ธนาคารอิสลามควรยกเลิกหรือไม่

1711

ธนาคารอิสลามควรยกเลิกหรือไม่ จริงๆไม่ควรนำมาถกเถียงกับข้อเสนอของสมาคมปกป้องพุทธศาสนา เพราะเป็นข้อเสนอที่เต็มไปด้วยอคติ แต่ควรที่จะพูดถึงที่มาที่ไป ข้อดีข้อเสีย และอนาคตของธนาคารแห่งนี้

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ถูกเสนอโดยส.ส.กลุ่มวาดะห์ ที่มีแกนนำอย่างนายเด่น โต๊ะมีนา และนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในคราวประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดนราธิวาส ด้วยเหตุผลว่า เพื่อตอบสนองทางการเงินต่อมุสลิมที่ไม่อาจเข้าถึงระบบการเงินแบบมีดอกเบี้ยได้

ระบบธนาคารอิสลาม ในขณะนั้น กระจายอยู่ในหลายประเทศ ทักษิณ มองว่า ไม่เพียงเอื้ออำนายการเข้าถึงทางการเงินแก่มุสลิมแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะเชื่อมระบบการเงินกับระบบธนาคารอิสลามในประเทศต่างๆ ได้เหมือนในสิงคโปร์ หรือฮ่องกง ที่ให้ความสำคัญกับธนาคารอิสลาม

อย่างไรก็ตาม ในการก่อตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ทั้งจากฝ่ายมั่นคงที่มักจะมองอิสลาม เป็นสิ่งที่่น่าตกใจกลัว ฝ่าด่านกฤษฎีกาที่ถกเถียงกันทะเลาะกันระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง และที่สำคัญต้องเดินตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลาม จึงเป็นเพียงธนาคารที่ไร้ดอกเบี้ยที่อิงอยู่กับระบบดอกเบี้ย โดยเฉพาะกำหนดกำไร 7% เพียงแต่มีการกำหนดไว้ตายตัว ไม่ขึ้นลงเหมือนดอกเบี้ย โครงสร้างการกู้ยืม ที่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ก็พอกล้อมแกล้ม เป็นธนาคารปลอดดอกเบี้ยได้อยู่บ้าง

ด้วยแรงต้านจากฝ่ายความมั่นคง และกฎระเบียบของแบงก์ชาติ ธนาคารอิสลาม ที่เดิมต้องการให้เป็นธนาคารของประชาชน ให้มุสลิมเป็นเจ้าของด้วยการเข้ามาถือหุ้น มีต่างประเทศเข้ามาถือหุ้น ซึ่งตอนนั้น มีการแจ้งความจำนงเข้ามาจำนวนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้ามาอย่างเต็มที่ และกลายเป็นธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเหมือนเจตนารมณ์เดิม

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจบางคน ให้เอ่ยชื่อ บอกว่า ให้เกิดๆไป เพียงแต่ให้เกิด แต่ไม่ให้เติบโต

ธนาคารอิสลาม ดำเนินการมาได้รับความนิยมพอสมควร แต่ในยุคเมื่อ 10 ปีก่อน มีการขยายสาขาอย่างบ้าคลั่งไปทั่วประเทศ เป็น 100 กว่าสาขา หวังให้เป็นธนาคารของมวลชน ไม่เพียงแต่มุสลิม ตัวเลขการขอสินเชื่อ จึงมีมุสลิมไม่กี่ % เพราะในสายตามุสลิม ยังไม่ไว้วางใจธนาคารอิสลามมากนัก

ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นยุคที่ธนาคารอิสลามฯ เข้าสู่หุบเหวแห่งความหายนะ นักการเมืองบางกลุ่ม เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากธนาคาร ต้องการให้ ธนาคารอิสลามเป็นเฉกเช่น BBC ที่นักการเมืองกลุ่มเดียวกันนี้ ทำลายไป มีการปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหญ่ มากกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อ 1,000 ล้าน อาจจะมีหลักทรัพย์ เพียง 200 ล้านบาท

ธนาคารก็เข้าสู่วิกฤติ เหมือนที่ SME แบงก์ประสบจากน้ำมือนักการเมืองกลุ่มนั้น สินเชื่อเหล่านั้น ก็กลายเป็นหนี้เสีย แม้จะมีการเจรจากับลูกหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ แต่ไม่สำเร็จ จะสำเร็จได้งัย ลูกหนี้ได้เงินไปมากกว่าหลักทรัพย์ จะมาเจรจาทำไม ธนาคารต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟู และโอนหนี้เสียให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่ไม่ใช่เป็นหนี้เสียของมุสลิม 48,000 ล้านบาท ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์

คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่มีพล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้อนุมัติ งบประมาณ 18,000 ล้านบาท เข้ามายังธนาคาร เป็นเงินจากกองทุนที่ธนาคารรัฐลงขันกัน เป็นกองทุน ไม่ใช่เงินจากกองทุน และต้องทยอยคืนเงิน ไม่ใช่เป็นการนำงบประมาณแผ่นดินมาผลาญอย่างที่เข้าใจกัน

