีที่ศาลาตลาดนัดจะนะมีแกนนำนักวิชาการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย และมีศิลปิน “แสง ธรรมดา” ได้ร้องเพลง”จะนะจะชนะ” ที่แต่งขึ้นมาด้วย โดยไม่ได้ไปขัดขวางหรือก่อกวนเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งสองเวทีแต่อย่างใด

ส่วนที่องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน หมู่ที่ 4 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ชาวบ้าน 3 ตำบล ในนามกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ ได้ตั้งเวทีคู่ขนานกับเวทีรับฟังความคิดเห็นเมืองต้นแบบ 4 นำโดย นายสมชาย เล่งหลัก ในนามตัวเเทนชุมชนจะนะต้นเเบบ โดยเป็นกลุ่มที่พร้อมแสดงจุดยืนของชาวบ้านในพื้นที่ ทั้ง 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ

ส่วนรายงานข่าวแจ้งว่า ชาวบ้านเดินทางมาร่วมแสดงพลังกัน โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ” เพื่อร่วมเสวนา “ชุมชนของเราต้องมีส่วนร่วม และได้รับผลประโยชน์สูงสุด โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยมีวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหลานพี่น้องชาวอำเภอจะนะ ที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ของพี่น้องชาวจะนะ อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาล มีนโยบายให้มีการสร้าง “นิคมอุตสาหกรรมจะนะต้นแบบ” ขึ้นในพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ ซึ่งจะมีผลเสียมากมายเกิดขึ้นหลังจากเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นแล้ว

หลังจากที่มีการปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายในพื้นที่ ก็ได้ข้อสรุปว่า ทางกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ จะขอตั้งสหกรณ์ชุมชนจะนะต้นแบบจำกัดขึ้น และให้พี่น้องในพื้นที่สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ชุมชนจะนะต้นแบบจำกัด รวบรวมสมาชิกให้ได้ 30,000 คน ทั้ง 3 ตำบล เพื่อเรียกร้องขอใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 1,100 Mw/แก๊ส จากรัฐบาล เพื่อขายไฟฟ้าให้กับ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากนิคมฯที่จะเกิดขึ้นเป็นนโยบายของรัฐบาล มีความต้องการใช้ไฟฟ้า ประมาณ 2,500 Mw. ในการใช้ในนิคมฯ หากทางกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบไม่ได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าในครั้งนี้ โรงไฟฟ้าก็จะถูกสร้างโดยเอกชนอยู่แล้ว

แต่หากทางกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ขนาด 1,100 Mw ในนามของสหกรณ์ชุมชนจะนะต้นแบบ แล้วแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปแบบสหกรณ์ และสหกรณ์ชุมชนจะนะต้นแบบตั้งกองทุนพัฒนาชุมชน (CSR) ในนามสหกรณ์เอง โดยที่จะแบ่งผลกำไร 50% มาเป็นกองทุนพัฒนา 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.งบประมาณตำบล 2.งบประมาณหมู่บ้าน 3.งบประมาณฯสุขภาพ 4.งบประมาณกิจกรรมเยาวชน 5.งบประมาณภัยธรรมชาติและ 6.งบประมาณสังคมทั่วไป โดยมีคณะกรรมการฯดูแลจาก ตัวแทนชุมชนของแต่ละตำบลให้มีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อประโยชน์ของชุมชนมากที่สุด

หลังจากการเสวนาจบลงแล้ว ได้มีการอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของกลุ่มฯ ที่ทุกคนร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา โดยทางกลุ่มหากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ สามารถส่งผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง และเป็นไปตามรูปแบบของชุมชนจะนะต้นแบบ และพร้อมที่จะสนับสนุน โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หากรัฐบาลให้ชาวจะนะมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้

ะทางกลุ่มนำบทเรียนจากโรงแยกแก๊สและโรงไฟฟ้าจะนะมาถอดบทเรียนว่า ควรเรียกร้องผลประโยชน์ให้ชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านจะได้รับผลกระทบจากการสร้างนิคมฯ อยู่แล้ว เลยเรียกร้องขอผลประโยชน์บ้างโดยการออกไปทำเวทีแสดงความคิดเห็นทุกหมู่บ้าน ในพื้นที่ 3 ตำบลพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อขอจัดตั้งสหกรณ์ชุมชนจะนะต้นแบบและบริษัทชุมชนจะนะต้นแบบจำกัด แล้วขอเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาด 1,100 Mw/แก๊ส จากรัฐบาล.

ในขณะที่เวทีหลัก เวทีแสดงความคิดเห็นที่จัดขึ้นภายในโรงเรียนจะนะวิทยา มีการชี้แจงทำความเข้าใจโครงการ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มาดูแลความเรียบร้อยประมาณ 1,000 นาย เวทีเสร็จสิ้นในเวลา11.30 น.

น.พ.สุภัทร ฮาสวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ออกมาเรียกร้องให้ลาออก โพสต์ข้อความระบุง่า เวทีรับฟังเลิกแล้​ว​ เวลา​ ​11.30.​ เพื่อสุขภาพ​ได้ทานข้าวตรงเวลา
เวทีรับฟังเลิกแล้ว​ หลังการชี้แจงจากเจ้าของโครงการ​ แล้วมีคนพูดสนับสนุนอีกนิดหน่อยให้ดูดี​ ช่วงรับฟังไม่ถึงชั่วโมงก็เลิกเวที​ ไม่รู้จะพูดกันไปทำไม​ รับข้าวรับน้ำ​กลับบ้านดีกว่า​

ไม่แปลกที่เลิกเร็ว​ เพราะกลุ่มเห็นต่าง​ กลุ่มคัดค้านถูกกีดกันไม่ได้เข้าร่วม​ นี่หรือเวทีรับฟัง
เปลี่ยนจะนะจากพื้นที่ผลิตอาหาร​เป็นนิคมอุตสาหกรรมด้วยการรับฟังประชาชนเป็นพิธีกรรม​อย่างย่อด้วยซ้ำ เพียงไม่ถึงชั่วโมง
นี่แหละครับ​ ประเทศไทย

น่าสนใจว่า ชาวบ้านจะนะกลุ่มหนึ่ง เรียนรู้จากวิถีการพัฒนาโครงการโรงแยกแก๊ส ตั้งกลุ่มเพื่อร่วมกันพัฒนาโดยให้ชาวบ้านได้ประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง คัดค้านไม่เอาการพัฒนาเลย
2 กลุ่มมีความแตกต่างกันชัดเจน