ประหาร!!”บรรยิน”ฆาตกรรมอำพราง”เสี่ยชูวงษ์”ศาลฯชี้หลักฐานมัดแน่น ไร้เหตุปรานี

61

ศาลอาญาพระโขนงพิพากษาประหารชีวิต “บรรยิน ตั้งภากรณ์” วางแผนร่วมกับพวก ฆาตกรรมอำพราง “เสี่ยชูวงษ์” นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ชี้หลักฐานมัดแน่น จำเลยไม่สำนึก ไม่มีเหตุปราณี

วันที่ 20 ม.ค.64 ที่ศาลอาญาพระโขนง ถ.สรรพาวุธ ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ 4915/2559 ที่นางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง ภรรยาของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง กับพวก และพนักงานอัยการ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-5 ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ หลายสมัย เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) (7)

กรณีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 นายชูวงษ์ อายุ 50 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์หรูยี่ห้อเลกซัสสีดำ ทะเบียน ภฉ 1889 กทม. ชนต้นไม้ มี พ.ต.ท.บรรยิน จำเลย เป็นคนขับ มีนายชูวงษ์นั่งข้างๆ โดยชนต้นไม้ริม ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ระหว่างซอย 48 กับซอย 50 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กทม. เป็นเหตุให้นายชูวงษ์ ถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์มีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฆาตกรรมอำพรางนายชูวงษ์ แต่ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลย ให้การปฏิเสธ อ้างเป็นอุบัติเหตุ เหตุเกิดที่ ต.บางโฉลง กับ ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และแขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องเกี่ยวกัน

วันนี้ศาลอ่านคำพิพากษาให้ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลย ฟังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังตัวจำเลยที่เรือนจำบางขวาง ซึ่งจำเลยถูกจำคุกในคดีปลอมเอกสาร โอนหุ้นของนายชูวงษ์และคดีอุ้มฆ่าพี่ชายของผู้พิพากษา ขณะที่บรรยากาศในวันนี้ มีนางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ พี่สาวของนายชูวงษ์, อัยการและทนายความโจทก์, นางวราภรณ์ ตั้งภากรณ์ ภรรยา และ นายวรภัทร์ ตั้งภากรณ์ ลูกชายพ.ต.ท.บรรยิน พร้อมทีมทนายความเดินทางมาศาล โดยศาลอนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายภาพภายในห้องพิจารณาคดีก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา

ต่อมาศาลขึ้นนั่งบัลลังค์ ใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง เสร็จสิ้นในเวลา 12.00 น. โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งห้าและจำเลยแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ทั้งห้ามีพยานกลุ่มพนักงานสืบสวนสอบสวนมานำสืบว่า จำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยขับรถพาผู้ตายออกจากสนามกอล์ฟเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. เพื่อไปส่งผู้ตายที่บ้านโดยไม่ได้แวะที่ใด ระหว่างทางขณะที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อขับรถไปถึงบริเวณ ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ระหว่างซอย 50 และซอย 48 มีรถยนต์จากฝั่งตรงข้ามวิ่งแซงสวนทางล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถที่ 2 จากซ้ายที่จำเลยใช้อยู่ จำเลยจึงต้องหักเลี้ยวรถหลบไปทางซ้าย รถยนต์กระแทกขอบทางเท้าและพุ่งผ่านรั้วลวดหนามเข้าไปตรงบริเวณที่รกร้างข้างทางและชนเข้ากับต้นไม้เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนนายชาญศักดิ์ คนสนิทของจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า ขับรถออกจากสนามกอล์ฟเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. เช่นกัน