สถานะของธนาคาร ที่มีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ติดลบกว่า 20% ได้กลับมาเป็นบวก มีการลดสาขาที่ไม่จำเป็นลง มุ่งเข้าหาลูกค้ามุสลิม แทนการเหวี่ยงแหไปทั่วประเทศ ทำให้ธนาคารเริ่มมีกำไรจากการบริหารงาน พอจะทำให้ธนาคารไม่ล้มไป เหมือนที่บางฝ่ายคาดหวัง

กับคำถามว่า ธนาคารอิสลามควรยกเลิกหรือไม่
ธนาคารอิสลามฯ เป็นเซคชั่นหนึ่งของระบบการเงินของประเทศไทย ที่ถูกออกแบบเพื่อคนมุสลิมที่ถูกคำสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับระบบดอกเบี้ย แต่คนทั่วไปก็สามารถใช้บริการได้ เหมือนธนาคารเฉพาะกิจอื่นของรัฐ อย่าง ธกส. ที่ตั้งมาเพื่อเกษตรกร ธอส. ตั้งมาเพื่อคนซื้อบ้าน เอสเอ็มอีแบงก์ ตั้งมาเพื่อผู้ประกอบการSME หรือ เอ็กซิมแบงก์ ที่ตั้งมาเพื่อผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ธนาคารเหล่านี้ ใช้ระบบเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ เป็นการตั้งมาเฉพาะกลุ่มคน ที่มีความชำนาญเฉพาะกลุ่มนั้น

ถ้าด้วยเหตุผลนี้จะยุบ ธนาคารอิสลาม ก็จะต้องยุบธนาคารเฉพาะกิจทั้งหมดด้วย เหตุผลนี้้ จึงเป็นเหตุผลจากอคติ

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารที่ตั้่งใจให้เป็นธนาคารของมวลชน มีมุสลิมมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่มีมุสลิมถือหุ้น ที่ผู้บริหารล้วนไม่ใช่มุสลิม เพราะเงื่อนไขการเป็นผู้บริหาร ต้องผ่านการบริหารกิจการที่มีทรัพย์สินเกิน 5,000 ล้าน ธนาคารอิสลามฯจึงขาดการยึดโยงกับมุสลิมโดยส่วนใหญ่

ประกอบกับกาอนหน้านี้ มีการตั้งเป้าหมายว่า ธนาคารอิสลามฯ จะเป็นศูนย์กลาง เป็นพี่เลี้ยงทางการเงินให้กับบรรดาสหกรณ์อิสลาม แต่บางช่วงผู้บริหารธนาคารไม่ได้ให้ความสำคัญกับสหกรณ์อิสลาม ประกอบกับ ช่วงที่ธนาคารอิสลามฯมีปัญหา การยึดโยงกับสหกรณ์อิสลามก็ไม่ดีนัก บรรดาสหกรณ์อิสลามก็เข้าหาระบบการเงินอื่นเข้ามาเกื้อหนุน สหกรณ์ฯหลายแห่งได้เติบโตและมีมุสลิมให้ความมั่นใจมากกว่า เข้ามาแทนที่ธนาคารอิสลาม

ด้วยโครงสร้างของธนาคารอิสลามที่เป็นอยู่ แม้จะเกื้อหนุนทางการเงินได้ระดับหนึ่ง แต่ระบบครึ่งๆกลางๆ ทำได้ไม่เต็มที่นัก ระบบของก็ไม่ทันสมัยที่จะรองรับธนาคารยุคใหม่ เนื่องจากธนาคารขาดเงินลงทุนในด้านนี้ เมื่อเทียบกับออมสิน หรือธกส. ยังนับว่า ล้าหลังกว่ามาก

มุสลิมมักพูดว่า น่าจะเปลี่ยนชื่อ ธนาคารอิสลาม เป็นอย่างอื่น จะได้ไม่ผูกติดกับคำว่า อิสลาม ไม่กระทบต่อความรู้สึกของคนมุสลิมไม่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับธนาคารแห่งนี้ เมื่อตอนที่เกิดวิกฤติ หลายฝ่ายต้องการให้ธนาคารนี้ล้มไป แต่ผู้ใหญ่ในสังคมมุสลิม ได้วิ่งล้อบบี้ฝ่ายบริหารให้ธนาคารนี้มีอยู่ต่อไป

หากให้ธนาคารอิสลามล้มไป ทำให้คนเข้าใจว่า เป็นความล้มเหลวของธนาคารไร้ดอกเบี้ย คำว่า อิสลามก็จะเสียหายโดยภาพรวม ทั้งที่วิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากระบบ ธนาคารปลอดดกอเบี้ย แต่เกิดจากการทุจริต คิดโกงในการบริหารที่ไม่ใช่ฝีมือของมุสลิม

ณ เวลานี้ ธนาคารอิสลามฯ จะมีอยู่หรือยกเลิกก็ไม่ได้สำคัญอะไรมากมายนัก ห่วงแต่คำว่า ธนาคารอิสลาม เท่านั้น ที่เสียดแทงใจมุสลิม

Pornpaya Mtoday

เปิดกันชัดๆ! การเมืองกลุ่มไหนทำแบงก์อิสลามพัง! เดินหน้าต่อจะต้องทำอย่างไร