เทศกาล”บอบอ” จับแมงกะพรุน บ่งบอกความสมบูรณ์แห่งอันดามัน

1165

เทศกาลตัก “บอบอ” แมงกะพรุนจากแหลมหินสู่ชามก๋วยเตี๋ยว ภัตตาคารหรู และตลาดโลก

ขณะที่ยังเถียงกันไม่จบว่าตกลงรัฐบาลจะให้ทำ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และ EIA ท่าเทียบเรือถ่านหินที่คลองรั้วหรือไม่ ตอนนี้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้งจากแหลมหิน-คลองรั้ว และหมู่บ้านอื่นๆ อีกหลายแห่งตามชายฝั่งทะเลอันดามันก็กำลังเข้าสู่เทศกาลการตัก “บอบอ” หรือแมงกะพรุนไปขาย โดยมาชุมนุมกันตักแมงกะพรุนบริเวณอ่าวคลองรั้วและช่องแหลมหิน ซึ่งบริเวณนี้จะถูกใช้เป็นท่าเทียบเรือและช่องเดินเรือขนาด 10,000 ตันสำหรับการขนส่งถ่านหินจากอินโดนีเซียเข้ามา ขณะที่รายงาน EIA ท่าเทียบเรือคลองรั้วฉบับ “เจ้าปัญหา” ไม่ได้มีการศึกษาประเด็นนี้แต่อย่างใด

วันนี้ ผมจึงขอนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับเแมงกะพรุนที่อ่าวคลองรั้วและช่องแหลมหินจากงานวิจัยมหาลัยเลมาให้อ่านกันครับ

ชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่เ ป็นแหล่งแมงกะพรุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ในรอบหนึ่งปี ทะเลอันดามันจะมีแมงกะพรุนถึง 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน แมงกะพรุนมี 2 ชนิดคือ แมงกะพรุนลอดช่องและแมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนลอดช่องมีชุกชุมมาก ส่วนแมงกะพรุนหนังมีค่อนข้างน้อย บริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม ได้แก่ ทะเลระหว่างเกาะปู แหลมนาง คลองหวาย ไปจนถึงเกาะปันหยี และเกาะภูเก็ต

ในช่วงที่มีแมงกะพรุน ชาวประมงจะนำเรือไปตักแมงกะพรุน และเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนตัวของแมงกะพรุน บางครั้งเดินทางไปตักแมงกะพรุนถึงเกาะภูเก็ต แมงกะพรุนหนังซึ่งมีน้ำหนักตัวละ 10-20 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 1.50-2 บาท ส่วนแมงกะพรุนลอดช่องราคาตัวละ 4-5 บาท แต่ในช่วงที่มีแมงกะพรุนน้อยราคาจะสูงขึ้นเป็น 2 เท่า

ช่วงฤดูแมงกะพรุน ในตำบลตลิ่งชันจะมีแพแมงกะพรุนมากกว่า 20 แพ ตั้งอยู่บ้านปากหราประมาณ 10 กว่าแพ ฝั่งตะวันออกของบ้านคลองรั้ว 2 แพ ปากคลองรั้ว 2 แพ (บางปีเคยมี 4 แพ) ปากบ้านแหลมหิน 4 แพ และหัวแหลม 2 แพ เจ้าของแพแมงกะพรุนบางรายที่มาลงทุนที่บ้านแหลมหินมาจากหมู่บ้านอื่นด้วย เช่น แพยี่สู้ เดิมอยู่บ้านหาดยาว มาตั้งแพที่แหลมหินเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว
หลังจากแพรับซื้อแมงกะพรุนจากชาวประมงพื้นบ้านแล้ว จะมีพ่อค้าแมงกะพรุนจากระนองมารับซื้ออีกทอดหนึ่ง เช่น เอนกแพแมงกะพรุน จากนั้นเจ้าของแพก็ส่งให้แหล่งรับซื้อแมงกะพรุนเพื่อ แปรรูปที่อันดามัน เจลลี่ ฟิช ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปแมงกะพรุน ตั้งอยู่ที่ดอนหอยหลอด ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม

สำหรับกระบวนการแปรรูปแมงกะพรุน เมื่อได้แมงกะพรุนแล้ว จะต้องตัดหัวตัดตัวแยกกัน นำเพราะราคาไม่เท่ากัน จากนั้นนำไปดองเกลือโดยเอาน้ำใส่บ่อและย่ำก่อนทิ้งไว้ครึ่งคืน จากนั้นแช่น้ำ 2 โดยมีน้ำเกลือผสมโซดาจืด ชนิดเดียวกับที่ใช้สำหรับทำขนมปัง และสารส้ม 2 คืน แล้วนำมาล้างน้ำซาวเกลือ ก่อนนำไปดองด้วยน้ำเกลือผสมโซดาจืด และสารส้มอีก 2 รอบๆ ละ 2 คืน จนได้ที่จึงแพ็คส่งขายโดยมีการโรยด้วยเกลือด้วย ก่อนนำไปรับประทานจะต้องล้างน้ำให้หายเค็มก่อน

แมงกะพรุนที่แปรรูปแล้ว ก็จะส่งไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และแน่นอนว่าแมงกะพรุนในชามก๋วยเตี๋ยว โดยเฉพาะเย็นตาโฟ ที่พวกเรากินกันทุกวันนี้ รวมถึงแมงกะพรุนในภัตตาคารอาหารจีนหรูๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากที่แหลมหิน-คลองรั้วนี่แหละครับ
หากว่ามีการสร้างท่าเทียบเรือที่อ่าวคลองรั้วและใช้ช่องแหลมหินเป็นเส้นทางเดินเรือขนถ่านหิน นอกจากจะทำให้ชาวประมงเดือดร้อนแล้ว เราก็จะไม่มีแมงกะพรุนรสชาติอร่อยๆ กินด้วยครับ

ผมถามหน่อยว่า หากมีการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่คลองรั้ว และช่องแหลมหินถูกใช้เป็นเส้นทางเดินเรือถ่ายหินจากอินโดนีเซีย และแมงกะพรุนลดหรือหายไปจากทะเลอันดามัน ชาวประมงพื้นบ้านขาดรายได้ ธุรกิจต่อเนื่องที่ส่งออกแมงกะพรุนล่มสลาย และเราไม่มีแมงกะพรุนกิน ใครจะรับผิดชอบ?


Cr.ภาพ บังหมัด ลูกเล็ก