แต่จากการสืบสวนสอบสวน พบภาพรถยนต์ของจำเลยขับผ่านกล้องวงจรปิดตรงบริเวณธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนบางนา-ตราด กม.18 ที่ตั้งอยู่ตรงปากทางเข้าออกสนามกอล์ฟเมื่อเวลา 20.11 น. และพบรถยนต์ของนายชาญศักดิ์ขับผ่านกล้องวงจรปิดดังกล่าวเมื่อเวลา 20.14 น. นอกจากนั้นยังตรวจสอบพบข้อมูลการใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่เสาบางโฉลงใน 1 ตรงบางนา-ตราด กม.16 เมื่อเวลา 20.29 น. และที่เสาซอยรัตนราช ตรงบางนา-ตราด กม.17 เมื่อเวลา 21.06 น. ซึ่งเสาทั้งสองตั้งอยู่ห่างจากสนามกอล์ฟประมาณ 3 กิโลเมตร จึงเชื่อว่า จำเลยขับรถพาผู้ตายออกจากสนามกอล์ฟเมื่อเวลาประมาณ 20.11 น. มิใช่ 21.00 น. อย่างที่จำเลยกล่าวอ้าง

และจากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดตรงบริเวณใกล้กับจุดที่รถยนต์ชนต้นไม้พบว่า จำเลยใช้ช่องทางเดินรถที่ 1 จากซ้ายและขับรถที่ความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งห้ายังมีกลุ่มพยานผู้เชี่ยวชาญผู้ทำการทดสอบการขับรถเบิกความยืนยันว่า จากการทดสอบพบว่าจำเลยใช้ความเร็วรถขณะชนทางเท้าและปะทะกับต้นไม้ที่ประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเชื่อว่าขณะที่จำเลยหักเลี้ยวรถไปทางซ้ายและชนกับทางเท้าจำเลยใช้ความเร็วรถประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ พยานกลุ่มเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยนำสืบว่า เมื่อไปถึงจุดที่รถยนต์ชนต้นไม้ ผู้ตายไม่มีสัญญาณชีพแล้ว ไม่สามารถปั๊มหัวใจจนกลับมามีสัญญาณชีพได้ และม่านตาขยาย

การกระทำของจำเลยกับพวก จึงเป็นการร่วมกันกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิด เพื่อปกปิดความผิดของตน หรือเพื่อเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ จำเลยกระทำความผิดด้วยความโลภอยากได้ในทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นอย่างมาก โดยอาศัยโอกาสและความไว้เนื้อเชื่อใจในความเป็นเพื่อนสนิทระหว่างจำเลยกับผู้ตาย และคบคิดกับพวกด้วยการวางแผนและลงมือฆ่าผู้ตาย จากนั้นปกปิดการกระทำโดยสร้างเรื่องและอำพรางคดีว่าสาเหตุการตายของผู้ตายเกิดจากอุบัติเหตุ เมื่อถูกจับกุมดำเนินคดี ก็มิได้รู้สำนึกในการกระทำของตนและบรรเทาผลร้ายแต่อย่างใด แต่กลับปฏิเสธและต่อสู้คดีมาโดยตลอด ทั้งจำเลยยังเคยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นสัญญาบัตร มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงควรต้องมีสำนึกและความรู้ผิดชอบชั่วดี แต่จำเลยกลับกระทำความผิดโดยมิได้ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) (7) ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษประหารชีวิต ส่วนที่โจทก์ที่ 5 มีคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.636/2563 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ (คดีปลอมเอกสารโอนหุ้นของนายชูวงษ์) และต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.69/2563 ของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (คดีอุ้มฆ่าพี่ชายของผู้พิพากษา) นั้น เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลย จึงไม่อาจนับโทษจำคุกต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้

ภายหลังเสร็จสิ้นการฟังคำพิพากษา นางวันเพ็ญ ธนธรรมศิริ พี่สาวของนายชูวงษ์ เปิดเผยว่า รู้สึกพอใจกับคำตัดสินของศาล คุ้มค่ากับระยะเวลาที่รอมานาน ขอบคุณองค์คณะผู้พิพากษาที่ให้ความเป็นธรรมกับครอบครัว และขอบคุณสื่อที่ติดตามคดีนี้มาโดยตลอด ส่วนตัวเชื่อว่ามีคนอื่นที่ร่วมกันฆาตกรรมน้องชายตนเอง เนื่องจากในคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาก็มีผู้ร่วมลงมือก่อเหตุ พร้อมกับขอแสดงความเสียใจไปยังผู้พิพากษาที่ต้องสูญเสียพี่ชายจากคดีโอนหุ้น