รฟท.ได้เฮ!! ศาลรธน.เสียงข้างมาก ชี้ มติศาลปกครอง จ่ายโฮปเวลล์ ขัดรธน.

181

ศาลรธน.วินิจฉัย มติที่ประชุมใหญ่ศาลปค.สูงสุด ปมนับอายุความฟ้องคดีตั้งแต่วันเปิดทำการศาล ที่ใช้อ้างอิงในสัญญาสัมปทาน ขัดรธน. เหตุไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายทั้งไม่ผ่านประกาศราชกิจจา จึงใช้บังคับไม่ได้

วันที่ 17 มี.ค.64 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 45 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัด หรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ โดยให้เหตุผลว่า แม้เป็นการออกระเบียบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ รวมทั้งการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว

ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อการ ที่ กระทรวงคมนาคม และรฟท. จะยื่นรื้อคดีใหม่ เพราะหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตามมติอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ กว่า 2.4 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคม และรฟท.ได้มอบหมายให้ นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจ ยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครองขอรื้อคดี โดยอ้างว่า พบว่าบริษัทโฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าว จดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด และนำไปสู่การที่กระทรวงคมนาคม รฟท. ยี่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาลงมติของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ องค์คณะตุลาการ ที่พิจารณาคดีนี้มีทั้งสิ้น 7 คน เนื่องจากศาลได้อนุญาตให้นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ถอนตัวจากการพิจารณาตั้งแต่ต้นตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครองมาตรา 34 ประกอบมาตรา 32(1) และ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่ประชุมจึงเลือก นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 18 วรรคสี่

สำหรับ “โฮปเวลล์” เป็นคดีที่พัวพันกันระหว่าง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) กับ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2533 ที่เริ่มก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน ปี 2564 ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในคดีดังกล่าวได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างหาหลักฐานเพื่อมาปกป้องตนเองจากการที่ต้องจ่ายค่าชดเชย เริ่มจากที่ บริษัท โฮปเวลล์ ได้ยื่นฟ้อง กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เรียกค่าเสียหาย จำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท จากกรณีบอกเลิกสัญญา โดยที่การรถไฟฯ เองก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากโครงการจำนวน 2 แสนล้านบาท

ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยให้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ จ่ายเงินชดเชยให้ บริษัท โฮปเวลล์ ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าว หลังจากนั้น บริษัท โฮปเวลล์ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครอง จนเมื่อปี 2562 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาศาลปกครองกลาง ยกคำร้องของ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยจ่ายค่าก่อสร้างโครงการ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมประมาณ 24,798 ล้านบาท