อาม่าตายแล้ว! ‘อนุทิน’ บอกไม่นิ่งนอนใจ ตื่นสั่งทุกฝ่ายเร่งบูรณาการแก้ปัญหา

112

เผย “อนุทิน” ไม่นิ่งนอนใจ ปม 3 อาม่าติดโควิด-19 ก่อนเสียชีวิต 1 ราย ย้ำ! เข้าใจคนทำงาน แต่ก็ไม่อยากเห็นการสูญเสีย สั่งกรมการแพทย์ประสานทุกฝ่าย บูรณาการแก้ไขปัญหาโดยด่วน

กรณีมีกระแสข่าว หญิงชรา 3 คน ติดโควิด-19 ต้องใช้ชีวิตตามลำพัง ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ก่อนจะนำตัวหญิงชรา 2 รายเข้ารับการรักษา จนเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ ในโลกโซเชียล ล่าสุด 23 เม.ย. 2564 นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรมว.สาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข คณะผู้บริหาร และบุคลากร รู้สึกเสียใจ และมองว่า เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเรายึดนโยบายว่า จะต้องรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัย เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามา จะทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่การระบาดรอบนี้ สถานการณ์รุนแรงกว่าทุกครั้ง พบผู้ติดเชื้อในจำนวนที่สูงขึ้น เนื่องจากเชื้อ เป็นคนละสายพันธุ์จากที่คนไทยเคยพบมา

ดังนั้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราได้เพิ่มช่องทางการประสานทั้งขอคำปรึกษา และรับตัวผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด แต่หลายครั้ง ติดปัญหา อุปสรรค ก็ต้องแก้ไข กรณีผู้สูงอายุ ต้องอยู่โดยลำพังทั้งที่ติดโควิด-19 ถือเป็นบทเรียนการทำงานให้กับทุกคน ซึ่ง รมว.สาธารณสุข รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้โทษหรือตำหนิคนทำงาน เพราะทราบว่าทุกคน ได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ไม่ใช่เวลาจะมาชี้นิ้วโทษใคร โดยย้ำเสมอว่าไม่ต้องหาคนผิด แต่ขอให้ช่วยกันทำงาน และหาทางปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น

ส่วนที่มีการแชร์ภาพว่าสายด่วน 1668 ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ มีเพียงเจ้าหน้าที่ กับโทรศัพท์ ใช้ระบบจดด้วยมือแทนคีย์ข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์โดยตรง ขอชี้แจงว่า รูปแบบการทำงานนั้น จะให้เจ้าหน้าที่จดข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน จึงจะไปประมวล และบันทึกในคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ปกติ จะทำงานกันตั้งแต่เวลา 8.00 – 22.00 น. แต่ปัจจุบันนี้ ทำงานกันจนถึง 01.00 น.

เลขาฯรมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหา เป็นทีมประเทศไทย มุ่งหวังให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด สายด่วน1668 เป็นสายด่วนเฉพาะกิจ บูรณาการหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยในเรื่องของการดูแลแก้ไข เรื่องการสื่อสารกับประชาชนในสถานการณ์โควิด 19 โดย แบ่งเป็น 1. ทีมรับสาย Hotline 1668 จากผู้ป่วยโควิด-19 สอบถามข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วย 2. ทีมข้อมูล มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากทีมงานสายด่วนและทีมประสานงาน วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล สรุปข้อมูลรายวัน

3. ทีมแพทย์ มีทีมแพทย์ประเมินอาการระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค และ 4. ทีมตอบสนองและประสานงาน มีหน้าที่ประสานขอเตียงจากโรงพยาบาลเป้าหมาย รวมทั้งโทร.เยี่ยมติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาในการพูดคุย จนกว่าจะเข้าใจตรงกัน ทางเจ้าหน้าที่จะไม่ถามคำ ตอบคำ แต่จะให้ความสำคัญกับทุกสายที่โทรเข้ามา โดยแต่ละวันมีประชาชนโทรเข้ามา 200-300 สาย“ในส่วนของการรักษา ได้ปรับมาตรการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์จาก 5 แสนเม็ด เป็น 2 ล้านเม็ด พร้อมปรับเกณฑ์ การใช้ยาให้เร็วขึ้น ทุกคนใน กระทรวงสาธารณสุข ทำสุดความสามารถในการแก้ไขวิกฤติ สถานการณ์ ณ ตอนนี้ ต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องประชาชนคนไทย ขอให้ตั้งการ์ดให้สูงที่สุดใส่ หน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการเดินทาง ทุกคนสามารถช่วยประเทศไทยได้” นายวัชรพงศ์ กล่าว