ทรัมป์ หลบแว๊บ ก่อน’ไบเดน’ เข้าสาบานตน-ประธานาธิบดีคนใหม่ท้า 4 ปีมาสู้กันใหม่

81

โจ ไบเดน สาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นเข้ากุมบังเหียนประเทศ ซึ่งกำลังโซซัดโซเซจากความแตกแยกอย่างลึกล้ำในทางการเมือง, เศรษฐกิจบาดเจ็บหนัก และเผชิญโรคระบาดใหญ่ ซึ่งคร่าชีวิตอเมริกันชนไปมากกว่า 400,000 ราย

วันที่ 20 ม.ค.64 (ตามเวลาในสหรัฐฯ)โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่46 โดยขณะที่มือของเขาสัมผัส กับ คัมภีร์ไบเบิลเล่มเก่าแก่ความหนา 5 นิ้ว ซึ่งเป็นมรดกตกทอดภายในครอบครัวของมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ไบเดนกล่าวคำสาบานตัวสำหรับการเข้ารับตำแหน่งของ ต่อหน้าประธานศาลสูงสุดสหรัฐฯ จอห์น โรเบิร์ตส์ ในเวลาหลังเที่ยงเล็กน้อย (ตรงกับเวลาหลังเที่ยงคืน ในประเทศไทย) โดยประกาศข้อความว่า จะ “สงวนรักษา, พิทักษ์คุ้มครอง และปกป้องรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ”

“ผ่านการทดสอบอันทรหดของยุคสมัยต่างๆ มาแล้ว อเมริกาก็เพิ่งผ่านการทดสอบครั้งใหม่ และอเมริกาได้ผงาดขึ้นมาต่อสู้กับการท้าทาย” ไบเดน กล่าวในตอนเริ่มต้นคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่งของเขา “วันนี้เราเฉลิมฉลองชัยชนะที่ไม่ใช่ของผู้สมัครคนหนึ่ง แต่เป็นของอุดมการณ์หนึ่ง อุดมการณ์แห่งประชาธิปไตย … ณ ชั่วโมงนี้ เพื่อนรักของผมทั้งหลาย ประชาธิปไตยคือผู้มีชัย”

ไบเดน อายุ 78 ปี กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จากพิธีสาบานตน ซึ่งลดขนาดลงมา โดยส่วนใหญ่เป็นการตัดทอนขั้นตอนอันสร้างบรรยากาศแห่งความโอ่อ่าสง่างามลงไป ด้วยเหตุผลทั้งจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยภายหลังการบุกเข้าลุยอาคารรัฐสภาสหรัฐฯเมื่อวันที่ 6 มกราคม ของพวกกองเชียร์ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้กำลังพ้นจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี สมาชิกชั้นนำของพรรครีพับลิกัน รวมไปถึงรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ และเหล่าผู้นำในรัฐสภาของพรรค ต่างเข้าร่วมในพิธีของไบเดน เคียงข้างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 คน คือ บารัค โอบามา, จอร์จ ดับเบิลยู บุช, และ บิล คลินตัน

ผู้ลงสมัครคู่กับไบเดน กมลา แฮร์ริส ซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้อพยพที่บิดาเป็นชาวจาไมกาและมารดาเป็นชาวอินเดีย กลายเป็นบุคคลผิวดำคนแรก, ผู้หญิงคนแรก และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรก ที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี หลังจากเธอสาบานตัวต่อหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ ซอนยา โซโตไมเออร์ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายละตินคนแรกที่ขึ้นนั่งในตำแหน่งนี้

ไบเดนเข้ารับหน้าที่ในจังหวะเวลาที่สหรัฐฯตกอยู่ในความกังวลใจอย่างล้ำลึก โดยประเทศกำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่พวกที่ปรึกษาของเขาบรรยายว่าเป็นวิกฤตการณ์อันซับซ้อนถึง 4 ด้าน ได้แก่ โรคระบาดใหญ่, การทรุดตัวของเศรษฐกิจ, ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และความไม่เท่าเทียมทางสีผิวเชื้อชาติ เขาให้สัญญาที่จะลงมือทำงานทันที รวมทั้งจะออกคำสั่งฝ่ายบริหารรวดเดียวหลายๆ ฉบับตั้งแต่วันแรกที่อยู่ในตำแหน่ง

หลังจากการรณรงค์หาเสียงอันขมขื่น และเจอกับการตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่มีมูลของทรัมป์ว่ามีการทุจริตคดโกงการเลือกตั้งแล้ว ไบเดนก็หันมาใช้น้ำเสียงมุ่งรอมชอม ด้วยการขอร้องชาวอเมริกันผู้ไม่ได้โหวตให้เขา ให้โอกาสแก่เขาในการเป็นประธานาธิบดีของพวกเขาด้วย

“การเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณ และรับประกันอนาคตของอเมริกานั้น เรียกร้องต้องการอะไรมากมายยิ่งกว่าแค่เพียงคำพูด มันเรียกร้องสิ่งซึ่งยากที่จะอธิบายที่สุดในบรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ ความสามัคคี” เขากล่าว “เราต้องยุติสงครามที่ไร้อารยธรรมนี้เสียที (เป็นสงคราม) ที่ทำให้ แดง (สีของพรรครีพับลิกัน) เป็นปฏิปักษ์กับ ฟ้า (สีของพรรคเดโมแครต), ชนบท ต่อสู้กับ เมืองใหญ่, อนุรักษนิยม ต่อสู้กับ เสรีนิยม เราสามารถทำสิ่งนี้ได้ ถ้าหากเราเปิดกว้างจิตวิญญาณของเรา แทนที่จะทำให้หัวใจของเราแข็งกระด้างยิ่งขึ้น”

พิธีคราวนี้จัดขึ้นที่บริเวณหน้า “แคปิตอล” หรืออาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งม็อบกองเชียร์ทรัมป์ได้บุกเข้าไปถล่มเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน โดยมี ทหารกองกำลังรักษาชาติ (เนชั่นแนลการ์ด) จำนวนกว่า 20,000 คน ถูกเรียกเข้ามาประจำการในเมืองหลวงสหรัฐฯ เพื่อรักษาความปลอดภัย

“เรายืนกันอยู่ ณ ที่นี้ เพียงไม่กี่วันหลังจากพวกม็อบก่อการจลาจลคิดว่าพวกเขาสามารถที่จะใช้ความรุนแรงมาสยบเจตนารมณ์ของประชาชนให้เงียบเสียงลงได้ มาหยุดยั้งการทำงานของประชาธิปไตยของเราลงได้ มาผลักไสเราให้ออกไปจากพื้นดินอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้” ไบเดน กล่าวในตอนหนึ่งของคำปราศรัยวันพุธ “มันไม่ได้เกิดขึ้น มันจะไม่มีวันเกิดขึ้น ไม่ว่าวันนี้ ไม่ว่าวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าวันไหนก็ตามที”

ทางด้านอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกจากทำเนียบขาว ก่อนที่โจ ไบเดน เข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง